ศิริราช จี้รัฐปรับค่ามาตรฐานดัชนีสภาพอากาศ เพิ่มสีเตือนอันตราย คลอดนโยบายเหลื่อมเวลาเรียน-ไปทำงาน Work From Home เผยฝุ่นทำให้ปอดอักเสบ หากติดโควิดเสี่ยงรุนแรงขึ้น

วันนี้ (15 ธ.ค.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แถลงข่าวการรับมือฝุ่น PM 2.5

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณฝุ่น PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก มีค่าเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมงสูงติดต่อกัน จึงเป็นห่วงสุขภาพของประชาชนอาจเกิดผลกระทบทางสุขภาพได้ จึงเรียกร้องให้ผู้อำนาจในการตัดสินใจเร่งแก้ปัญหา ทั้งการเหลื่อมเวลาการทำงาน การเรียน การทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อลดการก่อมลพิษเพิ่ม และไม่ให้ได้รับผลจากมลพิษจากการต้องออกนอกบ้านไปส่งลูกหลานหรือไปทำงาน ทำให้เกิดสภาพการจราจรที่แออัด เพิ่มการเผาไหม้ของคาร์บอนไดออกไซด์ โดยพบว่า ช่วงเวลา 04.00 – 07.00 น. เป็นช่วงที่มีค่าฝุ่นละอองสูงมากที่สุด จึงอยากให้มีการงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงกิจกรรมวิ่งที่มักจัดในช่วงนี้

รศ.นพ นิธิพัฒน์ กล่าวว่า จากหลักฐานทางวิชาการ เชิงระบาดวิทยา มีการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของยุโรปและอเมริกา พบว่า ฝุ่น PM 2.5 มีผลสัมพันธ์ให้โควิด 19 รุนแรงขึ้น โดยพบว่า ฝุ่นที่มีขนาดเล็กจะเข้าไปทำลายระบบทางเดินทายหายใจและปอด ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย เปรียบได้กับคนสูบบุหรี่ทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพลง ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัยป้องกันจึงมีความจำเป็น โดยหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ป้องกันฝุ่นได้ร้อยละ 60 หน้ากากผ้าต้องแบบผสมกับเส้นใยสังเคราะห์ที่มีความยืดหยุ่น และแนบกับหน้าจะป้องกันได้ดีกว่าหน้ากากผ้าฝ้ายธรรมดา แต่ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากาก N95 เพราะสวมใส่ไม่ได้ตลอด เนื่องจากอึดอัด จึงเหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ และคนทำงานกลางแจ้งในช่วงเวลาสั้นๆ

รศ.นพ.พิธิพัฒน์กล่าวว่า หากสถานการณ์ฝุ่นยังรุนแรง ตามอาคารควรใช้เครื่องฟอกอากาศ บ้านเรือนประชาชนควรปิดประตูหน้าต่างจะช่วยป้องกันได้ร้อยละ 60 หากไม่มีเครื่องฟอกอากาศ แล้วเปิดพัดลมระบายอากาศควรใส่หน้ากากอนามัยด้วย เพราะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นได้ ซึ่งฝุ่นละอองขนาดเล็กส่งผลให้เกิดหัวใจวายเฉียบพลันได้ เพราะเมื่อเข้าไปในหลอดเลือดอาจทำให้เกิดการอุดตัน

“ขอเรียกร้องให้มีการปรับมาตรฐานดัชนีชี้วัดสภาพอากาศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยพิจารณาปรับลดเกณฑ์ชี้วัดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันกลุ่มคนเปราะบางและเพิ่มสีสัญญาณเตือนความรุนแรงของสภาพอากาศ ไม่จำกัดสูงสุดแค่สีแดง แต่ต้องเหมือนต่างประเทศ ที่มีทั้งสีม่วงและสีเลือดหมู อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนดูแอปพลิเคชันสภาพอากาศ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใจทำกิจกรรม ส่วนภาครัฐต้องมองดัชนีชี้วัดสภาพอากาศภาพรวม 24 ชั่วโมง เพื่อใช้ตัดสินหยุดเรียนหรือหยุดทำงานที่บ้าน” รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน