จากสัมภาษณ์ของ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม ที่เข้าใจผิดกฎหมายหมิ่นฯ อังกฤษ ชวนดู กรณีกฎหมายหมิ่นฯ ประเทศที่มีระบอบราชาธิปไตยใต้รธน.และ แนวทางการใช้ในทางปฏิบัติ

หลังจาก นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้ให้สัมภาษณ์กับ บีบีซี นายวรงค์ กล่าวว่า

“ผมเชื่อว่าการปกป้องสถาบัน ด้วยกฎหมายแบบนี้ มันเป็นหลักสากล ในทุก ๆ ประเทศ ที่มีประมุขแห่งรัฐ ที่เป็นพระมหากษัตริย์ ผมเชื่อว่าถ้าคนอังกฤษ ไปด่าองค์พระมหา(กษัตริย์) เอ้ย ควีนเอลิซาเบธ ด้วยภาษาแบบนี้ ผมว่าเขาคงติดคุกไปนานแล้ว”

BBC

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซี ที่ทำการสัมภาษณ์ จึงได้ตอบกลับไปในทันทีด้วยภาษาอังกฤษเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของ นายวรงค์ ว่า

“แต่นั่นไม่เป็นความจริง เพราะในประเทศอังกฤษ คุณสามารถทำได้ คุณสามารถพูดถึงราชินีในสิ่งที่คุณต้องการได้ และคุณจะไม่ติดคุก”

BBC

มีบางประเทศในโลกที่มีรูปแบบการเมืองการปกครองคล้ายกับประเทศไทย “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อย่างไรก็ตามหลายประเทศเหล่านี้มักมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยที่ก้าวไปไกลกว่าไทยอย่างมาก รวมถึงประเทศเหล่านี้มักเป็นชาติที่มีความมั่นคงทางการเมืองสูง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข เช่น ประเทศญี่ปุ่น เดนมาร์ก สเปน เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เป็นต้น

หลายประเทศในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ อาจมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม พบว่าจากกรณีที่เกิดขึ้นจริง หรือการใช้กฎหมายเหล่านี้ในทางปฏบัติ นับว่าแทบไม่เคยเกิดขึ้น หรือหากมีโทษก็ไม่ใช่โทษที่ร้ายแรงจนผิดสัดส่วนต่อความผิด

People.com

ญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น เกิดจาก สหรัฐอเมริกาช่วยร่างรัฐธรรมนูญให้ญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเปลี่ยนสถานะจาก “พระเจ้า” ในประเพณีความเชื่อแบบเดิมให้กลายเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ทำให้ การวิจารณ์ ตำหนิ ประท้วง และ ต่อต้าน สมเด็จพระจักรพรรดิ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น และขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านจักรพรรดิของญี่ปุ่นมีอยู่เสมอ นับตั้งแต่ที่ประเทศประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

ญี่ปุ่นใช้รัฐธรรมนูญฉบับนายพลแมคอาร์เธอร์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง คนสุดท้ายที่ถูกลงโทษฐานดูหมิ่นพระจักรพรรดิ เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นชื่อนายโชทาโร่ มัทซึชิมะ เนื่องจากเขาทำการรณรงค์ ต่อต้านการขาดแคลนอาหาร และกล่าวพาดพิงถึงระบบพระจักรพรรดิ จึงถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษทันที เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และตุลาการตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิมในอดีตนั้นพระจักรพรรดิทรงแต่งตั้ง ตุลาการจึงอาจถูกมองว่าอยู่ในข่ายเป็นปรปักษ์กับจำเลยในคดีนี้ จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา

ขณะที่ ตุลาการตามรัฐธรรมนูญฉบับนายพลแมคอาร์เธอร์นั้น ตุลาการไม่อาจถูกมองว่าเข้าข่ายเป็นปรปักษ์กับจำเลยได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐสภาญี่ปุ่นได้ตรากฎหมายบังคับให้มีตุลาการสามัญชนร่วมกับตุลาการอาชีพประกอบเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี โดยประชาชนมีสัดส่วนสูงกว่า ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้เป็นประชาธิปไตย

The Independent

สหราชอาณาจักร แม้ว่าสหราชอาณาจักรจะมีกฎหมายห้ามดูหมิ่นกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งยังไม่มีการยกเลิกกฎหมายดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน แต่กลับไม่เคยมีการฟ้องศาลให้ลงโทษผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือชาวต่างชาติ มาตั้งแต่พ.ศ.2258 ซึ่งนับว่าเป็นเวลามากกว่า 300 ปี แล้ว ซึ่งมีข้อสังเกตว่า เหตุที่กฎหมายนี้เป็นหมันไปโดยสมบูรณ์ อาจเป็นเพราะการใช้ระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี (common law) ตุลาการแห่งสหราชอาณาจักรจะใช้แนวทางพิพากษาคดีที่ผ่านมาเป็นที่มาของนิติธรรม ในทางตรงกันข้าม การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องส่วนพระองค์ของพระราชวงศ์ นับตั้งแต่แฟชั่นการแต่งกาย ไปจนถึงความประพฤติที่ไม่เหมาะสม กลับเป็นหนึ่งในประเด็นที่เป็นที่ชื่นชอบของสื่อและประชาชนอังกฤษมากที่สุดก็ว่าได้

Patrick van Katwijk

เดนมาร์ก สำหรับในเดนมาร์ก กษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ จะได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอาญามาตรา 267 ที่บัญญัติให้ผู้หมิ่นประมาทประมุขของประเทศ ต้องจำคุกไม่เกิน 4 เดือน รวมถึง มาตรา 115 มีการระบุว่า หากมีการหมิ่นประมาทกษัตริย์ ผู้สำเร็จราชการ หรือสมเด็จพระราชินี จะถูกเพิ่มโทษจำคุกเป็นไม่เกิน 6 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม ในประเทศเดนมาร์ก ก็ยังไม่เคยมีการฟ้องร้องด้วยข้อหาดังกล่าวเช่นกัน

People.com

เนเธอร์แลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ แทบจะไม่เคยมีการฟ้องร้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นอกจากในปี พ.ศ. 2550 มีชายสัญชาติเนเธอร์แลนด์คนหนึ่งถูกปรับเป็นเงิน 400 ยูโร หรือประมาณ 16,000 บาท เนื่องจากเขาใช้คำหยาบคายด่าทอสมเด็จพระราชินีเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์กับตำรวจ และ ปี พ.ศ.2559 ชาวดัตช์วัย 44 ปี “จงใจดูหมิ่น” กษัตริย์วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ โดยกล่าวหาว่ากษัตริย์เป็นฆาตกร ขโมย และข่มขืนผู้อื่น ศาลยุติธรรมของเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า เขาถูกตัดสินว่าฝ่าฝืนกฎหมายหมิ่นประมาทราชวงศ์ที่ไม่ค่อยมีการใช้ ซึ่งปกติแล้วไม่ค่อยมีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาเป็นเวลานาน

InStyle

สเปน ในปี พ.ศ.2560 นิตยสาร เอล คูเอเบส (El Jueves) ซึ่งนิตยสารดังกล่าวถูกจัดเป็นนิตยสารแนวเสียดสีการเมือง เคยถูกฟ้องร้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากได้มีการนำภาพวาดการ์ตูนเจ้าชายเฟลิเป้ มกุฎราชกุมารแห่งสเปน กำลังมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าหญิงเลติเซีย ซึ่งเป็นพระชายา ขึ้นบนปกนิตยสาร เพื่อล้อเลียนนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศจะจ่ายเงินให้กับคู่สมรสทุกคู่ที่มีบุตร โดยนิตยสารฉบับดังกล่าวถูกริบเก็บจากแผงร้านหนังสือทั่วประเทศ ขณะที่บรรณาธิการนิตยสารถูกตัดสินว่ามีความผิด และต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 3,000 ยูโร หรือ 120,000 บาท

จากกรณีข้างต้น จะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การฟ้องร้องประชาชนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มักไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในต่างประเทศ และหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น การลงโทษผู้กระทำผิดก็เป็นการดำเนินคดีอย่างเปิดเผย และอยู่ในลักษณะคดีหมิ่นประมาททั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการลงโทษก็เป็นเพียงการปรับ และยังไม่เคยมีการลงโทษถึงขั้นจำคุกเป็นเวลานาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน