กทม.เกาะติดสถานการณ์น้ำ คาด 19 ต.ค. นี้ ปริมาณมากถึง 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที 400 หลัง นอกเขื่อนกระทบแน่ อยุธยาวุ่น! คันกั้นน้ำหน้าวัดสนามไชยแตก น้ำจากแม่น้ำน้อยทะลักเข้าท่วมวัด บ้านชาวบ้าน ต้องขนของหนีน้ำวุ่น อ่างทองน้ำเจ้าพระยาทะลัก ท่วมตลาดป่าโมกกลางดึก กรมชลฯ เร่งระบายน้ำเข้าแก้มลิง รอรับมวลน้ำจากภาคเหนือ ยันปริมาณน้ำยังห่างปี”54 ตร.ไทรโยกหวิดดับ ตามจับคนร้ายในป่า ถูกน้ำป่าซัดรถจม

เมื่อวันที่ 11.ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ลุ่มภาคกลาง ซึ่งต้องรับมือกับน้ำจากเขื่อนใหญ่ทั้งเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ต่างเร่งระบายน้ำไว้รอรับน้ำจำนวนมากจากภาคเหนือและอีสาน

เมื่อเวลา 11.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ผบ.ทสส.เผยว่า ที่ประชุมได้หารือการเตรียมการสนับสนุนรัฐบาลโดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยได้เตรียมแผนช่วยเหลือ ตลอดจนการป้องกัน โดยให้นำประสบการณ์ที่ผ่านมามาปรับใช้ ดูจากสถิติการปล่อยน้ำในเขื่อน

“ยอมรับว่าเป็นห่วงฝนที่จะตกเพิ่มลงมาจะทำให้ประชาชนที่ประสบน้ำท่วมขยายวงกว้างเพิ่มไปอีก แต่เราได้เตรียมการป้องกันในเรื่องของกระสอบทรายและการโยกย้ายเครื่องมือหนักเพื่อเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าน้ำจะไม่ท่วมเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เนื่องจากเรามีการเตรียมการเป็นอย่างดี” ผบ.ทสส.กล่าว

ด้านพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าวที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2รอ.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีความห่วงใยและสั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกองทัพบก เตรียมกำลังพลลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะด้านท้ายเขื่อน ตนได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 และกองทัพภาคที่ 3 ไปเตรียมความพร้อมและส่งคนเข้าไปช่วยเพิ่มเติม ทั้งนี้ จากการที่ตนลงพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้คุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดว่าได้เตรียมพื้นที่รองรับน้ำเอาไว้ 7 พื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 6 แสนไร่ รองรับน้ำประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำในปีนี้ไม่ได้แตกต่างจากปริมาณน้ำในปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่การบริหารจัดการที่ผ่านมาทั้งกรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการได้ดี ประชาชนจึงได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งซึ่งไม่มากนัก คาดว่า 2 สัปดาห์ทุกอย่างจะคลี่คลาย

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำปริมาณมาก โดยการติดตามพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และทุก 6 ชั่วโมง กรมชลประทานต้องรายงานความคืบหน้าและสถานการณ์มายังตนโดยตรง โดยสั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์และตรวจสอบระบบชลประทานตลอดเวลา บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้วางแผนการจัดจราจรน้ำ โดยพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมประจำให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องมืออื่นเตรียมพร้อมไว้ด้วย และที่สำคัญคือ การ บูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานอื่นๆ

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมน้ำสูงสุด จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม กิ่วคอหมา แควน้อยบำรุงแดน ห้วยหลวง น้ำอูน น้ำพุง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ บางพระ ป่าสักชลสิทธิ์ ทับเสลา และกระเสียว ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ระหว่าง 80-100% จำนวน 168 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักมากกว่า 100% จำนวน 167 แห่ง และเต็มความจุ 100% จำนวน 100 แห่ง

สำหรับสถานการณ์น้ำในภาคอีสาน หลังจากฝนตกหนักระหว่างวันที่ 9-11 ต.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อ่างขนาดใหญ่เต็มความจุแล้วประมาณ 2-3 แห่ง และอีกประมาณ 2 แห่งน่าจะเต็มเร็วๆ นี้ ส่วนภาคเหนือบริเวณจังหวัดลำปางมีน้ำเต็มอ่างแล้ว 2-3 แห่ง ส่วนเขื่อนภูมิพลมีความจุประมาณ 66% จึงสามารถดักน้ำที่ไหลจากภาคเหนือได้หมด กรมจึงได้ประสานไปยังฝ่ายปกครอง และประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบ เนื่องจากต้องเร่งพร่องน้ำรองรับปริมาณน้ำฝนที่อาจเกิดขึ้น

“ปีนี้ปริมาณน้ำไม่ได้มากเท่าปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจ.นครสวรรค์ สูงถึง 4,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ปีนี้ปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่เกิดจากน้ำฝนในพื้นที่ ไม่ได้เกิดจากน้ำหลากเข้าท่วม ซึ่งกรมจะพยายามรักษาปริมาณน้ำให้อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง สัปดาห์นี้กรมจะพยายามเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่อาจเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า รวมทั้งปริมาณน้ำทะเลที่หนุนสูง โดยระบายน้ำผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลโดยตรง นอกจากนี้ จะระบายเข้าพื้นที่แก้มลิงอีก 2 แห่งที่ยังระบายน้ำเข้าไปไม่เต็ม โดยยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 400 ล้านลบ.ม.” นายสมเกียรติกล่าว

ที่จ.ลพบุรี ชาวบ้านดอนมะกัก หมู่ที่ 4 ต.เขาพระงาม อ.เมืองลพบุรี กว่า 200 ครัวเรือนต่างรีบขนย้ายสิ่งของหนีน้ำกันจ้าละหวั่น หลังมีมวลน้ำหลากมาจากอ.บ้านหมี่ เข้าท่วมพื้นที่บางจุดระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร ชาวบ้านเล่าว่าน้ำเข้ามาเมื่อช่วงสายของวันนี้ โดยมีระดับเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 5 ซ.ม. ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำบนถนนอยู่ที่ 65 ซ.ม.ในบ้านที่เป็นแอ่งกระทะระดับน้ำสูงถึง 2 เมตรเศษ เรือกสวน ไร่นา บ่อปลา บ่อกบ หลายร้อยไร่ต้องจมหายไปกับสายน้ำ ขณะเดียวกัน น้ำระลอกใหม่ที่เกิดจากฝนตกลงมาเพิ่ม ได้เพิ่มจำนวนสูงขึ้น รถเล็ก-ใหญ่ไม่สามารถสัญจรในหมู่บ้านได้ ล่าสุดทางเทศบาลตำบลเขาพระงามได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และได้จัดเตรียมที่พักชั่วคราว โรงครัว สุขาเคลื่อนที่ ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้แล้ว

ขณะที่บริเวณตลาดเทศบาลป่าโมก จ.อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาล้นทะลักเข้าท่วมทางเข้าและพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียนอนุบาลวงศ์สวัสดิ์วิทยา ถนนและร้านค้าได้รับความเสียหาย นางเสงี่ยม เจริญใจ อายุ 62 ปี เจ้าของร้านชำกล่าวว่า น้ำเข้าท่วมอย่างรวดเร็วเมื่อตอนตีสอง เก็บข้าวของแทบไม่ทัน โดยน้ำที่ไหลเข้ามาเป็นน้ำทะลุผ่านรอยต่อระหว่างคันดิน และไหลผ่านตามช่องปูนเข้ามา

ส่วนสถานการณ์น้ำในจังหวัดอ่างทองในวันนี้ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองสูงอยู่ที่ 8.51 เมตร/ระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 0.13 เมตร/รทก. สูงกว่าระดับเตือนภัยที่ 1.58 เมตร/รทก. ต่ำกว่าระดับวิกฤตที่ 0.15 เมตร/รทก. ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดอ่างทองที่ 2,310 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 215 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ทางเขื่อนเจ้าพระยาระบายที่ 2,386 ลบ.ม./วินาที ในภาพรวมของจังหวัดได้รับผล กระทบทั้งสิ้น 5 อำเภอ มีบ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 5 อำเภอ (1 ชุมชน 27 ตำบล 75 หมู่บ้าน) จำนวน 1,636 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจำนวน 3,595 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 378 ราย

เมื่อเวลา 17.30 น. วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดสนามไชย ม.10 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา คันกั้นน้ำที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำน้อยเกิดพังลงมา ความกว้างประมาณ 1 เมตร ทำให้น้ำเข้าท่วมวัดสนามไชยและบ้านเรือนประชาชน พระสงฆ์และชาวบ้านต่างเร่งช่วยกันขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงเป็นการด่วน ซึ่งคันกั้นน้ำดังกล่าวทางอบต.บ้านป้อมใช้กระสอบทรายกั้นเอาไว้ นายอภิชาต สุขสมบูรณ์ นายกอบต.บ้านป้อม เผยว่า สาเหตุเกิดจากเรือบรรทุกทรายวิ่งผ่าน จนคลื่นซัดมาที่คันกั้นน้ำ ขณะนี้ทางอบต.พร้อมหน่วยกู้ภัยอยุธยาอยู่ระหว่างทำการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

วันเดียวกันเกิดเหตุระทึกขึ้นในพื้นที่อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี โดยพ.ต.อ.ธานี สงวนจีน ผกก.สภ.ไทรโยค เผยว่า วันนี้ชุดสืบสวนสภ.โทรโยค นำโดยพ.ต.ท.สนธยา ฉายเกียรติขจร สว.สส. นำกำลังติดตามจับกุมตัวนายอุดม เฆมสำลี อายุ 37 ปี ผู้ต้องหาฆ่านายปัญญา เสริมสุข อายุ 46 ปี ซึ่งเป็นพี่เขยเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยสามารถจับกุมตัวนายอุดมได้บริเวณกลางป่าวังใหญ่-แม่น้ำน้อย ม.5 ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จึงควบคุมตัวผู้ต้องหาเดินทางกลับสภ.ไทรโยค แต่ขณะรถของเจ้าหน้าที่ขับผ่านลำห้วยวายอ จู่ๆ เกิดน้ำป่าพัดลงมาอย่างแรง ชั่วครู่เดียวระดับน้ำท่วมสูงจนเกือบมิดกระบะทำให้เครื่องยนต์ดับคาอยู่กลางลำห้วย เจ้าหน้าเห็นท่าไม่ดีจึงกระโดดลงน้ำนำผู้ต้องหาว่ายเข้าฝั่ง จนรอดจากการถูกกระแสน้ำพัดไปได้อย่างหวุดหวิด ต่อมาจึงวิทยุขอกำลังสนับสนุนเข้าไปพาตัวทั้งหมดออกมาจากป่าด้วยความปลอดภัย

กรมอุทกศาสตร์ ออกประกาศเรื่อง สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ และพื้นที่ใกล้เคียงในระหว่างวันที่ 7-11 ต.ค. ระหว่างเวลาประมาณ 07.00-11.00 น. และ 18.00-21.00 น. ฉบับที่ 10 โดยระบุว่า วันที่ 1-11 ต.ค. เวลาประมาณ 07.00-11.00 น. และ 18.00-21.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำเหนือไหลมาในปริมาณมาก ลักษณะดังกล่าวอาจทำให้ระดับแม่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงกว่าปกติ ซึ่งคาดหมายว่าปริมาณน้ำหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ และพื้นที่ใกล้เคียง ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.70-1.85 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงขอให้ระมัดระวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระดับน้ำดังกล่าว และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าน้ำวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี น้ำขึ้นสูงจนประชาชนที่ใช้บริการต่างได้รับผลกระทบเดินทางได้อย่างลำบาก

ขณะที่นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ตามที่ กทม.ได้ประสานงานร่วมกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถระบายน้ำได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที จากเดิม 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยกทม.คาดว่าปริมาณน้ำจะสูงถึง 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ เนื่องจากเร่งระบายน้ำจากภาคเหนือ ทำให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมากขึ้น ซึ่งกรมชลฯ ก็มีแผนในการผลักดันน้ำไปยังภาคตะวันออกและบางส่วนของภาคตะวันตก ทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่าน จ.พระนคร ศรีอยุธยา และอาจทำให้พื้นที่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับผลกระทบบางส่วน แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ ยกเว้นชุมชนที่อาศัยอยู่นอกแนวป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 400 ครัวเรือน เรียกได้ว่าเป็นการติดตามชั่วโมงต่อชั่วโมง เพื่อติดตามผลกระทบจากอิทธิผลการปล่อยน้ำและสถานการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง รวมถึงน้ำเหนือด้วย

นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า ฝนที่ตกลงมาในช่วง 1-2 วันนี้ อาจทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากกทม.ได้มีแผนบริหารจัดการน้ำฝนปิดล้อมปริมาณน้ำทั้งหมด โดยการลำเลียงปริมาณน้ำฝนในระบบลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่รอบนอก ซึ่งกทม. ก็พยายามเร่งระบายน้ำส่วนนี้ให้แห้งเป็นปกติภายใน 1-2 ชั่วโมงหรือตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ส่วนในกรณีของน้ำเหนือและน้ำหนุนนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวัง แต่มั่นใจว่ารับมือได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 08.30 น. วันที่ 12 ตุลาคมนี้ พล.ต.อ.อัศวินพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลงเรือบริเวณท่าเรือกองการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬาและ การท่องเที่ยง หรือบริเวณใต้สะพานสมเด็จ พระปิ่นเกล้า เพื่อตรวจความเรียบร้อยตามแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาและเยี่ยมชุมชนที่อาศัยอยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน