สาวอยุธยาขับกระบะลุยน้ำท่วม ไม่เห็นถนน พุ่งตกทุ่งนาจมน้ำดับสลด นครปฐมเตือนรับมือน้ำ สุพรรณบุรีระดมสูบน้ำ ‘อัศวิน’โพสต์เตรียมรับมือฝน กทม.โต้จัดการน้ำไม่ดี ย้ำมีแผนรับมือระยะยาว น้ำป่าพัดรถ หน.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก จมขณะข้ามลำห้วย เจ้าตัวถูกน้ำซัดจม พบศพติดกิ่งไม้ห่างไป 3 ก.ม. เตือนเขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำสูงสุด ‘บิ๊กตู่’ ย้ำดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วม 1 เดือนสรุปแนวทางขุดคลองผันน้ำอ้อมกรุง ขณะที่อุตุฯคาดฝนทั่วปท.เริ่มลดลง

‘บิ๊กตู่’ย้ำดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วม

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 17 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบันมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นในช่วงที่น้ำล้นตลิ่ง ตนเรียนแล้วว่ามีผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ริมน้ำแน่นอน รัฐบาลต้องดูแลคนเหล่านี้ ถ้าไม่ทำน้ำจะเพิ่มขึ้นและจะล้นคันกั้นน้ำ จะมีผลกระทบทั้งกรุงเทพฯและที่อื่นด้วย

ใครที่เดือดร้อนรัฐบาลจะดูแล วันนี้รัฐบาลมีแผนงานที่เสนอพิจารณาในเรื่องการตัดตอนน้ำในภาคเหนือ ทำเส้นทางรับน้ำในตะวันตก ตะวันออก ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มีการศึกษารายละเอียดมานานพอสมควรแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน การใช้งบประมาณในการเยียวยา ซึ่งใช้งบประมาณสูง

รัฐบาลทำทุกอย่างที่ผ่านมา ทั้งการเก็บกักน้ำ การระบายน้ำ การส่งน้ำ โดยใช้งบประมาณ รายจ่ายประจำปีให้ได้มากที่สุด เพราะการใช้งบประมาณจำนวนสูงๆ หลายหมื่นหลายแสนล้านจะต้องใคร่ครวญให้ดี ไม่ใช่รัฐบาลไม่คิดอะไรเลย ตนมีแผนมากมายที่จะต้องทำในแผนการบริหารจัดการน้ำของคสช. ของรัฐบาล มีแผนยุทธศาสตร์ชัดเจน ไม่มีอะไรที่ทำเร็วและได้เลยทันที เพราะหมักหมมมายาวนาน ต้องแก้ไป

รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ทั้งเรื่องการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัย ไม่มีทางที่ประเทศไทยจะไม่มีน้ำขังท่วม จะไม่มีน้ำที่รอการระบาย มันเป็นไปไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้รื้อระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องผังเมือง เรื่องระบบท่อ เรื่องระบบระบายน้ำ เรื่องขยะอุดตันก็แก้กันมาตลอด ต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนร่วมมือ

ส่วนน้ำท่วมขังในกทม. ตนสั่งการแต่มันขึ้นอยู่กับว่าน้ำลงมาเท่าไหร่ มันระบายได้เท่าไหร่ และมันค้างอยู่เท่าไหร่ จะระบายออกได้เร็วหรือไม่ อย่าหาจำเลยกันมากนักเลย ยังไงมันก็มีแต่จำเลย ไม่มีคนทำเท่าไหร่หรอกที่จะทำให้ดีขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ตนไม่อยากจะย้อนกลับไปกลับมา

1 เดือนสรุปแก้น้ำท่วมกรุง

ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุมครม.ได้มีการรายงานให้ทราบถึงข้อท้วงติงหลังจากที่ประชุมได้อนุมัติโครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล – บางไทร ว่าทำแล้วจะได้ผลจริงหรือไม่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จึงรับไปสรุปข้อมูลประเด็นข้อสังเกตและข้อห่วงใยในทุกด้านมาพิจารณาให้ละเอียดภายใน 1 เดือน หากทุกอย่างลงตัวจะสามารถสร้างได้ในปี 2562

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแผนในการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถระบายน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น 2-3 วิธี ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัยก็ได้รับไปศึกษาให้รอบด้านเช่นกัน เพราะลำน้ำเจ้าพระยาบางตอนคดเคี้ยวกว่าน้ำจะไหลลงมาด้วยความเร็วของน้ำ และด้วยปริมาณน้ำที่มากจะทำให้น้ำเอ่อท่วม 2 ฝั่ง จึงได้ทำโครงการ คือโครงการที่ 1.ทำคลองที่ลัดเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยให้เร็วขึ้น โดยอ้อมทางด้านฝั่งตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิ คือ คลองระบายน้ำควบคู่ถนนวงแหวนรอบที่ 3 ระบายน้ำได้สูงสุด 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

โครงการที่ 2.คลองเชื่อมเพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำป่าสัก ลงสู่อ่าวไทย ระบายสูงสุด 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และโครงการที่ 3.ทำอุโมงค์ 3 แห่ง ที่ภาษีเจริญ และราชมนตรี โดยใช้เวลาทั้งหมดภายศึกษาให้เสร็จภายใน 1 เดือน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.อยากให้ทุกภาคส่วนเปิดใจและมาพูดคุยกัน รัฐบาลไม่ได้ตั้งธงสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ จะคิดแค่เพียงผลกระทบสิ่งแวดล้อมในมิติเดียวไม่ได้

ห่วงน้ำเต็มเขื่อนอุบลรัตน์

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการหารือวงเล็กเรื่องสถานการณ์น้ำเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้สั่งการให้ส่วนเกี่ยวข้องไปดูที่ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูน และเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งมีน้ำเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ยังน่าเป็นห่วงอยู่ ถ้าล้นมาก็เป็นปัญหา ไม่ใช่ว่ารัฐบาลบริหารไม่ได้ เพราะมันเกินขนาด ที่ผ่านมามีการระบายล่วงหน้ามาแล้ว และเราไม่สามารถระบายมากได้ เพราะจะท่วมข้างล่างนี่คือปัญหา ต้องรอให้ถึงเวลาเหมาะสม ถ้าไม่ไหวแล้วจึงจะระบาย

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคนที่จะได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นยันปลาย ถ้าไม่สนใจอะไรก็ปล่อยมาตลอด และจะท่วมข้างล่าง ข้างบนไม่ท่วม แต่เราต้องดูคนทุกภาคส่วนทั้งหมด ในอนาคตเราต้องบริหารน้ำด้านตะวันออก ระบายจากแม่น้ำป่าสักมาอ่าวไทยอีกเส้นทางหนึ่ง ปัญหาคือกำลังศึกษาอยู่ว่าทำได้ไหม ร้อยกว่ากิโลเมตร

ในด้านตะวันตกต้องไปดูการเชื่อมต่ออุโมงค์ระบายน้ำระหว่างคลอง โดยเฉพาะคลองไส้ไก่ที่จะออกแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งมีโค้งอยู่สามสี่โค้ง ต้องทำอุโมงค์และใช้งบประมาณ หลายหมื่นล้าน และคลองในด้านตะวันออกที่ผ่านจากแม่น้ำป่าสักลงมายังแม่น้ำตะวันตกมาลงอ่าวไทย บางส่วนผ่านพื้นที่เกษตรกร ผ่านที่อยู่อาศัยที่ขวางทางน้ำนั่นคือปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไข ขอให้เข้าใจวิธีการทำงานด้วย ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำ เพราะทุกอย่างไม่เป็นไปตามผังเมืองที่ผ่านมา ตนไม่ได้ว่าใคร แต่จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้น และเราต้องร่วมมือกัน

มท.1 สรุปสถานการณ์น้ำ

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า ในส่วนภูมิภาคเหลือพื้นที่ขอนแก่นบางอำเภอที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ เพราะปริมาณน้ำเกินขีดมาตรฐาน ส่วนพื้นที่อื่นๆ ได้มีการเสริมความมั่นคงและแนวทางป้องกันไว้แล้ว ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่แม่น้ำชีไม่มีปัญหา ขณะที่แม่น้ำมูนปริมาณน้ำยังน้อยอยู่ ดังนั้น พื้นที่ปลายทางน่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบ

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนชัยนาท เหนือเขื่อนปริมาณน้ำไม่น่ามีปัญหาเพราะกรมชลประทาน สามารถบริหารจัดการได้ จึงไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำเหนือเขื่อนในกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ทราบว่า กทม.ได้เตรียมการระบายน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว

สำหรับเรื่องการบริหารจัดการน้ำมีกรม ปภ. เป็นผู้ดูแล โดยส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ทำ งานตลอดเวลา ประมวลสถานการณ์ฝนและน้ำ รวมถึงติดตามระบบการระบายน้ำเพื่อเตรียม รับมือกับฝนที่จะตกลงมา 1-2 วันนี้ ซึ่งคาดว่าจะไม่เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชน

เมื่อถามว่าหากปริมาณฝนมีมากเขื่อนยังสามารถรับน้ำได้หรือไม่ เนื่องจากมีกระแสข่าวเรื่องน้ำล้นเขื่อน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่มีปัญหา จากสถานการณ์การพยากรณ์เรื่องฝนก็เห็นว่ามีปริมาณไม่มาก นอกจากนี้เรายังมีทุ่งรับน้ำอีก 12 ทุ่ง ซึ่งมีความจุอีก 12 เปอร์เซ็นต์ ยังคงรับน้ำได้โดยไม่รับผลกระทบ

น้ำป่าพัดรถจนท.ป่าไม้จมดับ

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ว่า เมื่อ 05.00 น.ของวันนี้ เกิดเหตุน้ำป่าซัดรถกระบะ ทะเบียน บล 2132 พิษณุโลก ซึ่งมีนายสุดจิตร์ ค้อทอง อายุ 54 ปี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง ต.ปากช่อง อ.หล่มสัก เป็นคนขับหายไปกับกระแสน้ำ ไม่ทราบชะตากรรม

จากการสอบถามคนใกล้ชิดทราบว่า ขณะเกิดเหตุนายสุดจิตร์ขับรถออกจากหน่วย เพื่อไปประชุมที่ จ.พิษณุโลก แต่ขณะกำลังขับรถข้ามลำห้วยมีน้ำป่าไหลหลากลงมาเนื่องจากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา กระแสน้ำพัดรถตกลงไปในคลองจมมิดเกือบทั้งคัน เจ้าหน้าที่ช่วยกันนำรถมาจุดที่น้ำตื้นแต่ไม่พบร่าง ของนายสุดจิตร์

กระทั่งเวลาราว 09.30 น. วันเดียวกัน ทางเจ้าหน้าที่ทีมค้นหาก็ได้พบศพลอยไปติดโขดหินและต้นไม้ในลำห้วย ห่างจากจุดที่พบรถยนต์ราว 3 ก.ม.

เขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำสูงสุด

นายภูวดล หงส์กาญจนกุล นายช่างชลประทานชำนาญการ เขื่อนหนองหวาย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น พร้อมด้วยคณะกรรม การบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น ออกสำรวจปริมาณน้ำในแม่น้ำพอง พร้อมกับนำชาวบ้านบรรจุกระสอบทรายนำไปปิดกั้นพื้นที่ลุ่มภายในหมู่บ้าน เนื่องจากขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณ 2,878 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 118 ของความจุอ่าง จึงได้เพิ่มการระบายน้ำออกจากตัวเขื่อนเป็น 54 ล้าน ลบ.ม. ประกอบกับตลอดทั้งคืนที่ผ่านมามีฝนตกลงมาอย่างหนัก ปริมาณน้ำได้เพิ่มระดับขึ้นในแม่น้ำพองและบางส่วนได้ไหลลงมาเพิ่มในอ่างเก็บน้ำอีก

นายภูวดลกล่าวว่า ตลอดทั้งวันในวันนี้ ผวจ.ขอนแก่นสั่งให้นำกระสอบทรายขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแบ๊ก มาปิดบริเวณปากห้วยใหญ่ ซึ่งเป็นลำห้วยติดกับแม่น้ำพอง เพื่อไม่ให้น้ำ พองไหลเข้ามาในลำห้วย เพราะหากน้ำพองไหลมาตามลำห้วยก็จะไปถึงพุทธมณฑลอีสาน บ้านเต่านอ ต.ศิลา และอาจท่วมหลายหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น ได้

อุตุฯคาดฝนเริ่มลดลง

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศ ในช่วงวันที่ 17-18 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบน และประเทศลาวแล้ว สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 19-23 ต.ค. บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน และประเทศลาวจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ สำหรับร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ส่วนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนลดลง เว้นแต่ภาคใต้ และภาคตะวันออกจะมีฝนตกหนักบางแห่ง

‘อัศวิน’โพสต์เตรียมรับมือฝน

ด้านพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “ในช่วงบ่ายถึงค่ำวันนี้ครับ (17 ต.ค.) กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ปกคลุมร้อยละ 60 ของพื้นที่ครับ และคาดการณ์ว่าจะตกหนักได้ในหลายพื้นที่เช่นเดียวกับเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ขอให้พี่น้องประชาชนวางแผนการเดินทางและเตรียมอุปกรณ์ป้องกันฝนด้วยนะครับ”

“ส่วนกทม.ได้เตรียมพร้อมรับมือโดยพร่องน้ำในคลองทุกสายให้มีระดับต่ำสุด เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำ เตรียมพร้อมสถานีสูบน้ำและเครื่องสูบน้ำในการช่วยระบายน้ำ พร้อมทั้งแจ้งไปยัง 50 สำนักงานเขตในการเตรียมพร้อมการรับมือ เฝ้าระวังจุดอ่อนน้ำท่วมขัง และลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชน”

“และแม้ว่าในวันเดียวกันนี้เป็นวันที่ฐานน้ำทะเลหนุนสูงสุด 1.15 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีการระบายน้ำในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมากกว่า 2,500 ลูกบากศก์เมตรต่อวินาที แต่ไม่น่าห่วงครับ เพราะแนวป้องกันน้ำท่วมของกทม.สามารถรับมือได้ที่ระดับ 2.5-3.0 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ห่วงแต่สภาพฟ้าฝนที่จะเกิดขึ้น เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ท่อระบายน้ำของกทม. สามารถรับน้ำได้เพียง 60 มิลลิเมตร ซึ่งถ้าฝนตกหนักจำเป็นต้องรอการระบาย ดังนั้น จึงต้องเพิ่มพื้นที่รับน้ำและเปิดทางน้ำให้ไหลสะดวกครับ”

กทม.โต้จัดการน้ำไม่ดี

ที่ศาลาว่าการกทม. นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกทม. มอบหมายให้ นายณรงค์ เรืองศรี รองผอ.สำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. ชี้แจง กรณีที่นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ วันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการบูรณาการและวางแผนจัด การน้ำท่วมทั้งระบบทั้งการวางผังเมือง ระบบเตือนภัย การหาพื้นที่แก้มลิงและประชาชนต้องปรับตัว

นายณรงค์กล่าวว่า กทม.ได้บูรณาการการทำงานและวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ทั้งน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน และน้ำฝน ซึ่งได้ประสานงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยการบริหารจัดการน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน กทม.ได้ประสานกรมชลประทานเพื่อให้ระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบน เมื่อผ่านกรุงเทพฯ ไม่ให้เกิน 3,000-3,500 ลบ.ม./วินาที

อีกทั้งประสานงานกรมอุทกศาสตร์ติดตามสถานการณ์และคาดการณ์น้ำทะเลหนุนสูงไปในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ยังได้บูรณาการประสานการทำงานร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาติดตามและคาดการณ์สถานการณ์ฝนที่จะตกในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อร่วมกับจังหวัดปริมณฑล ซึ่งได้มีการประชุมซักซ้อมกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา และลงพื้นที่ทำกิจกรรมขุดลอกคูคลองเปิดทางน้ำไหลร่วมกันในพื้นที่รอยต่อจังหวัด

ย้ำมีแผนรับมือระยะยาว

กทม.ได้วางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว โดยบังคับใช้กฎหมายผังเมืองรวมฉบับปรับปรุง พ.ศ.2556 ซึ่งมีการกำหนดการใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพเมืองที่ขยายตัวขึ้น พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่แก้มลิงเพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำ โดยปัจจุบันในกรุงเทพฯ มีแก้มลิง 26 แห่ง กักเก็บน้ำได้ 13 ล้าน ลบ.ม. และยังมีการพยายามหาพื้นที่แก้มลิงเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นที่ระบุว่า คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ IPCC พยากรณ์ว่าอีกประมาณ 30 ปี ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นอีก 50 ซ.ม. และอีก 80 ปี จะสูงขึ้นอีก 1 เมตร ส่งผลให้กรุงเทพฯ ต้องมีน้ำท่วมอย่างถาวร ซึ่งในต่างประเทศได้มีการวางแผนเตรียมรับมือไว้แล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนรองรับเรื่องดังกล่าวนั้น นายณรงค์กล่าวว่า กรณีดังกล่าว กทม.ไม่ได้ละเลยหรือนิ่งนอนใจ ได้มีการเตรียมการรองรับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารโลก ในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาไทย (บริษัท ปัญญา คอนซัลเตนท์ จำกัด) ให้เป็นที่ปรึกษาทำการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแนวทางการปรับตัว เพื่อเตรียมรับผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร

เริ่มศึกษาเมื่อเดือนมี.ค. 2551 ผลการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อ เม.ย.2552 ซึ่งตามรายงานผลการศึกษาได้มีการศึกษาคาดการณ์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอีก 42 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2551-2593) โดยได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2593 ระดับน้ำทะเลสูงจะสูงขึ้นประมาณ 32.3 ซ.ม. ซึ่งเกิดจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 12.3 ซ.ม. รวมกับการทรุดตัวของพื้นดิน 20 ซ.ม.

เสริมพนังกั้นน้ำได้อีก

รองผอ.สนน.กล่าวต่อว่า กทม.จึงวางแผนเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมเนื่องจากสภาวะโลกร้อน โดยได้มีการดำเนินการ ดังนี้ ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อป้องกันน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนและจากน้ำทะเลหนุนสูง

โดยก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรริมแม่น้ำเจ้าพระยาไปแล้ว ยาวประมาณ 77 ก.ม. ซึ่งเมื่อปี 2555 ได้มีการเพิ่มความสูงของคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 50 ซ.ม. มีความสูงของกำแพงกั้นน้ำที่ระดับ +2.50 ถึง 3.50 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และหากเกิดปัญหาน้ำทะเลสูงขึ้นก็จะสามารถเพิ่มความสูงขึ้นได้อีก 0.50 – 1.00 เมตร

สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนนั้น นายณรงค์กล่าวว่า กทม.จะก่อสร้างรอดักตะกอน (Groins) โดยใช้หินทิ้ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าจะได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างภายในปีนี้และเริ่มก่อสร้างปี 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จ 2564

ในปี พ.ศ. 2553 – 2555 กทม.ได้ปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น เป็นมาตรการชั่วคราวเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่มีการก่อสร้างรอดักตะกอน และจะปลูกป่าไม้ชายเลนเพิ่มเติม หลังจากก่อสร้างรอดักตะกอนแล้วเสร็จต่อไป

สำหรับแนวทางการป้องกันแผ่นดินทรุด มีการควบคุมการใช้น้ำบาดาลและศึกษาตรวจสอบการเกิดแผ่นดินทรุดอย่างใกล้ชิดและมีการพิจารณาทบทวนผังเมืองรวมและการใช้ที่ดิน และได้มีการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ เช่น จัดให้มีระบบพยากรณ์และเตือนภัยด้วย

‘ศรีสุวรรณ’ฉะยับ‘อัศวิน’

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลง การณ์ของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ท้าทายให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ออกคำสั่ง คสช.ที่ 64/2559 แต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. มาลงสมัครรับเลือกตั้ง ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน สร้างความเชื่อมั่นแก่ข้าราชการกรุงเทพมหานคร และประชาชนอย่างไร

นอกจากผลงานชิ้นโบแดง คือ การไล่พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่-แผงลอยตามฟุตปาธ และการตัดต้นไม้ทิ้งบริเวณสวนป้อมพระกาฬเท่านั้น

ผลงานคืนวันที่ 13 ถึงเช้าวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพฯอย่างกว้างขวางมากถึง 55 จุด ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนด้านการจราจรอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวินมีระยะเวลาเพียงพอที่จะเตรียมการในเรื่องของการ “ป้องกันน้ำท่วม” การขุดลอกท่อระบายน้ำ การขุดลอกคูคลอง

เมื่อมีเสียงตำหนิจากประชาชน กลับออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “คนที่ทำมักจะไม่พูด แต่คนที่ชอบพูดมักทำไม่เป็น” และยังคุยอีกว่า “ตนยังไม่สมัคร (รับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.) ประชาชนยังเลือกตนเลย” อยากถามแทนคนกรุงเทพฯ ว่าประชาชน ที่ไหนต้องการ หรือเลือกพล.ต.อ. อัศวินมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. และคิดว่าคน กทม.ชอบมาก ขอให้ลาออกจากผู้ว่าฯ กทม. มาลงเลือกตั้ง หลังงานพระราชพิธีเสร็จ คนทั้งประเทศจะได้รู้ว่าใครของจริง ใครของปลอม

นครปฐมเตือนรับมือน้ำ

นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.นครปฐม เผยว่า จากสถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีนขณะนี้พบว่าปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับเป็นช่วงน้ำทะเลหนุน และฝนตกชุก ซึ่งจะส่งผล กระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่ อ.บางเลน อ.สามพราน และ อ.นครชัยศรี อาจเกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง น้ำไหลหลากในพื้นที่ลุ่มต่ำ และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ ในช่วงวันที่ 15-31 ต.ค. จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวติด ตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงดังกล่าว

นอกจากนี้ได้มอบหมายให้อำเภอแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบความแข็งแรงของแนวคันกั้นน้ำและความพร้อมระบบการระบายน้ำ อาทิ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ และเส้นทางระบายน้ำ รวมทั้งให้รายงานสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นให้จังหวัดทราบทันที

อยุธยากระบะตกน้ำดับ 1

เมื่อเวลา 08.00 น. ร.ต.อ.สุนทร วงษศร รอง สว.สอบสวน สภ.บางบาล จ.พระนคร ศรีอยุธยา รับแจ้งมีอุบัติเหตุรถกระบะตกลงไปในน้ำมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่เกิดเหตุบริเวณ ม.1 ต.วัดยม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา จึงรุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมด้วยสมาคม อยุธยารวมใจ ที่เกิดเหตุพบรถกระบะโตโยต้า ไทเกอร์ สีทอง ทะเบียน บย 5684 พระนครศรี อยุธยา ตกลงไปในน้ำกลางทุ่งนาที่ถูกน้ำท่วมทั้งคันเหลือแต่ท้ายรถ ที่กระจกด้านคนขับมีรอยถูกทุบเพื่อนำศพนางดารุณี สืบสายเกิด อายุ 54 ปี และสุนัขพันธุ์ไทยอีก 1 ตัว ออกจากตัวรถ

สอบถามนายสวงศ เทียนทอง อายุ 57 ปี แฟนของผู้ตาย เล่าว่า ผู้ตายขับรถออกมาจากบ้านเมื่อเวลา 07.00 น. เพื่อไปเติมน้ำมันและได้นำสุนัขขึ้นรถไปด้วย ตนมาทราบอีกทีก็มีชาวบ้านมาตะโกนบอกที่บ้านว่าแฟนของตนขับรถตกลงไปในน้ำเสียชีวิตแล้ว ตนจึงรีบออกมาดู ก็พบว่าชาวบ้านและกู้ภัยได้ชาวกันทุบกระจกเพื่อนำแฟนของตนและสุนัขออกมาจากรถ

ชาวบ้านเล่าว่าได้ยินเสียงสุนัขร้องออกมาจากในรถเมื่อลงไปดูก็พบว่าในรถมีคนติดอยู่ จึงช่วยกันนำออกมาก็พบว่าเสียชีวิตแล้ว คาดว่าเจ้าตัวไม่ทันเห็นว่าเป็นทุ่งนาเนื่องจากน้ำท่วมจึงพลัดตกลงไป

อยุธยาย้ายนอนริมถนน

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า สถานการณ์น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ขณะนี้ ระดับน้ำยังคงท่วมสูงกว่า 2 เมตร และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะบริเวณ ต.หัวเวียง ในบางพื้นที่ระดับน้ำสูงถึง 5 เมตร โดยในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา พบว่าระดับน้ำเริ่มคงที่ แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้เนื่องจากยังมีมวลน้ำจากทางภาคเหนือยังคงไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง

ในพื้นที่ดังกล่าวเปรียบเสมือนพื้นที่รับน้ำ เนื่องเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ระหว่างมีแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ขณะเดียวกัน ยังพบว่า ชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถอาศัยในบ้านของตัวเอง พากันขนข้าวของมาอาศัยอยู่ริมถนนสายป่าโมก-อยุธยา (ถ.สายใน) และต้องใช้เรือเป็นยานพาหนะในการเดินทางเข้าบ้านพัก และยังมีอีกบางส่วนที่ไม่ยอมหนีไปไหนยังคงอาศัยอยู่ภายในบ้าน

ด้าน นายสมนึก สุวรรณหงษ์ อายุ 45 ปี ผญบ.บ้านใหญ่ ม.5 ต.หัวเวียง กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ ใกล้เคียงกับปี 54 โดยปกติน้ำจะมาช่วงเดือน ส.ค. แต่ปีนี้มาเร็วกว่าปกติ คือน้ำมาตอนเดือน ก.ค. และท่วมสูงแบบนี้มาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 4 เดือน ซึ่งในอ.เสนา มีทั้งหมด 16 ตำบล และ ตำบลหัวเวียงนั้นได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ทั้งนี้สถานการณ์น้ำท่วมก็ยังคงไม่น่าวางใจ

สุพรรณบุรีระดมสูบน้ำ

สถานการณ์แม่น้ำท่าจีนหลังมีการระบายน้ำจากประตูน้ำโพธิ์พระยา ที่ 259 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บ้านเรือนประชาชนริมฝั่งแม่น้ำตั้งแต่ อ.เดิมบาง นางบวช อ.สามชุก อ.ศรีประจันต์ และโดยเฉพาะพื้นที่ 3 อำเภอท้ายน้ำ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะ ถูกน้ำท่วมกว่า 1 เมตร ทั้งนี้ ยังมีการผันน้ำลงสู่ทุ่งในพื้นที่รองรับน้ำใน 2 อำเภอ ได้แก่ทุ่งสองพี่น้อง และทุ่งบางปลาม้า

DCIM100MEDIADJI_0024.JPG

ส่วนที่ชุมชนวัดมเหยงคณ์ ต.ท่าระหัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ปริมาณน้ำเพิ่มสูงกว่า 1 เมตร ทำให้เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน วัด มเหยงค์ โรงเรียน ถนนในหมู่บ้าน จนสัญจรไปมาไม่ได้ ต้องใช้เรือแทน นอกจากนี้ยังมีหลายตำบลในพื้นที่ อ.เมืองสุพรรณฯ ที่ได้รับผลกระทบ ทั้ง ต.ทับตีเหล็ก ต.รั้วใหญ่ ต.พิหารแดง ต.โพธิ์พระยา

ส่วนในพื้นที่ที่ยังหวั่นกระทบ คือ ใจกลางเมืองสุพรรณบุรี ตลาดสด พื้นที่เศรษฐกิจ ปริมาณน้ำนั้นใกล้ล้นเขื่อนพนังกั้นน้ำ เบื้องต้นทางจังหวัดเร่งระดมเครื่องสูบน้ำกว่า 10 เครื่อง กระจายกันสูบน้ำทั่วพื้นที่ตลอด 24 ช.ม. และนำกระสอบทรายมาเตรียมพร้อม เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ช.ม.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน