ชาวโซเชียลมีเดีย แบนละครดัง เพื่อให้ผู้ผลิตสื่อฯ หยุดผลิตซ้ำ อาชญากรรม การข่มขืนผ่านจอ พร้อมเรียกร้องให้ผู้จัดออกมากล่าวสำนึกผิด ชี้แจง และปรับปรุง

Twitter

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 64 ชาวเน็ตในโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ มีการหยิบยกประเด็นเรื่องการข่มขืนในละครหรือภาพยนตร์ไทย ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์สื่อผู้ผลิตอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างแพร่หลาย โดยมีการชี้ถึงประเด็นที่หลากหลายแต่มุ่งวิจารณ์เรื่อง “เพศในอุตสาหกรรมบันเทิง” ว่ามีลักษณะที่เป็นเพียงศีลธรรมเพียงแต่เปลือก ที่อ้างว่า ‘สะท้อน’ สังคมแต่ ไม่ได้ ‘นำ’ สังคม ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

Facebook : เพจ ข่มขืนผ่านจอพอกันที

โดยชาวโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ ระบุว่า ต้องการเรียกร้องให้ผู้ผลิตสื่อฯ รู้สึกสำนึกผิดต่อละครหรือภาพยนตร์ที่นำเสนอออกไปสู่สาธารณะ และออกมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง “ปกติ” ของสังคม

ชาวเน็ตระบุว่า หากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ จะทำการแบนสื่อที่เกี่ยวข้อง รวมถึง สปอนเซอร์ของสื่อดังกล่าว ตามสิทธิผู้บริโภค เพื่อแสดงความไม่พอใจอย่างจริงจัง และทำให้ผู้ผลิตสื่อฯ มีความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยชาวเน็ตในโซเชียลมีเดีย ได้วิพากษ์วิจารณ์ด้วยประเด็นดังนี้

1.นำเสนอฉากข่มขืน ที่นำไปสู่ความรักของพระเอก-นางเอกในละคร แต่ในโลกความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เป็นอาชญากรรม

2.การมีเพศสัมพันธ์ปกติทั่วไป คือการที่ทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ แต่ผู้ผลิตสื่อฯ มักไม่ค่อยนำเสนอการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกทำนองคลองธรรม มักจะนำเสนอแต่ฉากการข่มขืนและการแอบถ่ายคลิปเพื่อข่มขู่อีกฝ่ายในภายหลัง ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ และเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่เป็นประจำจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ

3.ผู้ผลิตสื่อฯ มักใช้การข่มขืนมาเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษตัวร้ายในละคร ในขณะที่ การข่มขืนของพระเอก-นางเอก จะนำไปสู่ความรักในภายหลัง และเพศหญิงมักจะอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าเพศชายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทำให้หลายครั้ง ฉากการมีเพศสัมพันธ์ในละคร จึงเป็นการยินยอมที่คลุมเครือ และถูกครอบงำจากฝ่ายเพศชายเสียมากกว่า ซึ่งกรณีเหล่านี้ยังรวมถึง การล่วงละเมิดทางเพศในฐานะสามี-ภรรยา ก็เป็นอาชญากรรมได้เช่นกัน หากการมีเพศสัมพันธ์นั้น ไม่ได้เกิดจากการสมัครใจของทั้งสองฝ่าย

4.ยุติค่านิยมที่ว่า ‘คุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่พรหมจรรย์’ หรือการรังเกียจเพศหญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว หรือแม้แต่ การใช้คำพูดเพื่อขับเน้นว่าถึงผู้หญิงเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วก็ยังรัก ทั้งที่การมีเพศสัมพันธ์มาก่อนของเพศหญิง ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญใดเลย พอๆ กับการที่เพศชายก็เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนก็เป็นเรื่องปกติในสังคม เพราะในโลกความจริง ถือเป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีคนรัก ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้หากสมัครใจ และเมื่อเลิกราไปมีคนรักใหม่ เมื่อรักกันก็สามารถมีเพศสัมพันธ์กันได้ตามปกติ ทั้งนี้ควรหยุดตีตราการมีความสุขทางเพศ เพราะไม่ว่าจะเพศใด หรือไม่ว่าจะเพศวิถีแบบใด การมีความสุขทางเพศก็ถือเป็นเรื่องปกติ

5.การใช้คำพูด ซ้ำเติมการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ตัวร้ายกล่าวซ้ำเติมนางเอกว่า “โดนไปกี่ดอก” ขณะที่พระเอกเกิดความรู้สึกรังเกียจ จนสุดท้ายละครใช้วิธีแก้ลำว่า แท้จริงแล้วนางเอกไม่ได้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่ยังเป็นหญิงบริสุทธิ์

6.การนำเสนอขั้นตอนเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่ไม่สมจริง ทำให้ผู้รับชม ไม่ได้รับความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น ควรนำเสนอ การใช้อุปกรณ์คุมกำเนิด การรับประทานยาคุมฉุกเฉิน-ยาต้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ฉุกเฉิน การตรวจร่างกายหลังถูกล่วงละเมิดทางเพศ การตรวจการตั้งครรภ์ หรือช่องทางการร้องเรียนและดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นต้น​ ทั้งนี้ยังรวมถึงค่านิยมการคุมกำเนิดซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของเพศหญิงเพียงฝ่ายเดียว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน