รายงานสรุปเสวนา “รัฐประหารเมียนมา: กองทัพ การเลือกตั้ง และจุดจบของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ?

Matichon

รายงานสรุปเสวนา “รัฐประหารเมียนมา: กองทัพ การเลือกตั้ง และจุดจบของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ? วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้อง ร.102 (ห้องเสน่ห์ จามริก) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยมี วิทยากร ได้แก่ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยอิสระ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าวได้สรุปภาพรวมจากการเสวนาครั้งนี้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจประกอบด้วย พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมียนมา บทบาทกองทัพในเมียนมา นโยบายการต่างประเทศของเมียนมา และภาคประชาสังคมของเมียนมา

Matichon

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมียนมา

ผศ.ลลิตา หาญวงษ์ กล่าวว่า ปัญหาหลักของเมียนมา มักจะเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศ โดยเป็นเรื่องของชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นผลพวงจาก ยุคที่เมียนมาเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพราะในช่วงดังกล่าวอังกฤษมักให้แต่ละพื้นที่ปกครองตนเอง อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการรวมศูนย์อำนาจ จึงทำให้ชนกลุ่มใหญ่ในเมียนมาได้อำนาจมากกว่าชนกลุ่มอื่น จนไม่เหลือที่ยืนให้กับชนกลุ่มน้อย จนทำให้ต่อมาจึงเกิดข้อตกลงปางโหลง เพื่อสร้างสันติภาพขึ้น

โดย ข้อตกลงปางโหลง เป็นความตกลงระหว่าง ชนชาติ พม่า ไทใหญ่ ฉิ่น และคะฉิ่น เพื่อจัดตั้งสหภาพพม่า อย่างไรก็ตาม ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมียนมาในข้อตกลงปางโหลง กระนั้นในข้อตกลงปางโหลงก็ได้ระบุไว้ว่า ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิ์แยกตัวหลังอังกฤษส่งมอบเอกราช 10 ปีเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาในช่วงเวลานั้น มีอุดมการณ์ชาตินิยม จึงไม่อนุญาตให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวออกเป็นอิสระตามข้อตกลงปางโหลง ต่อมาได้เกิดรัฐประหารในเมียนมา โดยกองทัพเมียนมาได้อ้างเหตุผลว่า รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถควบคุมความเป็นเอกภาพของประเทศไว้ได้ และกองทัพเมียนมาพยายามยกพุทธศาสนามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการสร้างจุดร่วมของคนในชาติ

BBC

การทำรัฐประหารของเมียนมา แม้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ทว่าแต่ละครั้งก็กินระยะเวลาที่ยาวนานจนทำให้อุดมการณ์ชาตินิยมของกองทัพเมียนมาไม่เคยเสื่อมคลายไป ทั้งนี้กลุ่มชนชั้นสูงในเมียนมาก็ยังเป็นเครือข่ายขนาดเล็ก จึงทำให้เกิดฉันทามติขึ้นในหมู่ชนชั้นสูง และสามารถรักษาอำนาจเอาไว้ได้ยาวนาน

การรัฐประหารแต่ละครั้งของเมียนมานับตั้งแต่อดีต แสดงให้เห็นว่ากองทัพเมียนมาไม่มีความลังเลที่จะใช้ความรุนแรงต่อประชาชน และทำให้เกิดการเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมากทุกครั้งที่มีการสลายการชุมนุม แต่ชาวเมียนทุกช่วงวัยก็ยังออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นจำนวนมาก และกรณีปัญหาชนกลุ่มน้อยแทบไม่ส่งผลกระทบต่อคะแนนความนิยมในตัวของนาง อองซานซูจี

เนื่องจากคนรุ่นเก่าที่เคยต่อสู้ในอดีตนั้น เชื่อมั่นในตัวนางอองซานอย่างยิ่ง ขณะที่ชาวเมียนมารุ่นใหม่ก็ต้องการผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง หลายฝ่าย แม้แต่ฝ่ายข้าราชการหรือตำรวจจำนวนหนึ่ง ก็ต่อต้านการรัฐประหาร ทั้งยังมีชาวโรฮิงยาจำนวนมากที่ชูสามนิ้วต่อต้านรัฐประหาร เพราะคนเหล่านี้เชื่อว่า อย่างน้อย ๆ รัฐบาลพลเรือนย่อมดีกว่าการปกครองของกองทัพเมียนมา

Khaosod

บทบาทกองทัพในเมียนมา

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี กล่าวว่า การที่จะเข้าใจเมียนมา ต้องเข้าใจกองทัพเมียนมา และการที่จะเข้าใจกองทัพเมียนมา ต้องทำความเข้าใจผ่านอุดมการณ์และพันธกิจหลักของกองทัพเมียนมา ซึ่ง ได้แก่ ความเป็นชาตินิยม ทหารนิยม ความเป็นเอกภาพของสหภาพเมียนมา ความสมานฉันท์ของชาติ และ การรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน ขณะที่อุดมการณ์และพันธกิจของกองทัพไทย ได้แก่ ราชาชาตินิยม ความเป็นไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อกล่าวถึง หน้าที่ของกองทัพในเมียนมา ก็มีหน้าที่ ป้องกันประเทศ และ ปกครองประเทศ ขณะที่กองทัพไทย กองทัพมีหน้าที่ ป้องกันประเทศ ปกป้องสถาบันกษัตริย์ รักษาความมั่นคงภายในประเทศ และ ช่วยเหลือรัฐบาลในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

AP

ในส่วนของภัยคุกคามของเมียนมา เกิดจากกลุ่มน้อย ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของเมียนมา แต่กองทัพเมียนมาสามารถรับมือกับปัญหาชนกลุ่มน้อยใน มอญ ไทใหญ่ ฯลฯ ได้ดีกว่าการรับมือชนกลุ่มน้อยฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นชาว โรฮิงยา ทั้งยังมีประเด็นทางศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ชาวเมียนมามองว่า ชาวโรฮิงยานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมของประเทศ จนต้องเรียกว่า “ชาวเบงกาลี” ซึ่งประเด็นของชาวโรฮิงยาทำให้เมียนมาต้องไปต่อสู้เรื่องดังกล่าวถึงศาลโลก ขณะที่ภัยคุกคามของไทยนั้น ไม่ได้มีภัยจากภายนอกหรือคนนอกมากนัก หลายครั้งไทยจึงต้องพยายามสร้างศัตรูภายในขึ้นมาเพื่อปลุกความรักชาตินั่นเอง

ในส่วนของบทบาทางการเมือง กองทัพเมียนมา มีอำนาจในการปกครองประเทศมาโดยตลอด โดยจะได้รับหน้าที่ในกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศทั้งหมด ขณะที่กองทัพไทยไม่สามารถอยู่เบื้องหน้าได้ จึงต้องพยายามหาความชอบธรรมในการเข้ามาบริหารประเทศอยู่เสมอ ซึ่งมักจะมีความเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นผู้ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่ทางการเมือง เพื่อให้กองทัพมีอำนาจในการต่อต้านรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่เมียนมาไม่มีสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายต่าง ๆ ในเมียนมาจึงยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ และไม่มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันเมียนมามีรัฐธรรมนูญเพียง 4 ฉบับ

Khaosod

นโยบายการต่างประเทศของเมียนมา

ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร มีข้อเสนอว่า กองทัพเมียนมาไม่เคยประนีประนอมกับประชาชน และในอดีต เมียนมามักไม่ค่อยให้ความสนใจภาพลักษณ์ของประเทศ ดังนั้นการลงโทษจากนานาชาติอาจจะไม่ได้ผลต่อการตัดสินใจของกองทัพเมียนมามากนัก

การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จึงอาจไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการเมืองเมียนมาในระยะเวลาอันสั้น แต่ผลกระทบที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง น่าจะขึ้นอยู่กับชาวเมียนมาในประเทศเอง เนื่องจากเมียนมาไม่ได้ให้ผลประโยชน์แก่ชาติตะวันตกมากนัก และเมียนมาก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของประเทศมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า สหรัฐฯ มักให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เมียนมา จึงหมายความว่า การรัฐประหารอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เมียนมาถูกลดความช่วยเหลือลงทั้งในด้านองค์ความรู้และเงินช่วยเหลือ

BBC

ทั้งนี้ จากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เมียนมาถูกรายล้อมจากประเทศที่เคารพระเบียบของกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก และประเทศสมาชิกจะทำการลงทุนในประเทศสมาชิกอื่น ๆ โดยไม่คำนึงว่า ประเทศสมาชิกจะเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร

ทั้งนี้เมียนมาพยายามจะยืนหยัดด้วยตนเอง และไม่พยายามเข้าหาจีน โดยเมียนมาพยายามอย่างยิ่งที่จะเปิดประเทศและนำประเทศเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน เพื่อสร้างเสถียรภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทวีปเอเชีย จึงคาดว่า พม่าไม่น่าจะอยากอยู่ภายใต้อำนาจของจีน

Matichon

ภาคประชาสังคมของเมียนมา

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล กล่าวว่า กองทัพเมียนมา ยังไม่สามารถควบคุมสูตรการเลือกตั้งที่กองทัพสามารถกุมเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาได้ กองทัพจึงพยายามกล่าวหาว่า พรรคของนางอองซาน มีการหาเสียงแบบไม่เป็นธรรม เช่น มีการนำรูปบิดาของนางอองซานซูจีมาถ่ายเพื่อหาเสียง และ กล่าวหาว่ามีการทุจริตรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจากปัญหาการทำสำมะโนประชากรที่คลาดเคลื่อน

นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่า พรรค NLD มีการสร้างอาสาสมัครผ่านกรมกิจการปกครองท้องถิ่น เนื่องจากกองทัพเมียนมาได้เข้าควบคุมกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติไปหมดแล้ว ทำให้ พรรค NLD ได้ตำแหน่งในกระทรวงสาธารณสุข ประจวบกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้พรรค NLD โกยคะแนนความนิยมเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย กองทัพเมียนมาจึงนำเหตุผลดังกล่าวมาใช้เป็นข้อกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม ชาวเมียนมาเห็นว่า ต่อให้มีการทุจริตจริง แต่จากผลการเลือกตั้งที่พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งไปกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเป็นคะแนนที่ถล่มทลาย การทุจริตก็จะไม่มีทางส่งผลต่อชัยชนะของพรรค NLD เลยแม้แต่น้อย แต่อาจมีผลสำหรับพรรคในสภาล่างเท่านั้น

นอกจากนี้ รูปแบบการลงทุนของเมียนมาได้เปลี่ยนไปอย่างมากจากในอดีต ในยุคที่กองทัพเมียนมาปกครอง มักจะใช้แนวทางลงทุนสูง แต่มีกลุ่มธุรกิจน้อยราย เพื่อทำให้สามารถจัดการลงทุนในประเทศได้โดยง่าย ขณะที่ ในสมัยพรรค NLD กลับเน้นการลงทุนแบบโรงงาน และกระจายเป็นธุรกิจรายย่อยแทน

UN

ทั้งนี้ ในพื้นที่บริเวณของชาติพันธุ์ มักเป็นบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมาก และพรรค NLD ได้อนุญาตให้ผู้ว่าการมลรัฐ สามารถตัดสินใจทางเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนได้ ในแง่นี้แล้ว ทำให้ประเทศที่จะมาลงทุนเป็นอันดับต้น ๆ อย่างจีน น่าจะพอใจกับนโยบายของพรรค NLD ของนางอองซานซูจีมากกว่านโยบายของกองทัพเมียนมา

ทางด้านฝั่งประชาสังคม จะพบว่านักเคลื่อนไหวจำนวนมากทำงานเป็นนักการเมืองไปด้วย และไม่มีการแยกว่าตนเองเป็นนักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหว เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น คนเหล่านี้จึงพยายามหาแนวทางตามรัฐธรรมนูญ ในการเข้ารับตำแหน่ง เช่น มีการสาบานตนออนไลน์ หรือ สาบานตนที่ริมถนน เพื่อแจ้งแก่สหภาพรัฐสภา

ขณะที่ฝั่งประชาชนก็มีการเปิดสุนทรพจน์ของ นาย มิงโกนาย ซึ่งเป็น นักเคลื่อนไหวคนสำคัญของเหตุการณ์ 8888 โดยเขาได้กล่าวเกี่ยวกับแนวทางในการทำอารยะขัดขืน และ พยายามเชื่อมโยงพลังของคนรุ่น 1988 สู่คนรุ่นใหม่ ว่า อย่ายอมรับการรัฐประหาร ต้องคว่ำบาตรกองทัพ ใช้แนวทางรณรงค์ในหลายภาษาเพื่อกดดันจากภายนอกให้กองทัพเกิดความอับอาย รวมถึงการตีหม้อประท้วง หรือการประกาศลาออกของผู้มีชื่อเสียง เป็นต้น ทั้งยังกล่าวว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ควรยอมตกเป็นทาสของกองทัพเพื่อผลประโยชน์เพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีการสังเกตว่า มีคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ได้ไปเข้าร่วมในคณะรัฐประหารด้วย

CNN

จากการรวมตัวโดยใช้โซเชียลมีเดีย ทำให้กองทัพเมียนมาใช้วิธีตัดอินเตอร์เน็ตของประชาชน อย่างไรก็ตามก็กระทำได้ไม่นานนัก เพราะวิธีดังกล่าว ส่งผลให้การเงินและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอัมพาตชั่วคราว จนต้องรีบคืนระบบอินเตอร์เน็ตให้ประเทศดำเนินต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ฝั่งกองทัพก็พยายามใช้แนวทางม็อบชนม็อบและให้ตำรวจเป็นผู้สลายการชุมนุมหรือปราบจลาจลแทนการลงมือด้วยตนเอง

โดยสรุปแล้วทั้งฝ่ายกองทัพและฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา พยายามพึ่งพาอำนาจที่ชอบธรรมผ่านรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาน่าจะไม่ลังเลในการใช้ความรุนแรงเพื่อปราบฝ่ายประชาธิปไตย และที่ผ่านมา เมื่อมีรัฐประหารก็มักจะยึดอำนาจเป็นเวลาที่ยาวนาน จึงคาดว่า กองทัพเมียนมาน่าจะอยู่ในอำนาจต่อไปอีกเป็นระยะเวลาหลายปี โดยอาจไม่ได้สนใจต่อแรงกดดันจากภายนอกประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน