ม.แม่โจ้ ชวนร่วมงาน “แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ(ชา)” วิจัยต่อยอดการใช้ประโยชน์ชิ้นส่วนกัญชา ทั้งใบ ต้น และราก ปรุงเมนูเด็ดจากกว่า 40 ร้าน ชิมฟรีตลอดงาน

เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
เพิ่มเพื่อน

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ ม.แม่โจ้ เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 ก.พ. 64 เวลา 08.30 น. – 12.00 น. ม.แม่โจ้ เตรียมจัดงานโครงการ “แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ(ชา)” ที่ฟาร์ม ม.แม่โจ้ บริเวณโรงปลูกกัญชาทางการแพทย์ 16,700 ต้น

โดยทางม.แม่โจ้ ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ รับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งกิจกรรมในงานจะเป็นการสาธิตการนำชิ้นส่วนกัญชาที่ใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะใบกัญชา รวมทั้งต้น และราก มาปรุงอาหาร

 

โดยร้านอาหารและผู้สนใจในจ.เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งบริษัทเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นจำนวน 43 ราย ขณะที่จำนวนผู้เข้าร่วมงานนั้น เบื้องต้นมีการจำกัดจำนวนไว้ไม่เกิน 500 คน เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดและคัดกรองผู้เข้าร่วมงานอย่างละเอียดทุกคน

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการนั้น มีทุกระดับตั้งแต่ร้านอาหารตามสั่งในม.แม่โจ้ หรือสตรีทฟู้ดส์ทั่วไป ร้านอาหารชื่อดังในจ.เชียงใหม่ และบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารเครื่องดื่ม โดยทางม.แม่โจ้ จะสนับสนุนใบกัญชาสดให้ร้านละ 200 กรัม

พร้อมปริมาณแนะนำการใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารเฉลี่ยจานละ 1 ใบ รวมทั้งชิ้นส่วนของต้นและราก อีกจำนวนหนึ่งตามความเหมาะสมและตามสูตรอาหารของแต่ละร้าน เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารและนำเสนอเมนูอาหารอย่างหลากหลาย

ทั้งอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมการปรุงอาหารและชิมฟรีด้วย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจ.เชียงใหม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ กล่าวอีกว่า การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ต่อยอดจากโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการที่จะนำชิ้นส่วนของกัญชานอกจากช่อดอกมาใช้ประโยชน์และทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้

โดยมีรพ.อภัยภูเบศร เป็นต้นแบบในเรื่องการนำมาใช้ปรุงเป็นเมนูอาหาร และได้รับการสนับสนุนจาก อย. ด้วย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการทดสอบและทำให้ทราบถึงคุณสมบัติที่ดีของกัญชาในการนำมาใช้ปรุงอาหาร ตลอดจนเป็นการประเมินผลข้อมูลที่นำไปสู่การวางหลักเกณฑ์ ทั้งวิธีการและปริมาณการใช้ที่เหมาะสมเพื่อหน่วยงานรับผิดชอบจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎระเบียบตามกฎหมายต่อไป.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน