“ทักษิณ” โผล่แจมคลับเฮ้าส์กลุ่มแคร์ ตอบทุกคำถาม เรียกคนเข้าสดฟังนับแสนคน เล่นเอาชาวเน็ตอารมณ์ค้างถกเดือดปมตากใบ

กระแสแอพพลิเคชั่นน้องใหม่อย่าง Clubhouse กำลังมาแรง ด้วยรูปแบบการสื่อสารด้วยเสียง ที่สามารถเข้าไปฟังเรื่องที่เราสนใจ ไม่ว่าเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ไลฟ์โค้ช หรือ การสัมภาษณ์ในประเด็นต่างๆ และที่สำคัญไปกว่านั้น ด้วยความที่รูปแบบของแอพฯที่มีความ “สด” และเรียลไทม์ในการพูดคุย และเข้าถึงผู้ฟังและแฟนคลับได้ง่ายในระดับถามคำตอบคำนี่เอง จึงกลายเป็นแอพฯ ยอดนิยมในชั่วข้ามคืน มีเหล่าคนดังมากมาย ทั้งวงการเมือง เศรษฐกิจ ดนตรี อาร์ติสต์ ต่างพากันตั้งห้องสนทนากันอย่างเมามัน

ล่าสุดวานนี้ (22 ก.พ.) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ไม่พลาดที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวในการสื่อสารพบปะประชาชน โดยนายทักษิณ ปรากฏตัวอย่างเงียบๆ ในแอพ ด้วยชื่อ Tony Woodsome ในช่วงเย็น ก่อนจะโผล่เข้ามาแจมในห้องของกลุ่มแคร์ ที่ใช้ชื่อห้องว่า “ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้” ซึ่งห้องดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ใช้คลับเฮ้าส์ชาวไทยอย่างรวดเร็ว

โดยห้องที่นายทักษิณ อยู่นั้น เต็มภายใน 10 นาที และมีการถ่ายทอดเสียงไปให้ผู้ชมอีก 8 ห้อง ห้องละ 5,000-8,000 คน มีการถ่ายทอดสดลงโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก และมีผู้ชมเรียลไทม์มากสุดกว่า 12,000 คน รวมผู้รับชมการถ่ายทอดเสียงของนายทักษิณนั้น คาดว่าน่าจะมีตัวเลขมากกว่า 100,000 คน

โทนี่ ทักษิณ คลับเฮ้าท์

โทนี่ หรือ ทักษิณ ในคลับเฮ้าท์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทักษิณ ได้เล่าประสบการณ์ จากการป่วยด้วยโรคโควิดและวิธีการรักษาตัวในช่วงที่ป่วย นอกจากนี้ยังเล่าถึงจุดกำเนิดพรรคไทยรักไทย การสร้างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้ว่า CEO ที่ต้องการกระจายอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านการบริหารงาน เร่งรัดงาน เป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น รวมถึงนโยบายแก้จน ทัวร์นกขมิ้น (ประชุม ครม.ตามต่างจังหวัด) และอาจสามารถโมเดลในยุคดังกล่าว

โดยเป็นความสำเร็จเชิงนโยบายก่อนการรัฐประหาร 2549 ทั้งนี้ นายทักษิณ ยังกล่าวถึงจุดแข็งจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยว่า จุดแข็งคือ ทุกครั้งเป็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาดีกว่าพรรคอื่น จุดอ่อนคือ ต้องสร้างและต้องหาผู้นำที่เข้าใจปัญหาปัจจุบัน รวมถึงที่ยึดมั่นหลักการของไทยรักไทย นอกจากนี้ยังเล่าที่มาของชื่อ Tony Woodsome ว่า ได้มาจากสมัยไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เพื่อนชาวต่างชาติออกเสียงเรียกคำว่า “ทักษิณ” ไม่ได้ เลยให้เรียกเขาง่ายๆ ด้วยคำว่า “โทนี่”

แต่มีหลายคำถาม ที่กลายเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ จากการตอบของนายทักษิณ เช่น ผู้ร่วมพูดคุยคนหนึ่งถามถึงเหตุการณ์กรือเซะ และตากใบ ในปี 2547 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

นายทักษิณ ตอบว่า สำหรับเหตุการณ์ที่กรือเซะนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของทหาร ตนเองเป็นเพียงแค่นายกรัฐมนตรี แต่ไม่สามารถควบคุม และเข้าใจอะไรได้มากมาย ก็เสียใจที่เกิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และก็จำไม่ค่อยได้เพราะนานมาแล้ว จำได้แต่เพียงว่ามีการยิงปะทะกันมากกว่า แต่ก็เสียใจสำหรับเหตุการณ์ที่ขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ตอบประเด็นดังกล่าว ทั้งห้องเงียบไปครู่หนึ่ง ซึ่งต่อมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย สำหรับคำตอบของนายทักษิณ จนเกิดแฮชแท็กว่า #ตากใบจำไม่ได้ และทำให้คนรุ่นใหม่ กลับไปค้นคว้าศึกษากรณีดังกล่าวต่อ

ต่อมา นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ได้ตอบคำถามแทนว่า ขณะนั้นผมเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กรณีดังกล่าวเป็นปฏิบัติการที่ช่วงนั้นมีกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการต่อต้านและประกาศกฎอัยการศึก ทำให้ทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ พวกเราจะไม่รู้ถึงการปฏิบัติการดังกล่าว ต่อมาพบว่ามีการใช้อาวุธ และเหตุปะทะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย ฝ่ายนโยบายไม่ทราบรายละเอียด จนเกิดปัญหาขึ้น ต่อมามีการสอบสวนเหตุดังกล่าว ซึ่งทำให้ฝ่ายสูญเสียก็ไม่พอใจ แต่สุดกำลังความสามารถที่เราจะเข้าไปจัดการได้

ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะโฆษกรัฐบาลในเวลานั้น ตอบต่อว่า บางเรื่องที่ท่านมีความรู้สึกพูดไปแล้ว และเป็นปัญหากับคนอื่น จึงไม่อยากจะพูด เรื่องนี้มีความสลับซับซ้อน คนที่ศึกษาจะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ เชื่อว่าคุณทักษิณ ไม่อยากพาดพิง จึงไม่พูดถึง อยากให้ไปหารายละเอียดว่ารัฐบาลขณะนั้นเจอปัญหาเรื่องอื่นอีก ซึ่งหากในอนาคตจะมีการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ ก็จะมีการศึกษากันต่อ

จากนั้น ยังคงมีการสอบถามนายทักษิณ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเด็นเรื่องการใช้ ม.112 ในการจัดการคนเห็นต่าง รวมถึงประเด็นเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ โดยบางประเด็น นายทักษิณเลี่ยงที่จะตอบ บอกว่าขอไปตอบในวาระถัดไป เนื่องด้วยความละเอียดอ่อนเกรงว่าจะเกิดการพาดพิง แต่เป็นที่น่าสนใจว่า นายทักษิณ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง โดยกล่าวว่าถ้าอยากได้สภาพการเมืองที่ดี น่าจะผลักดันวาระเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะดีหรือไม่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ

โดยนายทักษิณ ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไม่ได้มาจากระบบเผด็จการ หรือการรัฐประหาร ทั้งยังแนะนำให้คนรุ่นใหม่ให้ผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่เคยมีการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น

นายทักษิณ ยังตอบคำถามถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ โดยระบุว่า การเคลื่อนไหวนั้นเกิดจากเด็กรุ่นใหม่เริ่มมองไม่เห็นอนาคต เราคิดว่าทำยังไงทำให้ประเทศไทยเปิดกว้างเสรี มีความรู้ความสามารถ เด็กๆยุคนี้อดีตเขาอาจจะเคยเห็นรัฐบาลไทยรักไทย ได้ยินพ่อแม่พูดว่ากำลังจะซื้อบ้าน ซื้อรถ

ตอนปัจจุบันเขาได้ยินพ่อแม่ พูดว่ากำลังขายรถ ขายบ้าน คำถามคืออนาคตเขาจะอยู่อย่างไร เด็กรุ่นนี้คือคนรุ่นนี้เกิดมาจากเทคโนโลยี ผู้ใหญ่คิดว่าทำงานอย่างเดียวแล้วจะรวย มาตอนนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะ ถ้าเด็กไม่เห็นอนาคต เขาก็ต้องหา ผมไม่มองแบบการเมือง ผมมองมุมของความก้าวหน้าในชีวิต ต้องทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับประเด็นเรื่องปฏิรูปสถาบัน หนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมในไทย นายทักษิณ กล่าวว่า ถ้าเป็นตนจะใช้วิธีพูดคุย ประเทศเรามีมาช้านานในเรื่องสถาบันฯ เราต้องเคารพ เขาเป็นห่วงเรื่องการรัฐประหาร ตนมองตรงนี้เป็นหลัก ทุกอย่างอยู่ที่การพูดคุย เรื่องนี้ไม่ฟังมันไม่ได้ เราต้องรวมทุกฝ่ายเข้าหากัน และร่วมกันทำงาน เรื่องการพูดคุยเป็นเรื่องที่ตนเองนั้นให้ความสำคัญ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ช่วงหนึ่งมีคำถามถึงนายทักษิณ ว่าทำไมพล.อ.ประยุทธ์ ชอบโมโหเวลามีคนพูดชื่อหรือเอ่ยถึง ทั้งผ่านสื่อ หรือในทางสาธารณะ ซึ่งนายทักษิณตอบว่า “ผมไม่ทราบ ให้ไปถามพล.อ.ประยุทธ์เอง เพราะผมนั้นไม่เคยโมโหใคร”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับห้อง “ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองกันตรงเน้” มีผู้เข้าร่วมสนทนามากมายจากเกือบทุกวงการ โดยเฉพาะอดีตรัฐมนตรี และคณะทำงานสมัยที่นายทักษิณ ยังเป็นนายกฯ เช่น นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายดวงฤทธิ์ บุนนาค นายธีรัตถ์ รัตนเสวี สื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน