“ชัยวุฒิ” เรียกประชุมเตรียมออกร่างประกาศฯ แก้ปัญหาข้อมูลเท็จท่วมโซเชียล พร้อมเร่งดำเนินคดีกับคนไทย คนต่างชาติ และคนไทยที่อยู่ต่างประเทศโจมตีประเทศ ลั่นต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด อยากให้กฎหมาย คือ กฎหมาย

วันที่ 20 พ.ค.2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับปรุงประกาศกระทรวงฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ใช้บังคับมานานเพื่อให้ทันสมัย สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากล และสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานทั้งในโซเชียลมีเดีย และดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ

โดยคณะทำงานอยู่ระหว่างการพิจารณา (ร่าง) ประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องหลักเกณฑ์การจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. …. และแนวทางการกำกับดูแลและการลงทะเบียนผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย โดยดูจากแนวทางของต่างประเทศเป็นต้นแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิ.ย.นี้ และจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อไป

 ฟันเว็บกุข่าว

พร้อมกันนี้ยังมีการเร่งติดตาม ดำเนินคดี และบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลที่โพสต์ข้อความหมิ่น และการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อติดตามผลการดำเนินการต่างๆ มีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนข่าวปลอม โดยมีขั้นตอนดังนี้ คือ รวบรวมข้อความ ยื่นเรื่องให้แก่ศาลพิจารณา และหากมีคำสั่งศาลออกมาก็จะส่งต่อให้แพลตฟอร์มดำเนินการปิดกั้น โดยมีแพลตฟอร์มบางรายไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2563

“การกระทำความผิด ถ้าเป็นคนไทย คนต่างชาติ หรือเป็นคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ก็ต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด อยากให้กฎหมาย คือ กฎหมาย ให้ทุกคนเคารพในกฎหมาย เพราะสิ่งที่กระทำกระทบต่อประชาชนและประเทศ ดังนั้นจึงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ซึ่งแม้จะอยู่ต่างประเทศก็ต้องทำให้เต็มที่ จะใช้ทุกช่องทาง ประสานงานในทุกภาคส่วน เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ ซึ่งเราไม่ได้ต้องการไปลงโทษผู้กระทำความผิด เพราะ รังเกียจเดียดฉันท์”

 ฟันเว็บกุข่าว

อย่างไรก็ดีกระทรวงฯ ได้ดำเนินการปิดกั้นข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอปิดกั้น จำนวน 16 คำร้อง 349 ยูอาร์แอล ศาลมีคำสั่งให้ระงับแล้ว 4 คำร้อง และเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 12 เรื่อง 256 ยูอาร์แอล อีกทั้ง ได้ดำเนินการแจ้งเตือนแพลตฟอร์มให้ปิดกั้นข้อมูลตามคำสั่งศาล 35 คำสั่ง 726 ยูอาร์แอล และแจ้งความดำเนินคดีในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตามมาตรา 27 แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 321 ยูอาร์แอล ทวิตเตอร์ 155 ยูอาร์แอล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน