ส.ส.ชาติพันธุ์ จี้อัยการ ถอนฟ้อง กะเหรี่ยงบางกลอย ชี้เจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจาน ไม่ปฏิบัติตาม มติ ครม.-คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด 22 ชาวบ้านลุ้นศาลพรุ่งนี้

วันที่ 27 พ.ค.64 นายณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.ชาติพันธุ์ม้ง พรรคก้าวไกล ประธานคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถอนฟ้องชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม และขอให้อัยการพิจารณาไม่ฟ้องชาวบ้านกะเหรี่ยง เนื่องจากขาดเจตนาและรัฐมีนโยบายทั้งกฎหมายแก้ไขปัญหานี้อยู่แล้ว

นายณัฐพล กล่าวว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จับกุม นายหน่อแอะ มีมิ บุตรชายปู่คออี้ และชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ในข้อหาบุกรุกอุทยานแห่งชาติ ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ถูกเจ้าหน้าที่เผาบ้านและยุ้งฉางในปี 2554 จนนำไปสู่การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย นำโดย ปู่คออี้ สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงกลับไปทำกินในพื้นที่เดิม แต่กลับถูกจับกุม

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ต้องทำตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ที่ให้ยุติการจับกุม และให้ความคุ้มครองชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งตรงกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎรที่ให้ชะลอการดำเนินคดีกับประชาชน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 ก็รับทราบที่ทุกหน่วยงานเห็นด้วยกับข้อสังเกต แต่กลับพบว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีทั้งสอง และไม่ปฏิบัติตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

ส.ส.ชาติพันธุ์ กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถอนฟ้องชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม และขอให้อัยการพิจารณาไม่ฟ้องชาวบ้านกะเหรี่ยง เนื่องจากขาดเจตนาและรัฐมีนโยบายทั้งกฎหมายแก้ไขปัญหานี้อยู่แล้ว ซึ่งมีตัวอย่างดังกรณีชาวม้ง ที่ม่อนแจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่อัยการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งไม่ฟ้องชาวบ้าน และสำรวจการถือครองที่ดินของชาวบ้าน ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังประสบปัญหาสถานการณ์โควิด ไม่ใช่ซ้ำเติมรังแกชาวบ้าน

ทั้งนี้ในการประชุมใหญ่สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ และมีมติให้ส่งรายงานการศึกษาพร้อมข้อสังเกตซึ่งเป็นข้อเสนอแนะให้กับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

ข้อสังเกตระบุว่า กระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ควรปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และให้ชะลอการดำเนินคดีกับประชาชน อันเป็นผลจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่มีผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่หรือวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง กลายเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ทั้งที่อยู่มาก่อนเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน

ต่อมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เมษายน 2564 มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง เรื่อง สภาพปัญหาและแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ของคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ

โดยเฉพาะข้อสังเกตที่ให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 และชะลอการดำเนินคดีกับประชาชน อันเป็นผลจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 โดยชี้แจงว่า เรื่องคดีความที่มีผลสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายของกรมอุทยานแห่งชาติฯ อาจเป็นคดีความที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการตราพระราชบัญญัติฉบับนี้

ในขณะที่คณะรัฐมนตรีวันที่ 7 เมษายน 2562 รับทราบทุกหน่วยงานปฏิบัติและเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการ ในการชะลอการดำเนินคดีกับประชาชน แต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กลับจับกุมนายหน่อแอะ มีมิ บุตรชายปู่คออี้ และชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน ในความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ทั้งที่อยู่มาก่อนเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน

ด้าน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า ในวันที่ 28 พ.ค.64 คดีชาวบางกลอย 28 คน ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมไปศาลจังหวัดเพชรบุรีเพื่อ รับฟังคำสั่งฟ้องคดีบุกรุก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
วันที่ 28 พ.ค. 2564 เป็นวันครบกำหนดฝากขังสำหรับผู้ต้องหาชุดแรก 22 คน ที่พนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ศาลมีคำสั่งฝากขังที่เรือนจำเขากลิ้ง จ.เพชรบรี ตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564

ต่อมา มีคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีให้ปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 ส่วนอีก 6 คนซึ่งมอบตัวในภายหลังจะครบกำหนดฝากขังในวันที่ 17 มิ.ย. 2564

ทำให้ชาวบ้านบางกลอยทั้ง 28 คน จะต้องไปศาลจังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 28 พ.ค. เพื่อรับทราบผลว่าพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีจะสั่งฟ้องคดีต่อศาล หรือไม่

เนื่องจากคดีนี้ แม้ในวันนี้ 25 พ.ค.64 ทนายความศูนย์ข้อมูลชุมชน โดย ทนายเฉลิมศรี ประเสริฐศรี และผู้แทนผู้ต้องหาในคดี จะยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรีและอัยการสูงสุด และในวันที่ 24 พ.ค. ผู้ต้องหา 23 คน จะได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ให้การเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นถึงพฤติการณ์และเหตุผลต่างๆเกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวกับคดีไปแล้วนั้น

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านทั้งหมดต้องเดินทางมาจากบ้านโป่งลึก-บางกลอย ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. เพื่อปรึกษาหารือกับทีมทนายความและเตรียมทั้งเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว หากมีการสั่งฟ้องในวันที่ 28 พ.ค.นี้

โดยหากมีการสั่งฟ้อง จะต้องมีการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์วงเงินประมาณ 100,000 บาท ต่อคน ซึ่งจะอยู่ในดุลพินิจศาลว่าจะให้ประกันตัวเช่นเดียวกับในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ แต่หากไม่มีการสั่งฟ้องในวันที่ 28 พ.ค. นี้ ศาลจะปล่อยตัวผู้ต้องหา 22 คน โดยไม่มีหลักประกัน ส่วนอีก 6 คนยังต้องรายงานตัวทุกๆ 12 วันต่อผู้ใหญ่บ้านจนกว่าจะครบฝากขัง หรือจนกว่าพนักงานอัยการจะส่งฟ้องคดีตามกำหนดเวลา

คดีนี้ หากต้องประกันตัวในชั้นศาลคนละ 100,000 บาท จำนวน 28 คน จะต้องใช้เงินประกันตัวทั้งสิ้น 2,800,000 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน