ย้อนประวัติ ‘ทมยันตี’ นักเขียนผู้เลื่องชื่อของไทย และปมทางการเมือง กรณีจัด ‘วิทยุยานเกราะ’ ก่อนเหตุนองเลือด 6 ตุลา!

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการนักเขียนไทย ที่สูญเสีย “คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์” เจ้าของนามปากกาดังอย่าง “ทมยันตี” นักเขียนและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2555 เสียชีวิตลงในวัย 85 ปี

ประวัติส่วนตัว คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เกิดเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 มีชื่อเล่นว่า “อี๊ด” บิดาเป็นทหารเรือ ส่วนมารดามีเชื้อสายชาววัง โดยสืบเชื้อสายมาจากเจ้านายในราชวงศ์เวียงจันทน์ ถูกกวาดต้อนมาสยามเมื่อครั้งรัชกาลที่ 3

คุณหญิงวิมลจบการศึกษาชั้นประถมและมัธยมจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จากนั้นเข้าศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนมาศึกษาที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมเข้าร่วมเป็นนักโต้วาทีของมหาวิทยาลัย ร่วมทีมกับ “สมัคร สุนทรเวช” และ “ชวน หลีกภัย”

ระหว่างศึกษา คุณหญิงวิมลได้สมัครเป็นครูสอนภาษาไทย โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และเขียนหนังสือไปพร้อม ๆ กัน ต่อมาได้เลิกสอนหนังสือและหันมาเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียวจนถึงปัจจุบัน

โดยคุณหญิงวิมลเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกเมื่ออายุ 14 ปี ขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยม 4 ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารศรีสัปดาห์ เมื่ออายุ 19 ปี จึงเริ่มเขียนเรื่องยาว มีผลงานชิ้นแรกคือเรื่อง“ในฝัน” ใช้นามปากกาว่า “โรสลาเรน”

นอกจากทมยันตีแล้ว คุณหญิงวิมลยังมีนามปากกาอีกมากมาย ได้แก่ ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน, วัสสิกา, มายาวดี ผลงานเป็นที่กล่าวขาน ถูกหยิบยกมาสร้างละครและภาพยนตร์บ่อยครั้ง มีผลงานที่โดดเด่นคือ คู่กรรม, ทวิภพ, ค่าของคน, ดาวเรือง, ล่า, เวียงกุมกาม, พิษสวาท, ดั่งดวงหฤทัย, คำมั่นสัญญา, เลือดขัตติยา, ใบไม้ที่ปลิดปลิว และอื่น ๆ อีกมากมาย

ผู้มีบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลา หากกล่าวถึงด้านการเมือง คุณหญิงวิมลขึ้นชื่อเรื่องความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับฝ่ายทหารและมักสนับสนุนระบอบทหาร โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่มีบทบาทเป็นแกนนำสำคัญของ “ชมรมแม่บ้าน” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพลและแม่บ้าน

ชมรมแม่บ้านจัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องและแก้ต่างแทนสหรัฐอเมริกา โดยทางชมรมคอยกล่าวโจมตีขบวนการนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านฐานทัพอเมริกาว่า เป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ

ขอบคุณที่มา doct6.com

นอกจากนี้ยังมีคลิปเสียงที่ คุณหญิงวิมลจัดรายการผ่านสถานีวิทยุยานเกราะ ศูนย์กลางทหารม้า ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญของกลุ่มนวพล-กระทิงแดงในขณะนั้น คอยปราศัยโจมตีขบวนนักศึกษาและชักชวนประชาชนให้มาชุมนุม ก่อนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 (ฟังคลิปเสียง คลิก)

ขอบคุณที่มา doct6.com

ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว คุณหญิงวิมลได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ปีถัดมา ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2522 เป็นสมาชิกวุฒิสภา และปี พ.ศ. 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ขอบคุณที่มา เพจบันทึก 6 ตุลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน