“สะโป้ก” ล้านนา-เหนือ, “ไอ้ตูม” ใต้, “บั้งแก๊ส” อีสาน มีแพร่หลายทุกภูมิภาค

ทางภาคเหนือมีแข่งขันเป็นงานประเพณีประจำปี อาทิ แข่งยิงสะโป้กเมืองแป้(แพร่)

สะโป้ก, ไอ้ตูม, บั้งแก๊ส เป็นการละเล่นทำให้เกิดเสียงดัง ต้นกำเนิดเสียงเกิดจากอุปกรณ์ง่ายๆ ที่ได้จากธรรมชาติ ใช้เชื้อเพลิงที่เปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซหรือไอได้ เพื่อเป็นตัวนำปะทุทำให้เกิดเสียงดัง

อุปกรณ์

1.ไม้ไผ่เนื้อหนา ยาวประมาณ 4-5 ปล้อง เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 นิ้ว (ไม้ไผ่เนื้อบางจะทำให้สะโป้กแตกง่าย นิยมใช้ไม้ซาง, ไม้บง)
2.แก๊สก้อน(อะซิทีลีน) หรือแก๊สบ่มผลไม้, น้ำมันเบนซิน, น้ำมันก๊าซ, แอลกอฮอล์

วิธีทำ
1.ตัดไม้ไผ่ยาวประมาณ 4-5 ปล้อง (ปล้องสุดท้ายตัดห่างจากข้อประมาณ 6 นิ้ว หรือมากกว่า เพื่อเป็นฐานสะโป้ก)
2.ทะลุปล้องไม้ไผ่ให้เหลือปล้องสุดท้ายไว้
3.เจาะรูที่ปล้องสุดท้ายเหนือข้อขึ้นไปประมาณ 2 นิ้ว รูกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร

วิธีการเล่น
วางสะโป้กตั้งเอียง นำเชื้อเพลิงใส่ในรูที่เจาะไว้พอประมาณ แล้วเอาไฟจุดที่รู เชื้อเพลิงจะติดไฟอย่างรวดเร็วในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดแรงอัดระเบิดเสียงดังขึ้น สามารถจุดได้หลายครั้งจนไอเชื้อเพลิงมีน้อยไม่เพียงพอให้เกิดเสียงดังได้ ให้เติมเชื้อเพลิงอีก

กรณีใช้แก๊สก้อน นำแก๊สก้อนประมาณหัวแม่มือใส่ในสะโป้ก เทน้ำใส่ในรูเล็กน้อย แก๊สก้อนทำปฏิกิริยากับน้ำทำให้เกิดไอ จุดไฟที่รูเช่นเดียวกับวิธีใช้เชื้อเพลิง (ไฟที่ใช้จุดต้องมีเปลว เช่น เทียนควรต่อก้านไฟชนวนให้ยาว และนำลวดพันรอบไม้ไผ่ให้แน่นหนา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากสะโป้กแตกได้)
โอกาสที่เล่น

สะโป้กใช้เล่นในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย วันสงกรานต์ คือตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน จนย่างเข้าวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ ตามคติความเชื่อต้อนรับชีวิตที่ดีขึ้นในวันปีใหม่

ในภาคอีสานนิยมใช้ “บั้งแก๊ส” แสดงประกอบงานแห่บั้งไฟ หลายพื้นที่จุดสะโป้ก-ไอ้ตูม-บั้งแก๊สในคืนวันลอยกระทง

เสียงตึ้มๆปึ้มๆ ย้ำเตือนให้ทราบว่าสิ่งเก่าๆได้ผ่านไป สิ่งใหม่ๆย่างเข้ามา เตรียมตัวเตรียมใจรับความสุข ความดีงาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน