กลายเป็นดราม่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ขบวนวีไอพีขับสวนเลน แม้ว่าจะมีประเด็นเรื่องความไม่ชัดเจนช่องทางจราจรวันเวย์ แต่สุดท้ายมีการสั่งให้สอบสวนประเด็นดังกล่าว และย้าย พันตำรวจโท เป็นผู้ขับขี่ให้ขาดจากต้นสังกัดก่อนระหว่างรอผลการสอบสวน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การใช้รถตำรวจนำขบวนของบุคคลสำคัญนั้น เป็นสิ่งที่มีระบุเอาไว้ ว่า ใครบ้างที่จะสามารถขอใช้รถนำขบวนได้บ้าง ภายใต้หลักเกณฑ์ของ สำนักงานคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) และผ่านการเห็นชอบของ ครม.ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2540

โดยผู้ที่สามารถใช้ตำรวจนำขบวนได้ มีอยู่ 5 กลุ่มด้วยกัน

1.บุคคลสำคัญ และนักการเมืองตำแหน่ง อาทิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ประธานองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา รัฐบุรุษ องคมนตรี สมเด็จพระสังฆราช รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือรัฐมนตรีว่าการทบวง

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายบริหาร และผู้แทนพระองค์ พระราชอาคันตุกะ ผู้นำทางศาสนาอื่น สมเด็จพระราชาคณะ ประมุขรัฐต่างประเทศ ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ และเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ข้าราชการประจำตั้งแต่ปลัดขึ้นไป

2.บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญและเมื่อผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วยังคงให้ใช้รถตำรวจนำขบวนได้ คือ นายกรัฐมนตรี

3.การใช้รถนำขบวนของรัฐมนตรี จะพิจารณาตามภารกิจทางราชการเป็นกรณีไป โดยระบุว่า ไม่ควรใช้ในภารกิจส่วนตัว

4.การใช้รถนำขบวนในการรับรองแขกต่างประเทศ สามารถใช้รถนำขบวนได้ ต้องมีตำแหน่งเทียบเท่ากับตำแหน่งของผู้มีสิทธิใช้รถนำขบวน ทั้งการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ (มติคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2540)

5.ประธานวุฒิสภา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นบุคคลสำคัญที่สามารถใช้รถตำรวจนำขบวนได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน