งดดราม่า! รฟท. ปล่อยคลิปแจง รถไฟญี่ปุ่น 40 ยังแจ๋ว ย้ำของบริจาคคุ้มค่า สร้างรายได้ ทั้งยังประหยัดงบ เตรียมปรับปรุง-ดัดแปลง วิ่งกลางปีหน้า

กรณี การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รับขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 183 จำนวน 17 คัน ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว ณ ศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อมาเกิดการตั้งคำถามในการรับบริจาครถไฟในครั้งนี้เป็นอย่างมาก

โดยเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย โพสต์คลิปวิดีโอ ระบุถึงสาเหตุในการรับบริจาครถไฟในครั้งนี้ สรุปได้ว่า รถไฟที่ได้มาเป็นรถไฟ 40 ยังแจ๋ว ที่แม้ถูกปลดระวาง ในปี พ.ศ.2559 แต่ได้รับการบำรุงรักษาด้วยมาตรฐานที่ดีของญี่ปุ่น สามารถนำมาปรับปรุงพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนที่มีคนสงสัยว่าให้ฟรีทำไมต้องมีค่าใช้จ่ายนั้น คลิป ระบุว่า 42.5 ล้านบาท คือค่าขนย้าย รวมทั้งภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับข้อสงสัยว่ารถไฟญี่ปุ่น จะมาวิ่งรางเมืองไทยได้อย่างไรนั้น จริงอยู่ว่ารถไฟญี่ปุ่นมีขนาดความกว้างของเพลาล้อ 1.067 เมตร ในขณะที่รางรถไฟไทย มีความกว้างเพียง 1 เมตร ซึ่งแม้จะต่างแต่ถือเป็นรางมาตรฐานเดียวกัน การนำมาปรับฐานล้อ ด้วยเครื่องอัดไฮดรอลิก ก็สมารถนำมาออกให้บริการได้ทันที

ก่อนหน้านี้ รฟท.เคยได้รับรถไฟจากญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย มาแล้ว ซึ่งได้นำมาปรับปรุงดัดแปลงเป็นรถโดยสาร เปิดให้บริการแก่ประชาชนสามารถสร้างรายได้ และส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ในส่วนความคุ้มค่านั้น ที่ผ่านมา รฟท. ได้นำรถดีเซลราง และรถโดยสารจากต่างประเทศ มาปรับปรุง ดัดแปลง เป็นรถจักรเฉพาะเพื่อใช้ในกิจการรถไฟ อาทิเช่น ตู้ SRT และให้บริการประชาชนในรูปแบบท่องเที่ยว ถือเป็นขบวนรถไฟที่มีผู้โดยสารจองใช้มากที่สุด เพราะมีความสวยงาม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบคัน

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับการซื้อใหม่แล้ว การปรับปรุงรถที่ได้จากการบริจาคสามารถช่วยประหยัด งบประมาณได้เป็นจำนวนมาก โดยรถไฟทั้ง 17 คันที่ได้รับมาล่าสุดนี้ จะได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมตามมาตรฐานความปลอดภัยของ รฟท. โดยคาดว่าในกลางปี 2565 จะสามารถทยอยออกมารับส่งประชาชนได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน