ทวิตเตอร์เผย รัฐบาลทั่วโลกทำสถิติใหม่ ส่งคำร้องลบเนื้อหาทิ้งสูงสุด-ย้ำถือเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้งาน

AFP

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า โซเชียลมีเดียทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า รัฐบาลจากหลายประเทศทั่วโลกได้ขอให้ทวิตเตอร์ ลบเนื้อหาออกจากบัญชีผู้ใช้ ในระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ของปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา

ในรายงานด้านความโปร่งใสฉบับล่าสุดของทวิตเตอร์ ระบุว่า ในระหว่างเดือน มกราคม-มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ยื่นคำร้องทางกฎหมายถึง 43,387 ครั้ง เพื่อขอให้ทวิตเตอร์ทำการลบเนื้อหาออกจากบัญชี 196,878 บัญชีผู้ใช้งาน

The Twitter logo is shown on smartphone in front of a displayed stock graph in central Bosnian town of Zenica, Bosnia and Herzegovina, in this April 29, 2015 photo illustration. REUTERS/Dado Ruvic/File Photo

ทวิตเตอร์เผยว่า นับตั้งแต่ที่ทวิตเตอร์เริ่มรายงานความโปร่งใสครั้งแรกในปีพ.ศ. 2555 บัญชีผู้ใช้ที่ถูกกำหนดและจำนวนการยื่นคำร้องทางกฎหมายระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน ของปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมาถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ คำร้องทางกฎหมายเหล่านี้ ร้อยละ 95 มาจากเพียง 5 ประเทศ โดยส่วนใหญ่มาจาก ญี่ปุ่น รองลงมาคือรัสเซีย ตุรกี อินเดีย และเกาหลีใต้ ทั้งนี้เว็บไซต์ทวิตเตอร์ถูกกีดกันการเข้าถึงในหลายประเทศ เช่น จีนและเกาหลีเหนือ

ทวิตเตอร์ ระบุว่า จากคำร้องดังกล่าว ทวิตเตอร์ได้ดำเนินการ ระงับการเข้าถึงเนื้อหาในบางประเทศ รวมถึง กำหนดให้เจ้าของบัญชีผู้ใช้ลบเนื้อหาที่รายงานบางส่วนหรือทั้งหมดออกโดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ของคำร้องทางกฎหมายที่รับเข้ามา

ซินีด แมคสวีนีย์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะและองค์กรการกุศลโลกของทวิตเตอร์

ซินีด แมคสวีนีย์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะและองค์กรการกุศลโลกของทวิตเตอร์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “ทวิตเตอร์กำลังเผชิญกับความท้าทายแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกพยายามแทรกแซงและลบเนื้อหามากขึ้น ภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้งานนี้ เป็นแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ซึ่งต้องให้ความสนใจอย่างเต็มที่”

ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียรายใหญ่ต้องเผชิญกับการความท้าทายและการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลเกี่ยวกับเนื้อหาที่โซเชียลมีเดียจะอนุญาตให้ปรากฏบนแพลตฟอร์ม โดยปีที่ผ่านมาทวิตเตอร์ ต้องรับมืออย่างหนักจากรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น อินเดีย ไนจีเรีย ในเรื่องการควบคุมเนื้อหาและกฎระเบียบ

Reuters

นอกจากนี้ทวิตเตอร์ ยังต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ เกี่ยวกับแนวทางที่ทวิตเตอร์รับมือกับข่าวลวง และ การใช้ภาษาที่รุนแรง ทวิตเตอร์ระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมารัฐบาลทั่วโลกมีการส่งคำร้องทางกฎหมายให้ลบเนื้อหาที่โพสต์โดยนักข่าวและสำนักข่าว แต่ในปัจจุบันคำร้องทางกฎหมายเหล่านี้ลดลงไปร้อยละ 14 ในช่วงระยะเวลาการรายงานล่าสุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน