สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนถนน ทางม้าลาย คือสิทธิของเรา ขอให้เคส ‘หมอกระต่าย’ เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย พึงระลึกคนข้ามถนน คือคนในครอบครัว

จากกรณีการเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ประสบอุบัติเหตุโดนรถจักรยานยนต์พุ่งชนขณะข้าม ทางม้าลาย ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของผู้เดินเท้า ถูกพูดถึงในสังคมอย่างกว้างขวางว่าเหตุใดอุบัติเหตุลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง และทางแก้ปัญหานี้เป็นอย่างไร

นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ผู้พิการเพราะโดนคนเมาสุราขับรถชน ขณะจอดติดไฟแดง ทำให้ต้องนั่งรถเข็นตลอดชีวิต กล่าวว่า อยากให้กรณี ‘หมอกระต่าย’ เป็นครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไป ตนว่าสังคมคงไม่ตื่นตัวขนาดนี้ เพราะมันเกิดทุกวันในบ้านเรา หมอกระต่ายเป็นเหมือนนางฟ้า ที่ทิ้งสิ่งหนึ่งให้สังคมตระหนักต่อ ให้คนใช้ถนนมีจิตสำนึกว่า ต่อให้ถนนโล่งแค่ไหน เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้คิดว่าจะมีคนข้าม

“อย่าบอกว่าควรจะติดสัญญาณไฟให้คนข้ามถนนหรือไม่ มันต้องมี เพราะทุกประเทศที่เจริญแล้วมีทุกที่ ไม่ว่าจะถนนเล็กใหญ่ ซอยเล็กๆ ยังมีให้ เขาไม่คิดถึงว่าเป็นมูลค่าเท่าไหร่ จะแพงแค่ไหน แต่ต้องเอาความปลอดภัยที่เป็นมูลค่ามากที่สุด เพื่อให้คนไทยที่จะข้ามถนน” นายเจษฎา กล่าว

ขณะที่ น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักการสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาของอุบัติเหตุที่เกิดบนทางม้าลาย มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1.ทางม้าลายที่มีการตีเส้นไม่ชัดเจนเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีการปรับปรุงแล้วบางส่วน หรือมีไฟส่องสว่างไม่เพียงพอในเวลากลางคืน และควรมีเส้นชะลอความเร็ว เช่น ลูกระนาด หรือเส้นขอบหยัก กรณีที่พบมากคือ รถจอดให้คนข้ามแต่มีผู้ขับขี่แซงขวาขึ้นมา

2.พฤติกรรมคนขับขี่ เมื่อคนขับขี่เห็นทางม้าลายต้องมีจิตสำนึกคิดไว้เสมอว่ามีคนพร้อมที่จะข้ามทางม้าลาย เป็นสิทธิที่เขาควรจะได้รับความปลอดภัย และคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ก็ต้องคอยระมัดระวัง เพราะอาจมีเหตุสุดวิสัยที่พร้อมจะเกิดได้ตลอดเวลา

สสส.มีศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน รวบรวมข้อมูลมาประกอบการแก้ไขปัญหาบนท้องถนน พบว่ามีผู้ที่เสียชีวิตจากการข้ามทางม้าลายจำนวนมากในประเทศไทย การบังคับใช้กฎหมายจึงสำคัญ เพราะที่ผ่านมาอาจไม่มีความเข้มข้นเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีคนละเลยการเสียค่าปรับจากใบสั่งค่อนข้างเยอะ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนเอง ควรนึกว่าหากคนข้ามถนนเป็นคนในครอบครัวตัวเองจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นควรต้องชะลอความเร็วไว้ก่อน ไม่ให้กลับมาเสียใจภายหลัง เพราะทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทย ทั้งนี้ ประเภทของพาหนะที่ใช้กันบนท้องถนนมากสุดในประเทศไทยคือรถจักรยานยนต์ และยังเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งล้มเองจากสภาพถนนและชนเข้ากับรถคนอื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน