แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผย วิธีรักษาโควิด-วัณโรคในเวลาเดียวกัน แม้รักษาหายขาด แต่เสี่ยงปอดแฟบถาวร

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึง การรักษา โรคโควิด ที่ผู้ป่วยติดเชื้อโรคทางเดินหายใจในเวลาเดียวกัน โดยระบุว่า

“ผู้ป่วยชายอายุ 75 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มียาประจำ ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า 2 เข็มและเข็มกระตุ้นไฟเซอร์ 1 เข็ม เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เริ่มมีไข้ต่ำ ๆ ไอ เสมหะสีขาว ไม่เบื่ออาหาร แต่น้ำหนักไม่ลด”

ภาพจาก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

“เมื่อตรวจ ATK ที่บ้านในวันที่ 20 มีนาคมให้ผลเป็นบวก โดยไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านพร้อมตรวจ RT-PCR ยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่นั่นให้ยาฟาวิพิราเวียร์กิน 10 วัน ยังไอต่อเนื่องและมีเสมหะ โรงพยาบาลใกล้บ้านแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินหายใจ”

“วันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ตรวจร่างกาย ไม่มีไข้ ฟังปอดปกติ วัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วปกติ เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวที่ปอดซ้ายด้านบนและปอดขวาด้านล่าง ลักษณะคล้ายวัณโรค ส่งเสมหะตรวจย้อมเชื้อหาวัณโรคให้ผลบวก ยืนยันโดยทำ PCR พบเชื้อวัณโรคไม่ดื้อยาไรแฟมพิซิน ส่งเสมหะเพาะเชื้อวัณโรคและตรวจหาความไวของเชื้อวัณโรคต่อยา”

“เริ่มให้ยารักษาวัณโรค 4 ขนาน หลังกินยารักษาวัณโรค 1 สัปดาห์ อาการไอดีขึ้น ให้ยารักษาวัณโรคต่อไป รอผลเพาะเชื้อและความไวของเชื้อต่อยาวัณโรค ผู้ป่วยรายนี้คงเป็นวัณโรคอยู่แล้วโดยที่ตัวเองไม่ทราบมาก่อน มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นวัณโรค ตรวจพบวัณโรคปอดหลังติดเชื้อไวรัสโควิด 19”

นอกจากนี้ นพ.มนูญ เผยว่า “คนป่วยเป็นวัณโรคปอด ถึงแม้จะได้ยารักษาวัณโรคจนครบและหายขาด ผู้ป่วยบางคนอาจต้องอยู่กับผลข้างเคียงระยะยาวตลอดชีวิตจากการที่เชื้อวัณโรคทำลายหลอดลมและเนื้อปอดอย่างถาวร บางคนถึงขั้นหลอดลมใหญ่ตีบตัน ทำให้ปอดแฟบเกือบทั้งข้างตลอดชีวิต








Advertisement

เมื่อร่างกายมีภาวะอ่อนแอ อาจเกิดการกระตุ้นให้โรคแอบซ่อนเกิดขึ้นมาได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง หรือหยุดยาก่อนกำหนดครบระยะรักษา หรือได้รับการรักษาไม่สม่ำเสมออาจส่งผลให้เชื้อวัณโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ทนต่อยาที่เคยรักษาและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น กลายเป็นเชื้อวัณโรคดื้อยาได้


ขอบคุณที่มาจาก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน