“สาวเฟิร์ส”เจ้าของคลิปขายครีมก้นขาว ที่ไลฟ์ทาครีมโชว์ที่ก้นตัวเองโผล่มอบตัว ตร.ปคบ. ถูกแจ้ง 3 ข้อหา แสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์บนฉลากไม่ครบถ้วน โฆษณาเกินจริง และนำเข้าภาพลามกอนาจาร ก่อนนำตัวส่งศาลฟ้องคดีฉลากสินค้าไม่ถูกต้อง เจ้าตัวรับสารภาพถูกศาลสั่งปรับ 3 พัน ยังเหลือข้อหาโฆษณาเกินจริงและพ.ร.บ.คอมพ์ อยู่ระหว่างสรุปสำนวน อย.ตรวจสอบสินค้าที่ขายมีสารเคมีเป็นอันตรายหรือไม่ ชี้หญิงสาวเคยถูกจับรีวิวขาย “สบู่จิ๋มหนู” มาแล้ว ครั้งนั้นถูกปรับ 3 หมื่น ด้านเจ้าตัวขอโทษ ครวญเป็นซิงเกิลมัม ต้องเลี้ยงดูลูกกับแม่ ตร.ชี้ช่องโฆษณายังไงไม่ให้ผิด

จากกรณีโลกออนไลน์แชร์คลิปวิดีโอใน เฟซบุ๊กเป็นหญิงสาวหน้าตาดี สาธิตครีมยี่ห้อหนึ่ง โดยการดึงกางเกงลงจนเห็นบั้นท้ายอย่างชัดเจน จากนั้นก็ทาครีมลงไป โดยแม่ค้ารายดังกล่าวพูดโฆษณาสรรพคุณของสินค้าว่า จะทำให้ผิวขาว ทาตรงไหนก็ได้ แต่เน้นว่าตัวเองได้ทาก้นจนทำให้ก้นขาว อย่างไรก็ตามคลิปดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นการขายสินค้าที่หมิ่นเหม่ลักษณะจะเข้าข่ายการกระทำอนาจารซึ่งไม่สมควร ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 ม.ค. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เชิญตัวน.ส.นิษฐกานต์ นันทสุธีพัฒน์ หรือเฟิร์ส เจ้าของผลิตภัณฑ์ทาก้นขาว เข้าให้ปากคำ พร้อมนำผลิตภัณฑ์ครีมมาให้เจ้าหน้าที่สำนักงานอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบหลังถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชี่ยลเกี่ยวกับการไลฟ์สดขายสินค้าพร้อมโชว์ทาครีมบริเวณก้นให้ลูกค้าดู และการตั้งข้อสังเกตว่าครีมดังกล่าวอาจมีสารอันตรายผสมอยู่ด้วยหรือไม่

น.ส.นิษฐกานต์เปิดเผยว่า การโพสต์คลิปดังกล่าวเป็นการทำงานอย่างหนึ่ง เพื่อให้เห็นสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ และเป็นการเพิ่มยอดขาย ซึ่งทำมากว่า 1 ปีแล้ว และยืนยันผลิตภัณฑ์มี อย.ถูกต้อง ไม่ได้แอบอ้างสรรพคุณเกินจริง ซึ่งต้องใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไม่ได้มีเจตนาจะโชว์อนาจาร หรือกระทำการยั่วยวนแต่อย่างใด อีกทั้งได้ปรึกษาทนายความแล้วว่าการถ่ายคลิปโชว์ก้นดังกล่าวโป๊แต่ยังไม่เข้าข่ายอนาจาร เพราะยังไม่เห็นของลับ

นอกจากนี้เจ้าตัวยังกล่าวขอโทษสังคมแต่ก็ขอให้สังคมเห็นใจ เพราะเป็นงานอย่างหนึ่งที่ต้องทำหาเลี้ยงครอบครัว ทำงานคนเดียวเป็นซิงเกิลมัม ดูแลแม่และลูกสาวที่ยังเล็ก ซึ่งเข้าใจตนดีว่าสิ่งที่ตนทำเป็นการทำงาน

ขณะที่ พ.ต.อ.ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยว่า เบื้องต้นเข้าข่ายความผิดแสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์บนฉลากไม่ครบถ้วน และโฆษณาเกินจริง ส่วนผลิตภัณฑ์จะมีสารอันตรายหรือไม่เจ้าหน้าที่ อย.จะส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แยกองค์ประกอบของสารเคมีในผลิตภัณฑ์ก่อน หากพบสารต้องห้ามก็จะแจ้งข้อหาต่อไป

ส่วนข้อหานำสื่อลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อยู่ระหว่างรอให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. โอนเรื่องมาให้ ปคบ. เพื่อดำเนินต่อตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ต่อมาเวลา 16.30 น. พ.ต.ท.สง่า เอี่ยมงาม รอง ผกก. (สอบสวน) กก.4 บก.ปคบ. เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนพาตัวน.ส. นิษฐกานต์ไปฟ้องศาลแขวงดอนเมือง ดำเนินคดีความผิดพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ข้อหาขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ผู้ต้องหารับสารภาพ ศาลตัดสินลงโทษปรับเป็นเงิน 3,000 บาท ก่อนจะควบคุมตัวผู้ต้องหากลับมาที่ บก.ปคบ. และได้แจ้งอีกข้อหา คือ โฆษณาเกินจริง กับ ข้อหาความผิด ม.14 (4) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นจะปล่อยตัวกลับโดยไม่มีเงื่อนไข ก่อนจะนัดนำตัวส่งฟ้องอีกครั้ง

พ.ต.ท.สง่าฝากเตือนบรรดาผู้ค้าทางออนไลน์ว่า การแสดงรีวิวสินค้าขอให้เหมาะสมกับสังคมไทยเราด้วย ให้คำนึงถึงเรื่องศีลธรรมอันดีงาม ไม่ใช่นึกอยากจะรีวิวหรืออวดอ้างสรรพคุณโฆษณาสินค้ากันแบบเลยเถิด คาบลูกคาบดอก คิดว่ากฎหมายเอาผิดไม่ได้ แต่ก็จะไปโดนสังคมออนไลน์กระหน่ำตำหนิได้ เช่น กรณีครีมก้นขาวรายนี้ สำหรับผู้บริโภคก็มีข้อแนะนำเลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์ ให้ตรวจดูรายละเอียดในฉลาก ดูผู้ผลิต รายครีมก้นขาวยี่ห้อนี้มีแต่ชื่อผู้ผลิต ไม่มีสถานที่ตั้งที่ผลิต ก็ถือว่ามีความผิด แจ้งข้อมูลไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพราะหากเกิดความผิดพลาดบกพร่องในสินค้านั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่สามารถไปตามจับผู้ผลิตมาดำเนินคดีได้ การจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ผลิตก็ทำไม่ได้ สังเกตง่ายๆ การติดฉลากไม่ถูกต้องเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงตรวจสอบได้ เป็นการปิดบังตัวเอง แสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ปิดฉลากไม่ชัดเจนน่าจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ ผู้บริโภคจึงไม่ควรซื้อมาใช้ การแอบอ้างสรรพคุณของครีมตัวนี้คือใช้คำว่าใช้ทาก้นแล้วขาว ซึ่งเป็นความผิด คำว่า “ขาว” ใช้ไม่ได้เลย แต่ถ้าใช้ว่า “ใช้แล้วใสกระจ่าง” ถึงจะไม่ผิด

วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวกรณีดังกล่าวว่า จากการติดตามตรวจสอบของ อย.พบว่าเครื่องสำอางดังกล่าวมีการโฆษณามีชื่อว่า “เคลียร์ ดาร์ก บอดี้โลชั่น ภายใต้ชื่อการค้าชม นิต้า” เลขที่รับแจ้ง 10-1-5722327 ซึ่งจัดเป็นเครื่องสำอางบำรุงผิวกายในสูตรของสารที่เป็น whithening ที่มีการจดแจ้งกับ อย. ดังนั้น ต้องขยายผลตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีการแสดงข้อความถูกต้อง ครบถ้วน เป็นไปตามที่ขอกับ อย.หรือไม่ ทั้งตัวฉลาก รวมถึงสารที่ใช้ต่างๆ ว่ามีการใส่สารต้องห้ามหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การกระทำในเบื้องต้นมีความผิดเรื่องการโฆษณาโอ้อวดว่าสามารถเปลี่ยนจากก้นดำเป็นก้นขาว ซึ่งโดยหลักแล้วไม่สามารถเป็นไปได้ และไม่เคยอนุญาตให้มีการโฆษณาในลักษณะนี้ ซึ่งถือเป็นการทำผิดชัดเจนเรื่องการโฆษณาที่ไม่อนุญาตให้โอ้อวดเกินจริง และขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม จึงต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้จากการตรวจสอบยังพบด้วยว่า เจ้าของเฟซบุ๊กที่ ชื่อน.ส.นิษฐกานต์ เคยมีการโฆษณาในลักษณะนี้แต่เป็นการรีวิวขาย “สบู่จิ๋มหนู” เจ้าของแบรนด์ Lovely First”s First ซึ่งเคยถูกดำเนินคดีไปแล้วเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรา 41 ของพ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 จึงถูกเปรียบเทียบปรับไปแล้วเป็นเงิน 30,000 บาท

ภก.สมชายกล่าวต่อว่า ต่อจากนี้ อย.จะร่วมกับตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดว่ามีการจดแจ้งได้ถูกต้องหรือไม่ ขณะนี้กำลังประสานกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้มาช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่ามีสารต้องห้ามหรือไม่ คาดว่าน่าจะทราบผลภายใน 1 เดือน และที่สำคัญคือสบู่หรือผลิตภัณฑ์ช่วยกระชับช่องคลอดนั้นต้องยิ่งระมัดระวัง เพราะตรงจุดซ่อนเร้นเป็นจุดที่บอบบาง และในเรื่องของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้น อย.ไม่เคยอนุญาตให้นำไปใช้ในเรื่องกระชับจุดซ่อนเร้นเลย ที่มีการขายกันบนโลกอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นการขายที่โอ้อวดเกินจริง ผิดกฎหมายด้านการโฆษณาทั้งหมด หากพบต้องเพิกถอนการจดแจ้งว่าเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง

“ขอเตือนประชาชนว่าให้ซื้อเครื่องสำอางที่มีแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ เพราะหากซื้อเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน มีส่วนผสมของปรอทมาใช้ก็จะเป็นอันตรายกับร่างกาย นอกจากนี้หากไปใช้กับจุดซ่อนเร้นยิ่งอันตรายมากขึ้น ทั้งเกิดการระคายเคือง อักเสบ เป็นแผล เป็นต้น ปัจจุบันพบการขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยเฉพาะในเฟซบุ๊กจำนวนมาก ซึ่ง อย.มีทีมคอยตรวจสอบและมีมาตรการทางอาญามาควบคุม แต่ขอย้ำว่าผลิตภัณฑ์อาจทำให้ผิวจางได้ แต่ไม่ทำให้ขาวขึ้น โดยการขาวจะเป็นแค่ชั่วคราว ดังนั้น การโฆษณาที่ระบุว่ารักษาฝ้าหายขาดใน 3 วัน 7 วันนั้นเป็นไปไม่ได้เหมือนกัน” ภก.สมชายกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน