ปัญหาฝุ่นควันและมลภาวะทางอากาศ นอกจากจะสร้างผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ ยังคงส่งผลต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาว ซึ่งจังหวัดลำปาง ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่มีปัญหาเรื่องนี้ในตอนเหนือของประเทศไทย

การนี้ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงร่วมกับเครือข่ายลดการเผาในที่โล่ง เพื่อลดการเผาวัสดุการเกษตรในพื้นที่การเพาะปลูกต่างๆ

โดยมีนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลําปาง และนายชาติวุฒิ วังวล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมเป็นพยาน ก่อนเดินทางไปชุมชนต้นแบบใน อ.แม่ทะ ชมการสาธิตทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยกลุ่มฮักน้ำจาง กลุ่มฮักกรีน

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เผยว่าจังหวัดลำปางถือเป็นพื้นที่ที่มีรอยเผาสูงมาก เพราะเกษตรกรจะเผาวัสดุทางการเกษตรเพราะเป็นวิธีที่ง่าย ซึ่งสร้างมลพิษสูง แต่ตามจริงวัสดุเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย สสส.จึงยินดีที่มีส่วนร่วมในการสร้างทางเลือก เพื่อลดการเผาให้ชุมชนปลอดภัย ให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้

และยังกล่าวถึงฝุ่น PM2.5 ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับเกษตรกร จึงต้องทำให้เขาเห็นประโยชน์จากการลดการเผา ทั้งฟางข้าวและชานอ้อย กิ่งลำไยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น โดย จ.ลำปาง ถือเป็นจังหวัดนำร่องของโครงการ ที่เราตั้งเป้าหมายจะขยายไปยังพื้นที่อีก 8 จังหวัดของภาคเหนือที่มีปัญหามลภาวะฝุ่น ซึ่งจะมีฝุ่นหนักช่วงปลายปีในเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ผู้คนเจ็บป่วยจากโรคภูมิแพ้ต่างๆ คัน หายใจติดขัด และเยื้อบุตาอักเสบ

ด้าน นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเผยว่า กรมควบคุมมลพิษได้วางแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและฝุ่นละออง หลังติดตามสถานการณ์ไฟป่าใน 17 จังหวัดภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลประสบความสำเร็จในการลดปัญหา จากการประเมินข้อมูลเชิงสถิติย้อนหลังพบว่าพื้นที่การเผาใน 2 ปีก่อนลดลงถึงร้อยละ 60 โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

โดยปัญหาหลักของพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเกิดจากการเผาวัสดุทางการเกษตรในที่โล่ง ซึ่งในอดีตได้มีนโยบายแก้ไขเฉพาะหน้า คือห้ามเผาขยะเป็นเวลา 30-60 วัน แต่ในวันนี้นอกจากเราจะรณรงค์ห้ามไม่ให้เผาขยะ ยังได้ร่วมมือกับ สสส.,ซีเมนต์ไทย และธกส. เพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้ในพื้นที่ ที่จะส่งผลในระยะยาวมากกว่า สร้างโมเดลให้ชุมชนทำปุ๋ยหรือก้อนเชื้อเพลิง

ด้าน นายเปรมศักดิ์ สุริวงค์ใย ตัวแทนกลุ่มฮักกรีน ฮักน้ำจาง เผยว่า ปัญหาฝุ่นในชุมชนมาจากการเผา ซึ่งในอดีต ช่วงเดือนนี้ถึงกลางปีหน้าจะมีการเผาเยอะมาก แต่พอเราทำปุ๋ย ก็จะช่วยลดการเผา เมื่อชาวบ้านเห็นคุณค่าของเศษอินทรีย์วัตถุในแปลงการเกษตรตัวเองว่ามันสามารถเพิ่มมูลค่าได้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย

และสำหรับฟางต่างๆ ที่จะถูกนำไปใช้ตามโครงการเครือข่ายลดเผาในที่โล่ง จะนำมาใช้คลุมแปลง หรือนำไปเป็นอาหารสัตว์และนำมูลสัตว์มาทำเป็นปุ๋ยต่อ ช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยกลุ่มเรามี 83 ครัวเรือน จากที่แรกเริ่มเมื่อ 15 ปีก่อนเพียง 5 ครัวเรือน และหมู่บ้านอื่นก็เริ่มให้ความสนใจ ทั้งนี้ชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับปากท้องก่อน หากพูดคุยถึงเรื่องฝุ่นหรือสิ่งแวดล้อมเขาจะไม่เข้าใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน