คำผกา ลั่นครูกล้อนผมนักเรียน มีปมด้อย อยากแสดงอำนาจเหนือกว่า ชี้อาชีพครูต้องใช้ความรัก ความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง ถ้าไม่มีให้ไปทำอาชีพอื่น

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 10 ก.พ. 2566 ข่าวสดออนไลน์ จัดรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ” ดำเนินรายการโดย อั๋น ภูวนาท คุนผลิน และแขก ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา ในหัวข้อ “แฉครูโรงเรียนดัง ควงกรรไกร-กล้อนผมนร. ระเบียบกระทรวงไร้ความหมาย”

อั๋น กล่าวว่า เรื่องนี้จะจบ โรงเรียนต้องออกมาขอโทษ แต่นี่ทั้ง ผอ. ทั้งครู ไม่รู้สึกผิดเลย ยังไม่รู้ตัวว่าทำอะไร เขาชินกับการปฏิบัติแบบนี้มาทั้งชีวิต เขาเลยชินกับอำนาจนิยมที่ครอบกันไว้ว่าต้องทำตามนี้ ทำตามระบบ เมื่อสั่งแล้วทุกคนต้องทำตามกันหมด ทุกอย่างก็จะสงบเรียบร้อย เขาเลยแก้ปัญหาความไม่สงบด้วยวิธีการสั่งและครอบด้วยอำนาจ วันนี้นักเรียนไม่มีทางสู้ เพราะเขาอยู่ตรงนั้นและต้องยอมจำนน เขาไม่มีทางเลือกก็ต้องยอมตัดผม กลัวจะไม่มีที่เรียน

อั๋น กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผอ.ยังมีคำสั่งว่าอย่าทำให้โรงเรียนเสียหาย ห้ามให้สัมภาษณ์ ล่าสุดมีแจกสคริปต์ว่าจะบอกสื่อมวลชนอย่างไร มีคำสั่งห้ามโพสต์ผ่านสื่อออนไลน์ นี่คือการจำกัดสิทธิเสรีภาพในทุกรูปแบบ แล้วเขายังไม่รู้ตัวว่านี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา คุณมั่นใจว่าสั่งแบบนี้แล้วคุณซ่อนปัญหาไว้ใต้พรมได้ มันเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบกดทับแล้วหลอกตัวเองและภาพที่คนมองเห็นว่าสงบ ทุกคนตัดผมเหมือนกันหมด ยอมทำตามที่ตัวเองสั่ง ทุกอย่างสงบ มีระเบียบ แก้ปัญหาได้แล้ว

อั๋น กล่าวอีกว่า ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็บอกว่าสิ่งที่ครูทำนั้นผิด จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบว่าผิดจริงหรือไม่ ถ้าผิดจริงแล้วครูต้องรับผิดชอบอย่างไร นักเรียนถูกตัดผมไปแล้ว เสียความรู้สึกไปแล้ว เสียความมั่นใจ จะต้องพิจารณากันกี่เดือนก็ไม่มีความชัดเจน

คำ ผกา กล่าวต่อว่า เขาเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ คือคนประเภทเดียวกัน ฉันคือคนที่หวังดี รักษากฎระเบียบ คือผู้ใหญ่ กำลังรักษาโครงสร้างทางอำนาจอย่างที่ควรจะเป็น กำลังรักษาสถานภาพของสังคมนี้ ใครมีสิทธิ์พูด ใครไม่มีสิทธิ์พูด ใครมีสิทธิ์บอกว่าคุณควรจะทำผมทรงอะไร ใครไม่มีสิทธิ์ที่จะหือ ใครมีสิทธิ์ที่จะนั่งนิ่งๆ รับฟังคำสั่งแล้วปฏิบัติตาม ฉันกำลังรักษาระเบียบของโลกเอาไว้อยู่ พวกแกทำให้ระเบียบนี้มันปั่นป่วน กลับตาลปัตร

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ตนมองว่าระเบียบของการตัดผมบ้าๆ บอๆ ของโรงเรียนไทย มันไม่ใช่เรื่องทรงผมด้วยตัวของมันเอง เราไม่ถึงกับจะต่อต้านการมียูนิฟอร์ม แต่เราคิดว่ายูนิฟอร์มสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย เราอยากเห็นการปฏิบัติเรื่องเสื้อผ้า ทรงผม ในฐานะที่เป็นกฎ ระเบียบ หรือยูนิฟอร์ม ที่สอดคล้องกับชีวิตจริง ตอบโจทย์ความเป็นสากล เอื้ออำนวยให้นักเรียนได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จะไม่มีใครต่อต้านเรื่องกฎระเบียบหรือยูนิฟอร์ม

คำ ผกา กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องทรงผม ชั่วโมงโฮมรูมควรเป็นโอกาสที่โรงเรียนเชิญช่างตัดผมหรือสไตลิสต์มาคุย ว่าเส้นผมคนเอเชียแตกต่างจากฝรั่งอย่างไร ทรงผมที่เหมาะกับเราจะมีทรงผมอะไร หลังจากนั้นก็ให้นักเรียนไปแสวงหาทรงผมที่เหมาะกับตัวเอง โฮมรูมอีกเดือนหนึ่งอาจเชิญช่างแต่งหน้ามาสอนวิธีบำรุงผิว เราไม่ได้บอกว่าอย่ายุ่งกับร่างกายของนักเรียน เพราะตนเห็นด้วยกับการแต่งกายและการทำตัวให้สวยงามสมกับกาละและเทศะในทุกโอกาสและทุกกิจกรรม

คำ ผกา กล่าวอีกว่า ถ้านักเรียนอยากย้อมผม อยากทำสีผม จะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง ขอให้ไปยุ่งกับร่างกาย ทรงผม เสื้อผ้าของนักเรียนด้วยองค์ความรู้ แล้ววางเป้าหมายว่า นอกจากนักเรียนเรียนหนังสือได้ความรู้แล้ว ก็ได้เรียนรู้ว่าทำอย่างไรจะมีบุคลิกที่ดีขึ้น บุคลิกภาพเสริมในเรื่องการทำงานอย่างไร สิ่งเหล่านี้สำคัญต่อความน่าเชื่อถือของเราอย่างไร เราจะใช้เรื่องพวกนี้จัดวางตำแหน่งระหว่างความสัมพันธ์ทางอำนาจของเราและคนอื่นอย่างไร

คำ ผกา กล่าวต่อว่า ตนไม่เคยปฏิเสธว่าเสื้อผ้าหรือทรงผมไม่สำคัญ ตนไม่ซื้อวาทกรรมที่บอกว่าไม่ได้เอาทรงผมไปเรียนหนังสือ เรื่องนี้ไม่จริง ทรงผมเป็นอะไรที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตเรา ทรงผมพังชีวิตพัง เราใช้ทรงผมในการทำงาน ทำให้เราได้รับการยอมรับ

“สิ่งที่เป็นทรงผมภาคบังคับมันไม่ได้ถูกวางไว้เพื่อตอบสนองคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับชีวิตนักเรียน แต่เป็นเครื่องมือที่ครูเอาไว้แสดงอำนาจเหนือนักเรียน และเพื่อตอกย้ำว่า “กูมีอำนาจเหนือมึง” อำนาจเป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ครูจึงคิดว่าจะทำอย่างไรนักเรียนถึงจะเห็นอำนาจที่มีเหนือนักเรียน จึงหยิบกรรไกรมาตัด ทันใดนั้นอำนาจก็ปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์”

คำ ผกา กล่าวต่อว่า มันเป็นการใช้อำนาจที่ไม่มีประโยชน์กับใคร นอกจากเสริมอีโก้ของผู้มีอำนาจให้ใหญ่ขึ้น ไม่ต้องการจะสูญเสียมัน พอรู้สึกว่าอำนาจตัวเองเริ่มสั่นคลอน ก็เอากรรไกรมาแง้บผมนักเรียน เพราะภาพแห่งอำนาจเริ่มเลือนราง

“อาชีพครูไม่ใช่อาชีพแห่งการใช้อำนาจ อาชีพครูต้องใช้ความรักและความปรารถนาดีเป็นที่ตั้ง แล้วใครก็ตามที่ไม่พร้อมจะรักเพื่อนมนุษย์ ควรไปประกอบอาชีพอื่น อย่ามาเป็นครู สิ่งนี้ต้องเริ่มต้นจากวิชาศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ และกระทรวงศึกษาธิการ”

“กระทรวงที่มีมาเฟียมากที่สุด และมีระบอบอำนาจนิยมในหมู่ข้าราชการด้วยกันมากที่สุด คือ กระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้น ระบบโซตัสในข้าราชการกระทรวงก็ถูกส่งผ่านไปยัง ผอ. ครูที่อยู่ใต้บังคับบัญชา ผอ.และคนที่มีอำนาจน้อยที่สุดและซวยที่สุดก็คือนักเรียน”

คำ ผกา กล่าวอีกว่า เรื่องนี้มี 2 ประเด็น ตนไม่ปฏิเสธว่าทรงผม เสื้อผ้า และร่างกาย ไม่สำคัญ จำเป็นต้องได้รับการตัดแต่งอย่างเหมาะสม ครูที่ทำอะไรแบบนี้กับเด็ก ล้วนแต่มีปมด้อย ตนไม่อยากเหมารวม เพราะสมัยนี้มีครูที่เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วมีโรงเรียนที่เข้าใจเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ พยายามคุยกับเด็กด้วยความเมตตา ด้วยความรัก ด้วยความปรารถนาดี ถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ครูที่บ้าอำนาจและครูที่มีปมด้อยก็ยังเยอะ

“ที่เราเห็นในข่าวมันชัดเจนเลยว่าเป็นครูที่มีปมด้อย มีปัญหากับอีโก้ตัวเอง มีความไม่มั่นใจในอำนาจที่ตัวเองมี เลยมาสำแดงอำนาจต่อผู้ที่อ่อนแอกว่า และผู้ที่ไม่มีทางจะสู้กลับ คือนักเรียน ถ้าคุณต้องการให้นักเรียนไว้ผมสั้น คุณก็บอกให้เขาไปตัดผม แล้วหักคะแนนไปเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่การกล้อนผมเขา เมื่อเด็กกลัวโดนหักคะแนนความประพฤติ เขาก็ไปตัดเอง” คำผกา กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน