เปิดที่มา ‘จิ๊นลาบ’ คนเหนือกินมาแล้วกว่า 300 ปี เป็นอาหารชั้นสูง-ยอดนิยม ทั้งยังเป็นอาหารแห่งเทศกาล ที่ทุกบ้านต้องทำกินเพื่อเฉลิมฉลองเอาฤกษ์เอาชัย

เป็นอาหารยอดนิยมของคนภาคเหนือ สำหรับ ลาบ หรือ อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “จิ๊นลาบ” แปลตรงตัวว่า เนื้อสับ

โดย จิ๊น แปลว่า เนื้อสัตว์ ซึ่งจะเป็นเนื้ออะไรก็ได้ จิ๊นหมู คือเนื้อหมู จิ๊นงัว คือเนื้อวัว จิ๊นควาย คือเนื้อควาย จิ๊นฟาน คือเนื้อเก้งเนื้อในภาษาเหนือจึงไม่ได้แปลว่าเนื้อวัว-เนื้อควายแบบภาษาพูดของภาคกลาง

ส่วนลาบ แปลว่า การสับให้ละเอียด นับเป็นศัพท์ใหม่ เพราะในวรรณกรรมยุคโบราณใช้คำว่า “ฟัก” เสมอ

จิ๊นลาบ เป็นเมนูพื้นบ้านของคนล้านนามาแต่สมัยโบราณ นับเป็นอาหารชั้นสูงและเป็นอาหารยอดนิยม หากจะอนุมานตามประวัติการใช้เครื่องเทศที่เข้ามาในภูมิภาคนี้ คนล้านนาคงจะกินลาบมานานกว่า 300 ปี

ถ้าพูดถึงจิ๊นลาบ ลาบเมือง ลาบคั่ว ลาบเลือด ส่วนมากมักจะหมายถึงลาบหมู ถ้าเป็นลาบอย่างอื่นก็จะพูดว่า ลาบวัว ลาบควาย ลาบไก่ ลาบปลา ลาบฟาน เป็นต้น

การทำลาบแบบล้านนา เป็นการนำเนื้อหมูสดมาสับละเอียด ใส่เลือด เครื่องในต้มสุก ปรุงรสด้วยน้ำพริกผสมเครื่องเทศ

ตั้งแต่โบราณมาแล้ว คนล้านนานิยมกินลาบในงานมงคล เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน บวชลูกแก้ว เข้าพรรษา ออกพรรษา อาศัยคำพ้องเสียงของคำว่า ลาบ กับ ลาภ รวมทั้งนิยมกินลาบกันในครัวเรือนในวันขึ้นปีใหม่ หรือสงกรานต์ หรือปีใหม่เมือง เพื่อเอาเคล็ดของความมีโชคลาภ นับเป็นอาหารแห่งเทศกาล ที่ทุกบ้านต้องทำกินเพื่อเฉลิมฉลองเอาฤกษ์เอาชัยในช่วงขึ้นปีใหม่

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน