แจง ตำรับยาหมอหลวง “กัญชา” รักษา “คีลอยด์” ใช้สมุนไพรมีพิษร่วมหลายตัว ต้องปรุงโดยหมอ ชี้ถ้าใช้ต้อง “สะตุ” หรือฆ่าฤทธิ์ลงก่อน

วันที่ 29 มี.ค.2566 พท.คมสัน ทินกร ณ อยุธยา อาจารย์แพทย์แผนไทย คลินิกการแพทย์แผนไทย ม.ร.ว.สอาด ทินกร รองคณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก ม.รังสิต และที่ปรึกษาละคร “หมอหลวง” กล่าวถึงตำรับยารักษารอยแผลเป็นนูน (คีลอยด์) ซึ่งมีกัญชาเป็นส่วนประกอบ ว่า ตำรับยาแผนไทยที่ใช้จะเป็นการปรุงขึ้นมาสำหรับรักษาโรครายบุคคล หมายความว่าต่อให้เป็นโรคเดียวกัน แต่ก็รักษาไม่เหมือนกัน

เช่นเดียวกับ ตำรับยารักษาคีลอยด์ ต้องดูว่าแผลเป็นนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร ซึ่งส่วนประกอบในตำรับยาดังกล่าวเป็นยาอันตรายใช้ภายนอก เนื่องจากเป็นวัตถุมีพิษออกฤทธิ์หมด คนที่จะปรุงยานี้ได้ต้องเป็นแพทย์เวชกรรมเท่านั้น เพราะจะรู้วิธีเอาพิษออกเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในตำรับยา ชาวบ้านปรุงเองไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ได้รับอันตรายได้

พท.คมสัน กล่าวว่า ตำรับยารักษาคีลอยด์ที่นำเสนอในละคร เป็นเพียงขนานหนึ่งในหลายๆ ขนานที่ใช้ในการรักษาคีลอยด์เท่านั้น มีส่วนประกอบของจุนสี สรรพคุณใช้กัดล้างหัวฝี หัวหูด , ใบระงับ มีรสเย็นใช้เข้าตำรับยาเขียว ช่วยลดอาการอักเสบจากพิษไข้ , ใบต้นรัก ใช้ปรุงเป็นยาใช้ภายนอก รักษาแผลคุดทะราด เป็นต้น , ใบกัญชา มีรสเมาเบื่อ เข้าเครื่องยาที่ใช้ภายนอกได้ ช่วยขับพิษ ย้ำว่าสูตรยานี้ต้องปรุงโดยแพทย์เวชกรรมเท่านั้น

อย่างกัญชาขณะนี้ไทยมีการอนุญาตให้ใช้รักษาโรคได้ มีรสเมาเบื่อ และแสดงออกทางผิวหนังจึงนำมาใช้ในตำรับด้วย แต่ก่อนจะเอาใบกัญชา หรือส่วนใดๆ ของกัญชาไปเข้าตำรับยาต้อง “สะตุ” หรือฆ่าฤทธิ์ลงก่อน และใช้จุนสี ซึ่งมีพิษเช่นกัน นำไปหักล้างพิษกัญชา หรือทำให้ความเป็นกรด ด่างเสมอกัน เพื่อไม่ให้เกิดโทษจากยา

“การใช้ยาในทางการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะยากินนั้นไม่มีทางที่จะใช้ยาเพียงแต่เดียว เพราะถ้าใช้ตัวเดียวอาจจะระงับอาการเบื้องต้นได้ แต่เมื่อใช้ไปนานๆ ก็จะก่อโทษได้ ดังนั้นเราจึงใช้สมุนไพร 2 ชนิดมาปรุงยาเพื่อให้หักล้างกัน เพื่อให้ยานั้นมีความเสถียร และปลอดภัยขึ้น หมอไทยจึงใช้ตำรับยา ไม่ใช้สมุนไพรเดี่ยว” พท.คมสัน กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน