ปลัดพลังงาน ยืนยัน ไม่ได้ขึ้นค่าไฟ ชี้แพงเพราะเดือนนี้ร้อนที่สุด แอร์จึงทำงานหนัก กินไฟฟ้าหลายหน่วยเพิ่มมากขึ้น ค่าไฟจึงสูงขึ้นตาม

20 เม.ย. 2566 – นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์ราคาค่าไฟแพงช่วงหน้าร้อนว่า ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนพบว่าแพงขึ้นในเดือน เม.ย. เนื่องจากเดือน เม.ย. เป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ทำให้การใช้เครื่องปรับอากาศใช้กำลังไฟมากขึ้น ในการที่จะรักษาอุณหภูมิให้ปกติ

ยืนยันว่าค่าไฟฟ้า ไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากยังคงอยู่ในช่วงคิดอัตราค่าไฟฟ้าเดิมคือ 4.72 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มครัวเรือน (1 ม.ค. – 30 เม.ย.) ยังไม่มีการปรับอัตราค่าไฟฟ้า แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้าจะมีอัตราเริ่มต้นและปรับอัตราเพิ่มเป็นขั้นบันได

ประเภทผู้ใช้ครัวเรือน อัตราที่ยังไม่รวมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) และภาษีมูลค่าเพิ่ม การคิดค่าไฟเริ่มต้นตั้งแต่ 1-150 หน่วยอยู่ที่ 3.2484 บาทต่อหน่วย, 151-400 หน่วย อยู่ที่ 4.2218 บาทต่อหน่วย, เกิน 400 หน่วยอยู่ที่ 4.4217 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น แม้ประชาชนจะไฟฟ้าเปิดเวลาเท่าเดิม แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศทำงานหนัก จะกินไฟฟ้าหลายหน่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้อัตราเพิ่มสูงขึ้นจึงเกิดค่าไฟแพงขึ้น

สำหรับประเด็น อัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin : RM) ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นอีกสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงนั้น ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่ได้สูงถึง 50-60% โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จึงไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล ถูกคำนวณเป็นสำรองไฟฟ้าแต่ไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน