กรมแผนไทยลงตรวจถนนข้าวสาร เอาผิด 3 ร้าน ขายกัญชาไม่ขออนุญาต พักใช้อีก 2 ร้าน เหตุเปิดให้สูบในร้าน ไม่ทำรายงานข้อมูล ยันหนุนใช้ทางการแพทย์เท่านั้น ส่วนทางการแพทย์บางส่วนไม่ให้ใช้ เป็นความเห็นต่างด้านวิชาการ ขึ้นกับความรู้ ประสบการณ์

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม และ กทม. ลงพื้นที่ถนนข้าวสารและซอยรามบุตรี เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ตรวจร้านค้ากัญชา จำนวน 14 ร้าน พบว่า มีใบอนุญาตและทำตามเงื่อนไขใบอนุญาตถูกต้อง 9 ร้าน พักใช้ใบอนุญาต 2 ร้าน โดยร้านแรกพบเปิดให้สูบในร้าน และร้านที่สองไม่จัดทำรายงานข้อมูลไว้ นอกจากนี้ ยังดำเนินคดีเนื่องจากจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต 3 ร้าน โดยร้านแรกเป็นร้านจำหน่ายขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ได้รับการอนุญาต อีก 2 ร้าน เป็นหาบเร่ แผงลอย

“ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการกัญชาให้ทำตามกฎหมาย เช่น ส่งแบบรายงานข้อมูลแหล่งที่มากัญชา การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้จำหน่าย ตามกำหนดทุกสิ้นเดือน และสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชน ยืนยันว่า กรมฯ ไม่สนับสนุนให้ใช้กัญชาแบบสันทนาการ ประเด็นเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ในวิชาชีพที่แตกต่างกัน อาจมีมุมมองทางวิชาการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรู้ ประสบการณ์ ทัศนคติ และแนวคิดของแต่ละบุคคล” นพ.เทวัญกล่าว

นพ.เทวัญกล่าวว่า กรมฯ มีจุดยืน คือ ให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก มีสิทธิเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ได้ โดยไม่ผูกขาดจากวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง ส่วนข้อกังวลของสังคมในการใช้กัญชา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีกฎหมายมารองรับ เพื่อให้เกิดการใช้กัญชาด้วยความระมัดระวัง จึงกำหนดข้อห้ามอย่างชัดเจน

เช่น ห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร นักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษา ห้ามให้บริการสูบกัญชาในสถานประกอบการทั่วไป ห้ามจำหน่ายผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ห้ามโฆษณากัญชาในทุกช่องทางเพื่อการค้า และห้ามสูบในสถานที่ต้องห้าม เช่น วัดสถานทางศาสนา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และ สวนสนุก เป็นต้น จะผิดตามมาตรา 46 กรณีจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

นพ.เทวัญกล่าวว่า กรมฯ ได้ถอดองค์ความรู้การใช้กัญชาของชาวบ้านทั้ง 4 ภูมิภาค พบว่า มีการใช้ในวิถีชีวิต เป็นทั้งอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง เช่น ภาคเหนือ ใช้น้ำมันจากเมล็ด ทาผิว เส้นใย ทำเครื่องนุ่งห่ม ใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชาในตำรับยาในการดูแลสุขภาพ , ภาคอีสาน มีการผสมส่วนที่เป็นใบ ลำต้นกัญชาในเครื่องปรุงที่เรียกผงนัว ลดการใช้ผงชูรส , ภาคกลาง ใช้ยอดกัญชาในอาหารประเภทแกง ต้ม และ ภาคใต้ ใช้ในตำรับอาหาร จะเห็นว่าแต่ละพื้นที่มีการใช้กัญชาตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งใช้ตามตำรับแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน บำรุงสุขภาพ กินได้ นอนหลับ และ ปรุงอาหาร ต่อยอดภูมิปัญญาสร้างนวัตกรรม

นพ.เทวัญ กล่าวว่า กัญชาทางการแพทย์ มีการใช้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน และ แพทย์แผนจีน แม้กระทั่งการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของประชาชน ทำให้สิทธิเข้าถึงของกัญชาทางการแพทย์ของประชาชนเพิ่มขึ้น สำหรับมุมมองความคิด ความเห็น ประเด็นเรื่องของกัญชาที่หลากหลาย กรมฯ จึงมุ่งเน้นการสร้างความรอบรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมให้แก่ประชาชน ให้เกิดความเข้าใจ เชื่อมั่น และใช้ได้อย่างถูกต้อง เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการรักษากัญชาทางการแพทย์ได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน