หมายเหตุ : รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เขียนบทความถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อวงการดาราศาสตร์ไทย

“ถ้าไม่ได้เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปรารถนาที่จะเป็นนักดาราศาสตร์ และอยากมีหอดูดาวที่จังหวัดเชียงใหม่”

พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าพระราชทานให้ฟังเมื่อคราวที่ผมถวายงาน ตั้งกล้องโทรทรรศน์ทอดพระเนตรดาว ขณะนั้นผมรับราชการเป็นอาจารย์สอนดาราศาสตร์ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผมรับฟังอย่างปลาบปลื้มใจที่พระองค์สนพระราชหฤทัยในดาราศาสตร์ และมีพระราชปรารภอยากให้ประเทศของเรามี “หอดูดาว” นับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญอย่างยิ่ง ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งหน่วยงานดาราศาสตร์ของชาติ ในนาม “สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ แห่งชาติ” ในวันนี้
2
ความสนพระราชหฤทัยในดาราศาสตร์

ผมมีโอกาสถวายงานด้านดาราศาสตร์แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2531 ระหว่างทำงานก็จะมีโอกาสฟังเรื่องความสนพระราชหฤทัยด้านดาราศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่บ่อยครั้ง นอกจากพระราชปรารภเรื่องโปรดจะเป็นนักดาราศาสตร์ และพระราชดำริอยากให้เมืองไทยมีหอดูดาวที่จังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังมีเรื่องเล่า อีกหลายเรื่องที่น่าประทับใจ อาทิ

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ กราบบังคมทูลว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำวิจัยเรื่อง “ดาวคู่” รับสั่งตอบว่าดาวคู่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ต้องมีการค้นคว้าวิจัยต่อไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับสั่งเช่นนี้ให้ผมฟังหลายครั้ง แสดงถึงความสนพระราชหฤทัยในวิชาความรู้เกี่ยวกับเอกภพอย่างลึกซึ้ง เพราะความรู้เกี่ยวกับดาวคู่นั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ในเอกภพนี้ดาวเกือบทุกดวงเป็นระบบดาวคู่ สิ่งที่ปรากฏในเอกภพส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นคู่ แม้แต่ดวงอาทิตย์ ก็เชื่อว่ามีดาวคู่ชื่อว่า “เนเมซิส”

ขณะนั้นในฐานะอาจารย์มหา วิทยาลัยเชียงใหม่และกำลังทำวิจัยร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เกี่ยวกับระบบดาวคู่ ผมจึงจัดทำหนังสือความรู้และรวบรวมผลงานวิจัยเกี่ยวกับดาวคู่ ทูลเกล้าฯ ถวายในเวลาต่อมา งานวิจัยเรื่องดาวคู่ ยังคงศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดวิชาดาราศาสตร์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเรียนดาราศาสตร์ครั้งแรกในโรงเรียน ขณะประทับอยู่กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาอานันทมหิดล และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยา ณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ เมืองโลซาน ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์

สมเด็จกรมหลวงฯ พระราชนิพนธ์ในหนังสือ “เวลาเป็นของมีค่า” ว่า “แม่สนใจดาราศาสตร์มานานแล้ว เมื่ออยู่สหรัฐอเมริกาเคยมีหนังสือดาราศาสตร์เบื้องต้น ต่อมาเมื่อลูกชายคนเล็กเรียนดาราศาสตร์ที่โรงเรียนในเมืองโลซาน แม่ซื้อหนังสือเรื่อง เลอซีล (Le Ciel แปลว่า ท้องฟ้า) ของสำนักพิมพ์ Larousse ให้ ในหนังสือเล่มนี้ มีแผนที่ ดาวและพระจันทร์อยู่ด้วย แม่เปิดหนังสือดูบ่อยจนแผนที่หลุดออกมา 3 แผ่น แม่เลยเอาออกมาใช้ต่างหาก

ในการเรียนดาราศาสตร์ ลูกชายคนเล็กของแม่ยังมีแผนที่ท้องฟ้าชนิดหมุนได้ไว้ตั้งตามวันที่และเดือนเพื่อจะได้ทราบว่า จะได้เห็นอะไรในวันนั้น แม่เห็นดีจึงซื้อมาใช้ด้วย ด้วยแผนที่นี้แม่จึงเริ่มศึกษาดาวจริงๆ ในท้องฟ้า”

ความสนพระราชหฤทัยในดาราศาสตร์ของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ทำให้สมเด็จย่าสนพระราชหฤทัยในดาราศาสตร์เช่นกัน เห็นได้จาก งานศิลปะ หรือสถาปัตยกรรมต่างๆ มักมีเรื่องราวดาราศาสตร์ และกลุ่มดาวปรากฏอยู่มากมาย เช่น ลวดลายบนจาน ชามกระเบื้องที่ทรงวาดโคมไฟ ภาพวาดกลุ่มดาวบนเพดาน และระเบียงที่ พระตำหนักดอยตุง ฯลฯ

รัชกาลที่ 9 ยุคทองของดาราศาสตร์ไทย

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นยุคทองของดาราศาสตร์ไทย พระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ หลายพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินร่วมทอดพระเนตรเหตุการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์หลายครั้ง ทำให้ประชาชนตื่นตัวกับดาราศาสตร์ วงการดาราศาสตร์ไทยจึงเติบโตอย่างก้าวกระโดด เกิดการวิจัย การศึกษาดาราศาสตร์อย่างเป็นระบบ ดาราศาสตร์ไทยจึงก้าวหน้าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ดาราศาสตร์ในมหาวิทยาลัย

ประเทศไทยเริ่มจัดการเรียนการสอนดาราศาสตร์ระดับอุดมศึกษาเป็นแห่งแรก ที่แผนกฟิสิกส์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีทั้งการเรียนการสอนและการวิจัย ในปี พ.ศ.2500 อาจารย์ระวี ภาวิไล นักวิจัยดารา ศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย สร้างหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ พร้อมติดตั้งกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว ขึ้นที่บริเวณดาดฟ้าตึกฟิสิกส์ 1

ในปีถัดมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนฯ เสด็จมาทอดพระเนตรดาวศุกร์ ตอนกลางวันที่หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ดังกล่าว

หลังจากนั้น ในปี 2535 เริ่มเปิดใช้งานกล้องโทรทรรศน์ เส้นผ่านศูนย์กลาง 45 เซนติเมตร ได้รับอนุเคราะห์จากรัฐบาลญี่ปุ่น และ หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ ซึ่งสร้างขึ้นจากเงินงบประมาณของจุฬาฯ เพื่อทดแทนของเดิม
3
การเปิดท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2507 ตรงกับวันวิทยา ศาสตร์แห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราช ดำเนินทรงเป็นประธานพิธีเปิดท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ สำหรับแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์ของคนไทย

ในวันนั้น เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการดาราศาสตร์ ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพจัดถวายเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ปัจจุบันท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้ ทางดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่สำคัญสำหรับประชาชนจนถึงทุกวันนี้

ก่อตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ชาติ

ในปี 2538 ผมมีโอกาสตามเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนหอดูดาวยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ทอดพระเนตรดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร รับสั่งกับผมว่า “ทำไมเมืองไทยไม่มีกล้อง โทรทรรศน์ขนาดใหญ่แบบนี้บ้าง” เป็นคำถามที่ติดค้างในใจผมมาตลอด

ในปี 2545 ขณะนั้นผมดำรงตำแหน่งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ขณะนั้นรักษาการคณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดารา ศาสตร์แห่งชาติ) ร่วมกันผลักดันการก่อตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

กระทั่งที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เห็นชอบให้เสนอต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเฉลิมพระ เกียรติครบรอบ 200 ปี แห่งการพระบรม ราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระชนม พรรษา 80 พรรษา

ปี 2547 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในวันที่ 27 ธ.ค. 2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2551 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2552

พระราชดำริที่เป็นจริง

หลังจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจัดตั้งสำเร็จ เราเร่งดำเนินการภารกิจสำคัญในการวางโครงสร้างหลักทางดาราศาสตร์ของประเทศ ด้วยการสร้าง “หอดูดาวแห่งชาติ” ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ระดับมาตรฐานโลก จนกระทั่งในวันที่ 28 ก.ย. 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามหอดูดาวแห่งชาติว่า “หอดูดาวเฉลิม พระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา”

สถาบันยังมีแผน การสร้าง “หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน” อีก 5 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา พิษณุโลก และขอนแก่น โดยหอดูดาวทุกแห่งได้รับพระมหา กรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ รับเป็นโครงการใน พระราชดำริด้วย

ดาราศาสตร์ไทย พัฒนาคน พัฒนาชาติ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริแน่วแน่ว่าสิ่งหนึ่งที่จะให้ประเทศเจริญได้ก็คือเรื่องคน และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็รับสนองพระราชดำรินี้ มีรับสั่งเสมอว่า “อยากให้ใช้โครงสร้างดาราศาสตร์ พื้นฐานต่างๆ ของสถาบัน ในการพัฒนาคน”

การใช้ดาราศาสตร์พัฒนาคน ถือเป็นภารกิจสนองพระราชดำริที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติถือเป็นหลักสำคัญในการทำงาน

ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือชุดพระมหากษัตริย์กับดาราศาสตร์ไทย : รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช : ยุคทองของดาราศาสตร์ไทย, เจ้าฟ้านักดาราศาสตร์, เวลาเป็นของมีค่า พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เว็บไซต์อุทยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี, เว็บไซต์ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน