พยาบาลก็ท้อ ออกจากระบบ ปีละ 7 พันคน ควงเวรมากกว่า 80 ชม. จ่อรวมเป็นสหภาพฯ จี้แก้ลด Work load แก้ปัญหาลดภาระงาน เพิ่มค่าตอบแทน ลดปัญหาสมองไหล

วันที่ 12 มิ.ย.2566 น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect กล่าวถึงปัญหาภาระงานในระบบสาธารณสุข จนทำให้แพทย์ พยาบาลและบุคลากรการแพทย์ลาออก ว่า ปัจจุบันวิชาชีพพยาบาลมีอัตราการผลิตปีละ 10,000 คน มีอัตราสูญเสียจากระบบ ทั้งเกษียณอายุราชการ ลาออกและเสียชีวิต ปีละ 7,000 คน เท่ากับมีส่วนต่างอยู่ปีละ 3,000 คน โดยภาระงานของพยาบาลจะต้องทำงานตลอด 8 ชั่วโมง เช่น ดูแลผู้ป่วย ให้ยา ตามราวน์แพทย์ (ตรวจผู้ป่วยใน) ทำการรักษาตามแพทย์สั่ง เฝ้าอาการผู้ป่วย เป็นต้น

ยอมรับว่าปัจจุบันกรอบกำหนดภาระงานของพยาบาลยังไม่ชัดเจน หมายถึงพยาบาลหอผู้ป่วยสามัญ 1 คน ควรดูผู้ป่วย 4-6 คน เพื่อประสิทธิการดูแลผู้ป่วยสูงสุด แต่ตอนนี้พยาบาลต้องดูผู้ป่วย 8-12 คน ต้องเฉลี่ยการดูแลออกไปทำให้ประสิทธิภาพตกมาตรฐานไป หรือห้องฉุกเฉิน พยาบาลต้องดูผู้ป่วย 1 ต่อ 1 แต่ตอนนี้ก็เป็น 1 ต่อ 2 ถ้าผู้ป่วยอาการเปลี่ยนแปลงก็จะทำงานไม่ทัน

“ด้วยภาระงานที่หนัก คนก็ออกจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ลาออกจากรัฐไปเอกชน ไปต่างประเทศ หรือเปลี่ยนสายงาน ทำให้ Work Load คนที่ยังอยู่หนักมากขึ้นเรื่อยๆ” น.ส.สุวิมล กล่าวและว่า วิชาชีพพยาบาลคือคนที่คอยดูแล ส่วนแพทย์เป็นผู้รักษา ร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ทำหน้าที่ต่างกันไป แต่ทุกคนทำงานเป็นทีมร่วมกันใน รพ. ดังนั้น สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ คือ การทำงานสหสาขาวิชาชีพสาธารณสุข มีภาระงานลดลง ค่าตอบแทนมากขึ้นและอยู่ในระบบให้นาน

เมื่อถามถึงข้อเสนอจากกลุ่ม Nurses Connect น.ส.สุวิมล กล่าวว่า เสนอกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว และหารือร่วมกับฝ่ายการเมืองแล้วว่า จริงๆ สิ่งที่จะทำให้คนอยู่ในระบบได้คือ 1.ลดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บางคนต้องควงเวร 24 ชั่วโมง ทำให้คนทำงานหมดไฟ (Burn Out) 2.ค่าตอบแทนที่ต้องเพิ่มมากกว่านี้ แม้จะเพิ่งปรับไปเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับภาระงานถือว่าค่าตอบแทนยังน้อยอยู่ ไม่คุ้มกับสุขภาพที่เสียไป และ 3.กำหนดกรอบภาระงานว่า บุคลากร 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยกี่คน จะช่วยลด Work Load ได้ ผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลตามมาตรฐานที่ควรจะได้รับ

ถามว่าหลังจากนี้กลุ่ม Nurses Connect จะมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ น.ส.สุวิมล กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังรวมตัวกันเป็นสหภาพพยาบาล เป็นสาขาวิชาชีพหนึ่งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง อย่างกรณีที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ก็จะมีการพูดคุยผ่านสหภาพพยาบาล ถ้าผลการตั้งรัฐบาลเป็นไปตามที่เราคิดไว้ ก็มองว่าฝ่ายการเมืองค่อนข้างทราบปัญหานี้อยู่แล้วอย่างที่ประชาชนทั่วไปก็รับทราบ ที่ผ่านมาก็มี ส.ส.ฝ่ายแรงงานของพรรคการเมืองหนึ่ง ได้เข้ามาหารือกับทางกลุ่มแล้ว เหลือแค่การผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน