สสส. จัดนิทรรศการ “Home Coming พาใจกลับบ้าน” นวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะ 5 โซน ช่วยคนรุ่นใหม่-วัยทำงาน มูฟออนจากภาวะหมดไฟ-เครียด-ซึมเศร้า ลดปัญหาสุขภาพจิต


จากข้อมูล Thaihealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2566 พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ วัยทำงาน มีภาวะหมดไฟ (Burnout) สาเหตุส่วนหนึ่งจากการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่แบบลูกผสม (Hybrid) ทำให้เสียสมดุลชีวิตกับการทำงาน เนื่องจากขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เจอภาวะกดดันจากการทำงาน กลายเป็นความเครียดสะสม นำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ที่สำคัญยังพบข้อความที่กล่าวถึงความเครียดจากการทำงานในสื่อโซเชียลมีเดีย ระหว่าง มี.ค. – ก.ย. 2565 ถึง 18,088 ข้อความ ในจำนวนนี้ ต้องการลาออกจากงาน 54% สะท้อนถึงการขาดวิธีการจัดการชีวิตและการทำงานที่สมดุล ตอกย้ำแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตใจของวัยทำงานที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เร่งรวบรวมองค์ความรู้ พัฒนาเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบนิทรรศการ “Home Coming พาใจกลับบ้าน” เพื่อสร้างประสบการณ์และทักษะชีวิตให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน ได้ตระหนักถึงทางเลือกในการดูแลสุขภาวะด้านจิตใจ ผ่านงานศิลปะที่ออกแบบให้เชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ (Humanbeing)

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

นายนันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล Project Director Eyedropper Fill Co.,Ltd. กล่าวว่า 5 โซน ภายในงานที่อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัส คือ

1. สำรวจอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง
2. ปล่อย ขยับร่างกายไปพร้อมๆ กับจิตใจ
3. กอด สัมผัสแสง เสียงของชิ้นงาน สร้างความมั่นคงในใจ
4. นอน เอนกาย มองแสงประกายน้ำ เพื่อความผ่อนคลาย
5. ฟัง เสียงที่อยู่รอบตัว คลายความโดดเดี่ยว เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมให้ได้สำรวจจิตใจตนเองไปด้วยกัน

และโซนสุดท้าย ที่อยากจะให้ทุกคน เดินไปถึง คือโซน ที่ ห้องสะท้อนอารมณ์ เป็นห้องที่สะท้อนอารมณ์ทุกอย่างจากตัวเองไปสู่สังคม และเป็นห้องที่มี 3 คำถาม ให้ตอบ คือ ขอบคุณตัวเองขอโทษตัวเอง และ ให้อภัยตัวเอง ในเรื่องอะไรก็ได้

นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการมีการฉายสารคดี “Mentalverse จักรวาลใจ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตกลุ่มคนที่ต่างวัย 5 คน 5 ภาวะซึมเศร้า สะท้อนให้เห็นทางออกของปัญหาด้านจิตใจที่มีผลกระทบมาจากครอบครัวและสังคม

นายนันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล

 

น.ส.สุภาวดี หวังศิริจิตร ผู้เข้าร่วมงาน กล่าวว่า ก่อนที่จะข้าร่วมนิทรรศการนี้ ก็มีความรู้สึกเครียดจากงานมาก ๆ เจอเรื่องราวมากมาย และไม่มีเวลาให้กับตัวเอง จนกระทั่งมานิทรรศการพาใจกลับบ้าน ก็รู้สึกเหมือนได้ผ่อนคลายจากความเครียด โดยส่งที่ชอบที่สุด คือ ฟัง เป็นส่วนที่ทำให้เราได้นั่งฟังความคิดของตัวเอง ว่าที่จริงแล้วตัวเองต้องการอะไร มีเวลาให้กับตัวเองมากขึ้น ทำให้หลังจากที่กลับบ้านไป เราจะรู้ว่าจะต้องเข้าใจและขอบคุณตัวเองยังไงบ้าง

นิทรรศการพาใจกลับบ้าน จะจัดขึ้น 1-30 มิ.ย. 2566 เวลา 11.00 – 20.00 น. ที่บริเวณชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก กรุงเทพฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน