ฟังอีกมุม อดีตผจก.โรงงานน้ำปลาร้า ลั่นอย่าโบ้ยความผิดให้ ‘พิมรี่พาย’ เผยได้เงินตลอด-ไม่โดนเบี้ยว ชี้หากสินค้าไม่มีคุณภาพ เขาจะขายออกสู่ตลาดได้อย่างไร

จากกรณีผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งออกมาแชร์ประสบการณ์ในการผลิตและขายน้ำปลาร้า พร้อมระบุข้อความว่า “ผมก็โดนพิมรี่พายเทน้ำปลาร้าเหมือนกัน #ปลาร้าพิมรี่พาย”

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66 นายเต้ย อายุ 24 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว และอดีตผจก.โรงงานน้ำปลาร้า เปิดเผยกับ ‘ข่าวสดออนไลน์’ ว่า ตนเคยเป็นผู้จัดการโรงงานผลิตน้ำปลาร้าแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นทางโรงงานเหลือกำลังในการผลิต จึงเสนอขายน้ำปลาร้าให้แม่ค้าออนไลน์ชื่อดัง นั่นคือ ‘พิมรี่พาย’ โดยติดต่อพูดคุยกับแม่ค้าออนไลน์คนดังกล่าวและทีมงานโดยตรง เพื่อร่วมชิมรสชาติน้ำปลาร้า ก่อนตัดสินใจว่าได้หรือไม่ได้ ซึ่งมีการเสนอขายกันอยู่หลายครั้ง จนสามารถจบออร์เดอร์ได้ 26 ล้าน แล้วบริษัทก็ผลิตน้ำปลาร้าและจัดส่งให้แม่ค้าออนไลน์คนดังกล่าวเรื่อยมา ซึ่งพิมรี่พายจะสุ่มเช็กคุณภาพของน้ำปลาร้าตลอด จนช่วงหลังๆ พิมรี่พายเริ่มรู้สึกว่ารสชาติน้ำปลาร้าไม่เหมือนเดิม จึงสั่งเบรกการผลิตไว้ก่อน และเรียกตนไปพบ มีทีมงานของพิมรี่พายกว่า 10 คนที่จะมาเช็กคุณภาพและได้ปรับสูตรใหม่อยู่ 7 วัน ซึ่งพิมรี่พายย้ำว่า “ต้องคงสูตรนี้ไว้ให้ได้ตลอด” และการผลิตก็ดำเนินต่อไป ซึ่งยอมรับว่ากว่าจะได้ออเดอร์ของพิมรี่พายนั้น ไม่ง่ายเลย

นายเต้ย กล่าวว่า ส่วนเรื่องมาตรฐานน้ำปลาร้านั้น พิมรี่พายจะให้โจทย์มาแล้วให้เราผลิตตามความต้องการ เพราะมาตรฐานน้ำปลาร้าของเขาสูงมาก เนื่องจากพิมรี่พายอยากได้ปริมาณเนื้อเยอะๆ แต่ในตอนนั้นเครื่องจักรที่โรงงานมีอยู่ เพื่อเอาไว้กรองเศษทางกายภาพออกให้หมด เนื่องจากจะต้องส่งออกไปยัง EU และอเมริกา จึงอาจจะไม่สามารถทำได้ตรงตามที่พิมรี่พายขอเป๊ะๆ แต่จะพยายามทำให้เต็มที่ เนื่องจากหากต้องปรับเครื่องจักร หรือลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่เลยก็เป็นมูลค่าหลายสิบล้าน

นายเต้ย เล่าว่า โดยปกติสินค้าเวลามีปัญหา เราต้องเอากลับมาจัดการแก้ไขเอง เพราะมาตรฐานเราไม่ตรงตามมาตรฐานของเขา เนื่องจากสินค้าน้ำปลาร้ามาตรฐานต้องแน่น ทั้งนี้ทางโรงงานก็ประเมินว่าหากลูกค้ามีมาตรฐานแบบนี้ แล้วทางโรงงานไม่สามารถทำให้ได้จริงๆ ทางโรงงานจะไม่ตะบี้ตะบันเอาออเดอร์และไม่เดินไปต่อ

นายเต้ย กล่าวอีกว่า ส่วนที่ตนเขียนข้อความในคลิปว่า “โดนพิมรี่พายเทน้ำปลาร้าเหมือนกัน” นั้น จริงๆ ตนแค่เขียนเพื่อให้คนเข้ามาฟังเหตุผลให้จบ และยืนยันว่าไม่ได้ถูกเท แต่เป็นการถูก reject เนื่องจากสินค้าไม่ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ และเมื่อตนไปตรวจสอบก็พบว่ามีเนื้อปลาร้าน้อยจริงๆ ซึ่งในส่วนนี้ทางโรงงานก็ยอมรับได้ อีกทั้งตลอดการทำการค้าขายกับพิมรี่พายเองก็ได้เงินตลอด ไม่มีการขาดทุนจากพิมรี่พาย ขณะที่อีกโรงงานหนึ่งตนเชื่อว่าเติบโตจนมีโรงงานขนาด 30-40 ล้าน เพราะออเดอร์จากพิมรี่พายด้วยซ้ำ

สำหรับเคสเรื่องเงินที่เป็นประเด็นร้อนว่ามีการติดกันจริงไหม โดยปกติที่ทำธุรกิจกับพิมรี่พายนั้น ทางเขาจะจ่ายเงินเป็นงวด และบริษัทจะไม่มีการปล่อยเครดิตเกิน ถ้าเขาไม่จ่ายก็จะติดต่อในส่วนของฝ่ายบัญชี ยอมรับว่าทางเขามีการจ่ายเงินช้าบ้าง โดยชี้แจงเป็นเหตุผลต่างๆ ซึ่งถ้าจ่ายเงินช้า ทางบริษัทจะแก้ปัญหาด้วยการบริหารจัดการของบริษัท

นายเต้ย กล่าวอีกว่า ยืนยันไม่ได้เข้าข้างใคร แต่พูดในมุมมองที่ได้เจอมา อยากให้สังคมเข้าใจด้วยว่าก่อนจะตัดสินใคร ให้รอฟังให้รอบด้านก่อน ตนไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเหตุใดพิมรี่พายไม่ออกมาพูดหรือชี้แจง แต่พี่กบออกมาพูดแล้ว ตนเองรู้ด้วยว่าสุดท้ายแล้วคดีจะชนะด้วยเหตุผลอะไร แต่ตนพูดไม่ได้ เพราะเป็นคนนอก แต่ในฐานะคนที่เคยทำงานอยู่ตรงนั้นแบบเต็มตัว มองในมุมการค้าขาย สุดท้ายแล้วลูกค้าต้องอยากได้สินค้าที่มีคุณภาพไปขาย ถ้าหากได้สินค้าไม่มีคุณภาพ เขาจะขายออกสู่ตลาดได้อย่างไร แล้วหากเราผลิตสินค้าไม่คุณภาพจะไปต่อกับเขาได้อย่างไร ตนจึงไม่อยากให้โบ้ยไปทางพิมรี่พาย และอยากให้เป็นอุทาหรณ์ว่าอย่าไว้ใจคู่ค้ามากเกินไป เพราะสุดท้ายคนเสียหายคือเราเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน