เปิดกฎระเบียบ “เรือนจำ” ขั้นตอนแรกรับผู้ต้องขังใหม่ สิ่งที่ “นักโทษ” ควรทำ – ไม่ควรทำเมื่อติดคุก ก่อนแยกแดนนักโทษตามระดับความผิด

เรียกได้ว่ากำลังเป็นที่สนใจ หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีไทย กลับมาเยือนประเทศไทย ก่อนเดินทางไปศาลฎีกาเพื่อรับฟังคำตัดสินโทษ บังคับโทษ 3 คดี ติดคุกรวม 8 ปี มีคดีนับโทษต่อคดีเดียว

ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยกันว่า หาก “นักโทษ” ย่างกายเข้าสู่เรือนจำ ต้องเตรียมตัว หรือทำตามขั้นตอนอะไรบ้างนั้น ทางทีมข่าวสดจึงได้ทำการสำรวจ ขั้นตอนทั้งหมด ตั้งแต่ก้าวแรกเมื่อนักโทษย่างกายเข้าสู่เรือนจำ ตามกฎระเบียบดังต่อไปนี้

ขั้นตอนแรกคือ การจัดทำทะเบียน ประวัติ (ชื่อ – นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน) ตามด้วยการบันทึกลายนิ้วมือ หรือคุณลักษณะเฉพาะของบุคคล ตำหนิรูปพรรณ เพื่อตรวจสอบว่าเป็นผู้ต้องขังตัวจริง ไม่ผิดตัวตามหมายศาล

จากนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำ จะทำการตรวจสภาพของร่างกายและจิตใจ รวมถึงจะต้องดูว่าผู้ต้องขัง เป็นผู้กระทำความผิดจากคดีประเภทใด เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง

เช่น คดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง คดียาเสพติด หรือคดีที่กระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ เพื่อวางมาตรการ หรือ ผบ.เรือนจำฯ อาจจะมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้คุมเฝ้าจับตากวดขันเข้มงวดเป็นพิเศษ และยังเป็นการป้องกันการคิดสั้นของผู้ต้องขังได้ด้วย

เมื่อผ่านกระบวนการทำประวัติแล้ว ก็จะไปยังขั้นตอนการตรวจร่างกายเบื้องต้น เจ้าหน้าที่จะดูว่าผู้ต้องขังมีโรคประจำตัว ยารักษาโรค หรือมีใบรับรองแพทย์ ให้ยื่นแสดงกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเก็บยาไว้ให้ และจะสอบถามถึงการกินยาว่าแพทย์สั่งให้กินยาอย่างไร








Advertisement

เดิมผู้ต้องขังทั้งชายและหญิง ต้องเปลื้องผ้าทั้งหมด เพื่อดูว่าไม่ได้นำสิ่งของ วัตถุอันตราย อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร หรือยาเสพติดลักลอบเข้าไปในเรือนจำ แต่ปัจจุบันเรือนจำทั่วประเทศมีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ร่างกายไว้แล้ว จึงใช้เครื่องเอกซเรย์ตรวจร่างกาย

จากนั้นเจ้าหน้าที่ จะบันทึกรายงานเกี่ยวกับบาดแผล หรืออาการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังก่อนเข้าเรือนจำ เพื่อใช้ยืนยันว่าผู้ต้องขังมีบาดแผลหรืออาการเจ็บป่วยมาก่อนเข้าข้างในเรือนไม่ได้เกิดจากการถูกทำร้าย หลังเข้าเรือนจำและผู้ต้องขังจะต้องเซ็นชื่อกำกับการบันทึกดังกล่าวด้วยตัวเอง

สุดท้ายแพทย์หรือพยาบาลจะใช้ดุลพินิจ หากผู้ต้องขังมีโรคประจำตัวร้ายแรงต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ก็อาจจะให้ไปทำการกักโรคโควิด-19 ที่ห้องกักโรคของสถานพยาบาลภายในเรือนจำฯ แทน และเมื่อกักโรคครบกำหนดก็จะแยกผู้ต้องขังไปยังหอผู้ป่วยเพื่อรักษาโรคต่อไป


ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์ ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่ “คู่มือนักโทษ” ให้ความรู้เกี่ยวกับ “สิ่งที่ควรทำ” และ “ไม่ควรปฏิบัติ” เพื่อให้นักโทษผู้ถูกคุมขังใช้ชีวิต อยู่ในเรือนจำได้อย่างปกติสุข ดังนี้

สิ่งที่ควรทำ

1.ถ้ามีโรคประจำตัว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันทีที่เข้าเรือนจำ

2.ถ้ามียาที่ต้องกินเป็นประจำ ควรแจ้งพยาบาลประจำเรือนจำ เพื่อตรวจสอบว่ามียาดังกล่าวในสถานพยาบาลหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็จำเป็นต้องติดต่อญาติเพื่อจัดส่งเข้ามา

3.พยายามดูแลสุขภาพให้ดี คุณอาจอยู่ในเรือนจำเพียงไม่กี่วันหรืออาจจะต้องอยู่อีกหลายสิบปี เราอยากเห็นคุณเดินออกจากคุกในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์

4.พยายามเป็นมิตรกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องขังด้วยกัน คนเหล่านี้อาจช่วยคุณได้เมื่อถึงคราวจำเป็น

5.ควรใช้ชีวิตทุก ๆ นาทีภายในเรือนจำให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อสังคมภายนอก

สิ่งที่ไม่ควรทำ

1.ห้ามฝ่าฝืนกฎระเบียบต่างๆ ของเรือนจำเด็ดขาด มิฉะนั้น คุณจะถูกลงโทษ !!

2.อย่าแต่งกาย หรือวางตัวให้ผิดกับผู้ต้องขังคนอื่น การทำตัวเป็นคนเด่นในคุกมีผลเสียมากกว่าผลดี

3.อย่าใช้เงินฟุ่มเฟือยจนเต็มพิกัดที่เรือนจำกำหนดทุกวัน คุณอาจถูกรีดไถหรือรังแกจากผู้ต้องขังอื่น
อย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ใช่บอดี้การ์ดส่วนตัวของคุณ เขาไม่สามารถอยู่ปกป้องคุณได้ตลอด 24 ชั่วโมง

4.ถ้าเครียด อย่าใช้ ยาเสพติด หรือการพนันเป็นเครื่องคลายเครียด มิฉะนั้น สถานการณ์ของคุณจะเลวร้ายลงทุกที

5.ถ้ามีผู้มาชักชวน หรือตัวคุณเองมีความรู้สึกอยากที่จะทำผิดระเบียบของเรือนจำ ก็ขอให้ย้อนกลับไปดู ข้อ 1.ใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน