สบส.สำรวจพบ เด็ก-เยาวชนเคยถูกบูลลี่ถึง 44.2% เหตุเกิดในโรงเรียน 86.9% ส่วนใหญ่ล้อเลียนหน้าตา บุคลิกถึง 76% ตอกย้ำปมด้อย 63% ทำร้ายร่างกาย 55%

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.66 นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากการที่เด็กและเยาวชนถูกกลั่นแกล้งรังแก (บูลลี่) ทำให้เกิดความรู้สึกอับอาย ด้อยค่า มีปัญหาทางด้านสุขภาพ และจิตใจ ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนโดยตรง กองสุขศึกษา สบส. เฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประเด็นพฤติกรรมการถูกกลั่นแกล้งรังแก (บูลลี่) ด้วยการเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 21 ก.ค. – 10 ส.ค. 2566 จำนวน 37,271 คน ดำเนินการร่วมกับสำนักการศึกษา กทม. และศึกษาธิการจังหวัด

ผลการสำรวจพบว่า เด็กและเยาวชนเคยถูกกลั่นแกล้งรังแกร้อยละ 44.2 โดยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึงร้อยละ 86.9 เรื่องที่มักถูกกลั่นแกล้งรังแก ได้แก่ ล้อเลียนหน้าตา หรือบุคลิก ร้อยละ 76.6 ตอกย้ำปมด้อย ด่าทอ ร้อยละ 63.3 ทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 55.1 สบส.ขอแนะนำวิธีปฏิบัติเมื่อถูกกลั่นแกล้งรังแก โดยตั้งสติ ไม่ใส่ใจ อย่าให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกสนุก มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ใช้กำลัง พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เข้าใจ และรู้วิธีจัดการตนเองเมื่อถูกบูลลี่

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ยุวอาสาสมัครสาธารณสุข เป็นเยาวชนจิตอาสาที่สามารถให้การช่วยเหลือ และแจ้งกับทางครูที่ปรึกษาในการเฝ้าระวังสังเกต และให้การช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน ร่วมกับการดูแลทางด้านจิตใจ สร้างกิจกรรมพลังบวกให้กับเด็กและเยาวชน สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น

ตามหลักสุขบัญญัติข้อที่ 6 ซึ่งครอบครัวมีส่วนสำคัญในการสร้างรากฐานให้มีพฤติกรรมที่ไม่รุนแรง ไม่ก้าวร้าว และไม่แสดงกิริยาข่มขู่ รวมทั้งสังเกตพฤติกรรมของคนในครอบครัวว่ามีพฤติกรรมถูกบูลลี่หรือไม่ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายยุวอาสาสมัครสาธารณสุข ในการเฝ้าระวังและเป็นหูเป็นตาจากการถูกบูลลี่ในสถานศึกษาระดับชุมชนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน