พรุ่งนี้แล้ว ร่วมลุ้น ไทยส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร สำรวจโลก ชวนพี่น้องชาวไทยร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ

วันที่ 6 ต.ค.2566 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยระหว่างการปฎิบัติภารกิจในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย ณ เมืองกูรู รัฐเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite 2) ขึ้นสู่วงโคจรจากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา ว่า ในวันพรุ่งนี้ (7ต.ค.) เวลา 08.36 น. ตามเวลาในประเทศไทย จะเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวของวงการอวกาศของประเทศไทย

เพราะดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวดนำส่ง VEGA จากท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) เพื่อเริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก โดยหลังจากปล่อยดาวเทียมในเวลา 08:36 น. แล้วจะใช้เวลากว่า 54 นาที ในการเข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูง 621 กิโลเมตร

เมื่อดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะต้องทดสอบระบบในอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินราวๆ 3 เดือน ก่อนจะใช้งานได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีสถานการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น อาทิ ภัยพิบัติ THEOS-2 ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้ภายใน 5 – 8 วัน หลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร

รมว.อว. กล่าวว่า การนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเป็นการนำส่งดาวเทียมที่จะนำมาสู่การยกระดับรูปแบบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

ดังนั้น ตนขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ด้วยการชมการถ่ายทอดสดการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 7 ต.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 07.00 – 09.30 น. ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : https://www.facebook.com/gistda

และผ่านยูทูบ : https://www.youtube.com/c/GISTDAspace รวมถึงเฟซบุ๊กเพจกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม : https://www.facebook.com/MHESIThailand โดยจะมีวิศวกรดาวเทียมจากอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ร่วมให้ความรู้ตลอดรายการ

ด้านดร.พรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2 จาก GISTDA กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2 จะแยกตัวจากจรวดนำส่ง Vega ภายใน 50 นาที หลังจากขึ้นสู่อวกาศ โดยดาวเทียม THEOS-2 ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจเชิงพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจากอวกาศ

ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาลได้ลงทุน ไม่ใช่แค่เรื่องของดาวเทียมเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศที่จำเป็น การลงทุนในระบบสารสนเทศทุกๆ อย่างที่จะทำให้ข้อมูลจากดาวเทียมได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเห็นผลจริงกับคนไทย และทำให้ไทยเป็นเจ้าของข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูงที่แบ่งปันกันได้ทั้งในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น แวดวงวิชาการ แวดวงธุรกิจ หรือความมั่นคง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน