ป้อมฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์ คืนชีพ เผยข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับป้อมบางกอก พิสูจน์รูปพรรณจากภาพถ่ายเก่าและข้อมูลใหม่ในหนังสือ

ละคร พรหมลิขิต มีการนำเสนอฉาก พระเพทราชา สั่งให้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี หรือ โกษาปาน ไปขับไล่ฝรั่งเศสออกจากสยาม ก่อนนำมาสู่ประวัติศาสตร์การล้อมบางกอก เป็นเหตุการณ์สำคัญในช่วงการปฏิวัติสยาม พ.ศ.2231 ที่นำไปสู่การขับไล่ฝรั่งเศสออกจากสยาม ภายหลังจากการรัฐประหารต่อกษัตริย์พระองค์ก่อน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระเพทราชาขึ้นครองราชย์แทน

ป้อมฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์ คืนชีพ เผยข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับป้อมบางกอก พิสูจน์รูปพรรณจากภาพถ่ายเก่า

ป้อมฝรั่งเศส สมัยพระนารายณ์ คืนชีพ เผยข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับป้อมบางกอก พิสูจน์รูปพรรณจากภาพถ่ายเก่า

สำหรับ ป้อมบางกอก หรือ ป้อมเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ สมัยกรุงศรีอยุธยามักจะเป็นภาพในฝันของนักโบราณคดีสมัยใหม่ที่ยากต่อการพิสูจน์ เพราะทุกวันนี้ก็ไม่มีแม้แต่ซากปรักหักพังให้พบเห็น ที่มีก็เป็นเพียงภาพวาดลายเส้นในเอกสารฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเท่านั้น แต่รูปพรรณสัณฐานที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรไม่มีใครบอกได้

และถ้ายังยืนหยัดอยู่ก็คงจะผุพังมิใช่น้อย เพราะสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2231 (ค.ศ. 1688) จึงมีอายุไม่ต่ำว่า 325 ปี ที่น่าพิศวงก็คือเป็นป้อมที่ออกแบบโดยวิศวกรของฝรั่งเศสล้วน ๆ สร้างด้วยเทคโนโลยีแบบฝรั่งเศสสั่งตรงเข้ามาจากปารีส ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพร้อมกับยุคแห่งไมตรีจิตสู่ภาวะสงคราม และความไม่ไว้วางใจกันระหว่างคนไทยกับฝรั่งเศสในสมัยหลัง

ต่อมาก็ถูกรื้อถอนออกไปจากพื้นที่เดิมจนหมดสิ้นในราวปลายกรุงธนบุรี ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยไม่มีใครในยุคนั้นปรารถนาจะบันทึกข้อมูลอะไรไว้ ด้วยความกินแหนงแคลงใจว่าพวกฝรั่งเศสต้องการสร้างป้อมไว้เป็นฐานที่มั่นในการยึดสยามรัฐเป็นเมืองขึ้นในวันข้างหน้า

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึงป้อมนี้ว่า

“เมืองธนบุรีที่บางกอกคงมีป้อมค่าย แสดงเขตจวนเจ้าเมืองตรงมุมที่แม่น้ำเก่า กับแม่น้ำใหม่ไหลชนกันอยู่ก่อนแล้ว แต่เป็นสิ่งก่อสร้างด้วยไม้ซุงไม้ท่อนอย่างง่ายๆ แล้วขุดคูน้ำล้อม หรือมิฉะนั้นก็เป็นทางน้ำ ในเรือกสวนอยู่แล้วตามธรรมชาติ

แนวคิดสร้างป้อมอย่างบ้านเมืองในยุโรปเริ่มต้นเพราะพวกฝรั่ง ด้วยการค้าทางทะเลกับนานาชาติรุ่งเรืองขึ้นมาก แต่ลงมือก่อสร้างอย่างจริงจังในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อติดต่อกับราชสำนักฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ แล้วมีทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2228 (ค.ศ. 1685)

โดยได้ว่าจ้างนายทหารเรือฝรั่งเศสชื่อ เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ให้วางผังและควบคุมดูแลการก่อสร้างทั้งหมด แล้วตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระศักดิ์สงคราม เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และฝรั่งเศสเก่งกว่าชาติอื่น ป้อมปราการในสมัยนั้นเป็นป้อมทรงหกเหลี่ยม มีขนาดใหญ่โตมาก”

ทว่าล่าสุด หนังสือจากฝรั่งเศสชื่อ L’INDOCHINE FRANÇAISE (ปทนุกรมสมุดภาพอินโดจีนฝรั่งเศส) ได้ให้ข้อมูลว่าชาวฝรั่งเศสคือผู้บุกเบิก และวางรากฐานการสร้างป้อมคูประตูหอรบที่ทันสมัยในโลกยุคโบราณกับเอเชีย เช่นในอินเดีย สยาม และเวียดนาม ที่ซึ่งชาวฝรั่งเศสเคยมีบทบาทในการปลูกฝังค่านิยม ลัทธิการเมือง วัฒนธรรม ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีไว้มากมายเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา

โดยได้ลงภาพถ่ายทางอากาศจากปี ค.ศ. 1931 ของป้อมแบบฝรั่งเศสในเวียดนาม ซึ่งมีรูปพรรณแบบเดียวกับป้อมบางกอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาให้ชม ภาพของป้อมเก่า ณ เมืองวินห์ (Vinh) และเมืองเว้ (Hue) ยังตั้งอยู่ในสภาพเดิม โดยได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีเยี่ยม เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง

ข้อสันนิษฐานใหม่เกี่ยวกับป้อมบางกอก

จากภาพถ่ายเก่าและข้อมูลใหม่ในหนังสือจากฝรั่งเศสที่เพิ่งค้นพบใหม่ ทำให้ทราบว่า

1.ป้อมบางกอกบนฝั่งธนบุรีอาจเป็นป้อมฝรั่งเศสแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างขึ้นก่อนป้อมในเวียดนามที่ฝรั่งเศสเพิ่งจะเข้าครอบครอง ภายหลังสงครามตังเกี๋ยในปี ค.ศ. 1884-85 แต่ด้วยรูปพรรณสัณฐานแบบเดียวกัน

2.หอคอยและกำแพงรอบป้อมเป็นแนวคันดินถมสูงฉาบปูนดังที่เห็นในภาพป้อมเมืองญวน และมิใช่ก่ออิฐถือปูนลอยๆ เหมือนป้อมทั่วไปสมัยรัตนโกสินทร์ที่ยังมีให้เห็นในวันนี้ เช่น ป้อมมหากาฬ และป้อมพระสุเมรุ

3.และจากการที่กำแพงป้อมเป็นคันดินถมสูง ทำให้มีเพนียดเนื้อที่เหนือแนวกำแพงป้อมกว้างพอใช้วางปืนใหญ่รอบป้อม ดังเช่นในรูปวาดขณะถูกฝ่ายไทยปิดล้อมโดยกองกำลังฝ่ายพระเพทราชา

4.ภายในป้อมมีอาณาบริเวณกว้างขวางใหญ่โต เป็นที่เก็บคลังอาวุธ อาคารที่พักทหาร โรงพยาบาล คลังเสบียง ศูนย์ฝึกทหารและเรือกสวนที่ใช้เพาะปลูกพืชผักสวนครัวไว้เลี้ยงทหารได้ในระยะสั้นหากถูกปิดล้อม

5.เป็นแบบฉบับป้อมขนานแท้ของฝรั่งเศส ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 17-19 แต่ก็ยังเป็นต้นแบบของป้อมฝรั่งเศสสมัยหลังในเวียดนาม และอาณานิคมของฝรั่งเศสอีกหลายแห่งเช่น ที่เมืองวินห์และเมืองเว้ หรือในสมัยรัตนโกสินทร์หลังจากป้อมบางกอกถูกสร้างขึ้นนานกว่า 300 ปี

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน