รู้จักโบราณสถานเก่าแก่ 400 ปี “วัดนางกุย” คนสร้างคือหญิงสาวร่ำรวยชื่อ ‘นางกุย’ ผุดทฤษฎีเกี่ยวข้องกับ “ยายกุย” ในละครพรหมลิขิตหรือไม่?

วันนี้ (27 ต.ค. 66) จากกระแสฮิตละครฟอร์มยักษ์แห่งปีอย่าง “พรหมลิขิต” ภาคต่อจากละครฮิต ‘บุพเพสันนิวาส’ ซึ่งการกลับมาในครั้งนี้ ก็มีทั้งตัวละครเดิมจากภาคที่แล้ว และตัวละครใหม่ที่น่าจับตามอง

หนึ่งในตัวละครใหม่ คือ “ยายกุย” รับบทโดย ‘รัดเกล้า อามระดิษ’ เจ้าของสวนผัก สังกัดออกญาวิสูตรสาคร ผู้เชื่อว่าพุดตานเป็นเทวดา จึงให้ที่อยู่อาศัยและดูแลเป็นอย่างดี

ยายกุย และ แม่กลิ่น

ภาพประกอบ จาก ละคร พรหมลิขิต

กลายเป็นเรื่องราวที่ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัยถกเถียงกัน เมื่อมีผู้ใช้บัญชีพันทิปตั้งกระทู้สอบถามว่า “ยายกุย และ วัดนางกุย มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่?”

เหตุเพราะผู้สร้าง ‘วัดนางกุย‘ มีชื่อว่า ‘นางกุย’ จริงๆ ซึ่งเป็นหญิงสาวที่ร่ำรวยในสมัยอยุธยา จึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ ว่าจะเป็น ‘ยายกุย’ ในละครพรหมลิขิต เพราะรับเลี้ยงดูแม่พุดตาน หลาน อ.ชีปะขาว จนร่ำรวยได้เงินเยอะมาสร้างวัด

ทำเอาชาวเน็ตพากันวิเคราะห์หนักว่าเรื่องดังกล่าว แค่เพียงบังเอิญ หรือ ‘ตัวละครยายกุย’ จะมีตัวตนอยู่จริงๆ

ภาพประกอบ วัดนางกุย

ภาพประกอบ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ประวัติความเป็นมา “วัดนางกุย”

ตั้งอยู่เลขที่ 30 หมู่ 5 ตำบลสำเภาล่ม สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยากว่า 400 ปี เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองด้านใต้ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก มีสิ่งสำคัญประจำวัดคือ พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี ผู้ที่สร้างวัดนางกุย คือ นางกุย เป็นผู้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย

ในสมัยก่อนวัดนี้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ต่อมาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดนางกุยได้ถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ได้มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ ในพระนครศรีอยุธยา

วัดนางกุยเป็นวัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณะในส่วนต่าง ๆ เช่น อุโบสถ หน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑ และเสมาคู่ รวมทั้งเจดีย์และพระปรางค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2484

หลวงพ่อยิ้ม

ภาพประกอบจาก Facebook : วัดนางกุย

ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐาน “พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี” ปางสมาธิ และ “หลวงพ่อยิ้ม” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่แกะจากไม้สักทองและลงรักปิดทองเป็นพระเก่าแก่อยู่คู่กับวัดมานาน

จากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ว่าสมัยก่อน หลวงพ่อยิ้มได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด ทางเจ้าอาวาสได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มมาประดิษฐานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากนี้ยังมี ศาลแม่ตะเคียนทอง เป็นศาลต้นตะเคียนใหญ่ที่อยู่คู่วัดมานานกว่า 400 ปี และได้ยืนต้นตายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2540 ทางวัดจึงได้นำมาแกะสลักเป็นรูปแม่ตะเคียนทอง และนำมาไว้บนตอตะเคียนต้นเดิม เพื่อได้ให้คนมาสักการะบูชา

ยายกุย และ แม่กลิ่น

ภาพประกอบ จาก ละคร พรหมลิขิต

จากกรณีที่หลายคนสงสัยว่า “ยายกุย และ วัดนางกุย มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่?” และ “นางกุย คือตัวละคร ยายกุย ในพรหมลิขิตหรือเปล่า?”

คำตอบ คือ วัดนางกุย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ ‘ตัวละครยายกุย’ ในพรหมลิขิต

เหตุเพราะ ‘วัดนางกุย’ ถูกสร้างขึ้นก่อนในปี พ.ศ.2130 ขณะที่ ‘ยายกุย’ มีชีวิตอยู่ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ซึ่งครองราชย์อยู่ในปี พ.ศ. 2251 มีระยะเวลาที่ห่างกันถึง 121 ปี ทำให้เชื่อได้ว่า ‘นางกุย’ และ ‘ยายกุย’ ในละครพรหมลิขิต ไม่ใช่คนเดียวกันนั้นเอง

ยายกุย

ภาพประกอบ จาก ละคร พรหมลิขิต

ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน