ประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร) ผู้ปราบปรามความไม่สงบ-ฟื้นฟูพุทธศาสนา ยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ก่อนอาณาจักรล่มสลาย ใน พรหมลิขิต

วันนี้ (30 ต.ค. 66) เรียกได้ว่าดำเนินเรื่องอย่างเข้มข้น สำหรับละครฟอร์มยักษ์ “พรหมลิขิต” ภาคต่อจาก ‘บุพเพสันนิวาส’ ที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ รอมแพง ในภาคนี้นอกจากสีสันความสนุก และความฟินจากพระ-นางแล้ว ก็ยังคงสอดแทรกประวัติศาสตร์สำคัญในอดีตอีกด้วย

โดยอีกหนึ่งตัวละครสำคัญ ซึ่งมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” หรือ เจ้าฟ้าพร รับบทโดย ‘อ้วน-เด่นคุณ งามเนตร’

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร) รับบทโดย เด่นคุณ งามเนตร

ภาพประกอบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร) รับบทโดย เด่นคุณ งามเนตร

ประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 (พ.ศ. 2223 – 7 เมษายน พ.ศ. 2302) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 4 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง

เรียกกันอย่างสามัญชนว่า ขุนหลวงบรมโกษฐ หรือ พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ รัชสมัยของพระองค์เป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาก่อนที่อาณาจักรจะล่มสลายหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต 9 ปี

“25 ปีในรัชสมัยของพระองค์มีความสำคัญคือ

เป็นยุคสงบสุขยุคสุดท้ายของอยุธยา

เป็นยุคที่งานวรรณกรรม ศิลปกรรม เฟื่องฟู”

ก่อนครองราชย์

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระนามเดิมว่า ‘เจ้าฟ้าพร’ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2223 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ)

มีพระเชษฐาคือเจ้าฟ้าเพชร พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระบัณฑูรน้อยในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 และเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 (พระเจ้าท้ายสระ)

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ภาพประกอบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

ปราบดาภิเษก

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ได้เกิดการสู้รบกันระหว่างพระองค์กับพระราชโอรสของพระเจ้าท้ายสระคือ ‘เจ้าฟ้าอภัย’ และ ‘เจ้าฟ้าปรเมศร์’

อันเนื่องมาจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีสิทธิที่จะขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐาอย่างถูกต้อง แต่เมื่อพระเจ้าท้ายสระใกล้สวรรคตกลับตัดสินพระทัยยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่

แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่รับสืบราชสมบัติเพราะเห็นว่ามีกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งสมควรได้สืบราชสมบัติมากกว่า พระเจ้าท้ายสระจึงยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) เป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง กินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าภายหลังเหตุการณ์สงบแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้ขึ้นครองราชย์เฉลิมพระนามว่าพระมหาธรรมราชา (แต่ในบัญชีพระนามเจ้านายว่าพระเจ้าบรมราชา) และสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัย และ เจ้าฟ้าปรเมศร์

พระอุปนิสัย

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระกมลสันดานต่างกันกับพระบรมพระบิดา (สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี) และพระเชษฐาธิราช (สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ)

โดย เป็นพระมหากษัตริย์ที่ ‘ละเว้นการปาณาติบาต’ หรือ การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทรงประพฤติกุศลสุจริตธรรม สมณพราหมณาประชาราษฎร

ระหว่างครองราชย์

ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครองราชย์ เกิดเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย อาทิ เสด็จประพาสล้อมช้าง ณ เมืองลพบุรี, กบฏจีนนายก่าย (พ.ศ. 2277), พระราชโอรสแย่งชิงราชสมบัติ, กรุงกัมพูชานำช้างเผือกมาถวาย, เสด็จสมโภชพระพุทธชินราช เมืองพิษณุโลก,การเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงอังวะ และ ส่งสมณทูตฟื้นฟูศาสนาพุทธ ณ กรุงลังกา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร) รับบทโดย เด่นคุณ งามเนตร

ภาพประกอบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (เจ้าฟ้าพร) รับบทโดย เด่นคุณ งามเนตร

พระราชกรณียกิจ

ด้านการเมืองการปกครอง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองและพระศาสนาจนกล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยาในสมัยพระองค์นั้น สมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่าเป็น ยุคบ้านเมืองดี

มีขุนนางคนสำคัญที่เติบโตในเวลาต่อมา ในรัชกาลของพระองค์หลายคน เช่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้น

ในทางด้านวรรณคดี ก็มีกวีคนสำคัญ เช่น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ เจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดา เป็นต้น

ทว่าการเมืองภายในกรุงศรีอยุธยารัชสมัยพระองค์ก็ยังมีความขัดแย้งสูงมาก ไม่สามารถควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์ของขุนนางได้มากนัก ด้วยสาเหตุการขยายตัวด้านการค้าและเงินตราที่มุ่งแต่ “…จเอาแต่เงินเป็นอนาประโยชน์เอง”

นอกจากนี้การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ก็ล้วนมีขุนนางให้ความช่วยเหลือ พระองค์จึงทรงประนีประนอมผลประโยชน์ และอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับขุนนางให้เกิดความสงบสุข

ด้านศิลปวัฒนธรรม

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีพระจริยวัตรโอบอ้อมอารี ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส และถือวัตรปฏิบัติตามแนวพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง

ตลอดรัชกาลพระองค์ทรงใส่พระทัยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองจนเป็นที่ยอมรับของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธด้วยกัน พระองค์ทรงได้รับสมัญญาว่าเป็น พระธรรมราชา อีกทั้งยังทรงสร้างปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ อย่างประณีต

วัดที่สร้างปฏิสังขรณ์ในรัชกาล อาทิ

  • วัดพระศรีสรรเพชญ์
  • วัดพระราม ป
  • พระเจดีย์ภูเขาทองและพระอารามวัดภูเขาทอง (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
  • วัดกุฎีดาว
  • วัดจันทร์สุวรรณโพธิธาราม (วัดแลง) จังหวัดระยอง
  • วัดศรีโพธิ์ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

ยิ่งไปกว่านั้นจิตรกรรมในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนับว่าเป็นศิลปกรรมยุคที่ 4 ที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยอยุธยาตอนปลาย

รัชกาลพระองค์ทรงทำนุบำรุงบทกวีและวรรณคดีให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเป็นองค์อุปถัมภ์วรรณคดีตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ มีงานนิพนธ์ทุกชนิดโดยเฉพาะกลอน ทั้งกลอนกลบทและกลอนบทละคร เชื่อว่าถือกำเนิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

วรรณกรรมชิ้นเอกที่เป็นที่รู้จักในรัชกาลพระองค์ อาทิ

  • โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ พ.ศ. 2270 วัดป่าโมก จังหวัดอ่างทอง
  • โคลงประดิษฐ์พระร่วง (ปรดิดพระร่วง)
  • โคลงพาลีสอนน้อง
  • โคลงราชสวัสดิ์
  • โคลงทศรถสอนพระราม
  • โคลงราชานุวัตร
  • จินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ
  • อิเหนา
  • กาพย์ห่อโคลงนิราศประพาสธารทองแดง
  • กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
  • กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท

การสวรรคต

เมื่อ พ.ศ. 2293 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระชนมายุ 71 พรรษา (บ้างว่า 70 พรรษา) ก่อนถึงพระวาระสุดท้ายนั้น เกิดเหตุอัศจรรย์หลายอย่างเป็นลางบอกเหตุ

จนกระทั่งถึงเวลาค่ำปฐมยามเศษ (ราว 18.00 น.) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2301 สิริพระชนมายุ 78 พรรษา พระองค์อยู่ในราชสมบัติรวม 26 พรรษาถ้วน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน