เปิดบทลงโทษ “กฎหมายโบราณของไทย” หากทะเลาะวิวาท-ให้ร้ายด้วยวาจา และทำร้ายร่างกาย พิจารณาโทษอย่างไร หากวิวาทภายในเขตพระราชฐาน โทษเฆี่ยนตี-ใส่ขื่อจองจำ-ถอดเล็บ

วันนี้ (1 พ.ย. 66) เป็นกระแสอย่างต่อเนื่องสำหรับละครฟอร์มยักษ์ “พรหมลิขิต” ภาคต่อจากละครฮิต ‘บุพเพสันนิวาส’ ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของรอมแพง โดยกลับมาในภาคนี้ก็ยังคงความสนุกสนานดุเดือดเผ็ดร้อน ทำเอาเหล่าแฟนละครอินหนักมาก

แถมรอบนี้ยังมีตัวละครใหม่ “แม่กลิ่น” หลานสาวของ ‘ยายกุย’ รับบทโดยสาว “น้ำตาล-พิจักขณา วงศารัตนศิลป์” ที่พลิกบทบาทมาเล่นร้าย ซึ่งบอกเลยว่าถึงพริกถึงขิง เข้าถึงบทบาทตัวละคร และถ่ายทอดออกมาได้ร้ายสมใจจริงๆ

กลายมาเป็นตัวละครที่มีฉากฟาดฟันกับนางเอกของเรา “แม่พุดตาน” รับบทโดย “เบลล่า-ราณี แคมเปน” ไม่ว่าจะเข้าฉากไหน ก็ต้องมีการปะทะ เรียกได้ว่าเป็นมวยถูกคู่จริงๆ

แม่กลิ่น แม่พุดตาน

ภาพประกอบจาก ละคร พรหมลิขิต

แม้ว่าทั้งคู่จะมีการปะทะวาจากันหลายครั้ง แต่ยังไม่ถึงกับการปะทะร่างกาย แต่รู้หรือไม่ ในอดีตการทะเลาะวิวาท ให้ร้ายด้วยวาจา และทำร้ายร่างกาย มีกฎหมายระบุโทษด้วย

“กฎหมายโบราณ” ของไทยที่เกี่ยวข้องกับ ทะเลาะวิวาท การให้ร้ายด้วยวาจา และการทำร้ายร่างกาย มีระบุเป็นลายลักษณ์อักษรในหัวข้อ “พระไอยการลักษณวิวาทด่าตีกัน”

ประกอบด้วย 46 มาตราใน กฎหมายตราสามดวง หรือ “ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1” อันเป็นประมวลกฎหมายสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่ใช้สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

“พระไอยการลักษณวิวาทด่าตีกัน” นั้นมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ การให้ร้ายด้วยวาจา การหมิ่นประมาท และการทำร้ายร่างกายกัน โดยตามมาตรา 1 กล่าวถึงกับการนับโทษแต่ละกระทงหรือความผิดตามระบบศักดินา ซึ่งแต่ละชนชั้นจะเรียกค่าสินไหม (เงินชดใช้ค่าเสียหาย) แตกต่างกันไป ดังนี้

  • มาตรา 1

“๑ มาตราหนึ่ง วิวาทด่าตีกัน โทษ ๙-๑๐ กทง มิให้เรียกกทงไหม โทษสิ่งใดหนักให้เอาสิ่งนั้นตั้งไหม ต่ำนา ๔๐๐ ลงมาให้เอาบันดาศักดิผู้เจ็บ-ได้ตั้งไหม แต่นา ๔๐๐ ขึ้นไปให้เอาบันดาศักดิผู้สูงนาฝ่ายเดียวตั้งไหมให้แก่ผู้ชนะ ถอ้ยที ถอ้ยด่าดีกัน ให้ไหมกลบลบกัน เหลือนั้นเปนสีนไหม-พิไนยกึ่ง”

จะเห็นว่า คู่ขัดแย้งที่มีศักดินาต่ำ จะเรียกค่าสินไหมโดยอิงจากผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่คู่ขัดแย้งที่ศักดินาสูงตั้งแต่ 400 ขึ้นไป (กลุ่มชนชั้นสูง ได้แก่ ขุนนาง พระบรมวงศ์ศานุวงศ์ รวมถึงพระเจ้าแผ่นดิน) จะนับสินไหมของคู่กรณีที่ยศสูงกว่าเป็นที่ตั้ง โดยหักล้างกันในกรณีเกิดการตอบโต้ทั้ง 2 ฝ่าย

  • มาตรา 2

ส่วนมาตรา 2 กล่าวถึง เหตุวิวาทที่เกิดเป็นหมู่ ความว่า “๒ มาตราหนึ่ง ๑๐ คนตีคนเดียวบาทเจบก็ดี คนเดียวตี ๑๐ คนบาทเจบก็ดี ใช่มันจตีแต่ทีเดียวหามิได้ มันย่อมตีคนละที ให้ไหมมันผู้เดียวให้แก่เขาจงทุกคนโดยยศถาศักดิ ๑๐ คนตีมันคนเดียวมีบาทเจบนั้น ท่านให้ไหม ๑๐ คนให้แก่มันผู้เดียว”

“ถ้ามัน ๑๐ คนตีมันคนเดียวแตกช้ำบาทเจบหลายแห่ง ให้ไหมมันผู้บันดานโกรธเปนต้นเหตุนั้นไว้แห่งแตกแลบาทเจบทังนั้นให้ไหมรายตัวผู้ตี ถ้าบาทเจบแต่แห่งหนึ่ง ๒ แห่ง ให้เอาคนทังนั้นเปนแต่พวกมิได้ลงมือ ถ้ามันคนเดียวตี ๑๐ คนบาทเจบหลายแห่ง ให้ไหมผู้เดียวให้แก่เขาจงทุกคนตามบาท-แผลมากแลน้อย”

จะเห็นว่าการ “ทะเลาะวิวาท” เป็นหมู่ ไม่ว่าเป็นกรณีคนหมู่มากรุมกระทำ หรือคนหมู่น้อยกระทำต่อคนหมู่มาก จะคิดสินไหมของผู้กระทำมอบแก่ผู้ถูกกระทำอย่างครบถ้วน พร้อมคำนวนตำแหน่งบาดแผลหรือจุดที่ถูกกระทำประกอบการจ่ายสินไหม

แม่กลิ่น ยายกุย แม่พุดตาน

ภาพประกอบจาก ละคร พรหมลิขิต

  • มาตรา 3

มาตรา 3 กล่าวถึง กรณีมีการกล่าวโทษแบบหลายกระทงและการหักล้างค่าสินไหมกันและกันของคู่ขัดแย้ง ความว่า “๓ มาตราหนึ่ง โจทหาว่าจำเลยตีด่า-ฟันแทงตนเจบปวด เปนโทษถึง ๙-๑๐ กทงก็ดี ฝ่ายจำเลยให้การเกี้ยวแก้กล่าวโทษโจทว่า โจทตีด่าฟันแทงมีบาทเจบถึง ๙-๑๐ กทงก็ดี ท่านว่าโทษอันใดใหญ่-หนัก ให้เอาแต่สิ่งนั้นตั้งไหมกลบลบกัน เหลือนั้นเปนสีนไหม-พิไนยกึ่ง”

เหล่านี้คือวิธีการคำนวน หักล้าง ค่าสินไหมที่คู่ขัดแย้งต้องจัดสรรแก่คู่กรณีตามแต่โทษที่ตนกระทำ ขอยกตัวอย่างกรณี “การวิวาทด่าตี” ด้วยการหมิ่นประมาทในมาตรา 37 ของพระอัยการตามประมวลกฎหมายนี้ อันเป็นเรื่องการใส่ความเรื่อง “ชู้” การประพฤติผิดในกาม และการด่าโดยเปรียบเทียบกับสัตว์ ดังนี้

“๓๗ มาตราหนึ่ง ด่าสบประมาทท่านให้ได้ความอาย ว่ามึงทำชู้ด้วยแม่มึง ๆ ทำชู้ด้วยพ่อมึง ๆ ทำชู้ด้วยหลานมึง ถ้าเปนสัจดั่งมันด่า อย่าให้มีโทษแก่ผู้ด่านั้นเลย ให้ลงโทษแก่มันผู้กระทำการลามกนั้นโดยบทพระอายการ ถ้าพิจารณาเปนสัจว่ามันแกล้งด่าท่านให้ได้อาย ให้ไหมกึ่งค่าตัวตามกระเศียรอายุศม์ผู้ต้องด่า

อนึ่งด่าท่านว่ามึงเปนชู้กูก่อนมึงเปนข้ากูก่อนก็ดี พิจารณาเปนสัจว่ามันแกล้งด่าท่านให้ได้ความอายอดสูดั่งนั้น เปนสบประมาทให้ไหมกึ่งค่า ถ้าจริ่งดุจมันด่าไซร้ให้ไหมกึ่งนั้นลงมาเล่า ถ้าด่าสิ่งอื่นเปรียบเทียบท่าน พิจารณาเป็นสัจท่านว่ามันด่าหมูประทามันด่าหมาประเทียบ ให้ไหมโดยเบี้ยค่าตัวเอาแต่กึ่งหนึ่ง…”

จะเห็นว่าการหมิ่นประมาทแบบใส่ความเรื่องชู้สาวระหว่างเครือญาตินั้น หากเป็นความจริง จะถือเป็น “การเปิดโปง” ความผิด ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับโทษ ขณะที่ผู้กล่าวหาจะต้องจ่ายสินไหมเมื่อเรื่องที่ใส่ความถูกพิสูจน์ว่าเป็นความเท็จ ส่วนการใส่ความหรือด่าทอเรื่องอื่น ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ ผู้กล่าวหาก็ต้องจ่ายสินไหมในอัตราที่ต่าง ๆ อยู่ดี

ภาพประกอบ กฎหมายตราสามดวง (ภาพจาก "พระมหากษัตริย์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน" จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี)

ภาพประกอบ กฎหมายตราสามดวง (ภาพจาก “พระมหากษัตริย์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน” จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี) จาก ศิลปวัฒนธรรม

กรณีมีการทำร้ายร่างกายกัน หรือบุคคล 2 คนทะเลาะวิวาทกัน กฎหมายโบราณ ของไทย ตามมาตรา 38 – 39 ะถือผู้ล่วงล้ำหรือเริ่มกระทำรุนแรงก่อนเป็นผู้ “รุก” และต้องชดใช้สินไหมให้แก่คู่กรณี

“๓๘ มาตราหนึ่ง รุกไปด่าตีท่านก็ดี สองรุกด่าตีกันก็ดี ให้พิจารณาจงรู้ทางบกน้ำห้วยบาง ทางลุ่มดอนขี่ขอนไม้ ขี่เรือขี่แพขี่ช้าง ผู้อยู่หัวมาท้าย ๆ มาหัว อยู่เรือขึ้นบก อยู่บกลงมาเรือ อยู่เรือลำหนึ่งค่ามไปเรือลำหนึ่งก็ดี ข้ามฟากคลองที่แดนตนไปถึงที่แดนบ้านเรือนท่าก็ดีแลอยู่เรือนทับทึมแลบนต้นไม้ก็ดี ผู้อยู่ใต้ต้นไปขึ้นไปถึงบน ผู้อยู่บนลงมาถึงล่างก็ดี ปักกันปันแดนไว้ล่วงเข้าไปก็ดี อยู่เหนือน้ำลงมาไต้ก็ อยู่ไต้น้ำขึ้นไปเหนือน้ำก็ดี ท่านว่าให้เอาเปนรุก”

“๓๙ มาตราหนึ่ง วิวาทร้องด่าเถียงกัน ผู้ใดออกไปจากที่แดนตน รุกเข้าไปถึงที่แดนท่านด่าตีกันไซ้ ท่านว่าผู้นั้นรุก ให้ไหมโดยพระราชกฤษฎีกา”

แม่พุดตาน แม่กลิ่น

ภาพประกอบจาก ละคร พรหมลิขิต

ทั้งนี้ มีข้อกำหนดการรับฟ้องในคดีการวิวาทตาม “พระไอยการลักษณรับฟ้อง” สำหรับผู้ถูกกระทำหรือคู่ขัดแย้งสามารถฟ้องร้องเอาความภายใน 15 วันหลังเกิดเหตุ ดังนี้

“มาตราหนึ่ง ทวยราษฎรทังหลายวิวาทด่าตี กันด้วยประการใด ๆ ก็ดี ถ้าจะให้ร้องฟ้องพิพากษากล่าวหากันให้มาร้องฟ้องแต่ใน ๑๕ วัน พ้นกว่านั้นอย่าให้รับฟ้องไว้บังคับบันชาเปนอันขาดทีเดียว”

นอกจากนี้ กฎหมายโบราณ อย่าง “ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1” ยังมี “กฎมณเทียรบาล” ว่าด้วยบทลงโทษสำหรับผู้ที่ ทะเลาะวิวาทภายในเขตพระราชฐาน ด้วย ซึ่งเหตุลักษณะนี้จะถือเป็นการผิดต่ออาญาแผ่นดิน มีบทลงโทษที่รุนแรงก่อนการไต่สวน โดยบทลงโทษนั้นมีตั้งแต่ การเฆี่ยนตี ใส่ขื่อจองจำ ไปจนถึงการถอดเล็บเลยทีเดียว

“อนึ่ง ผู้ใดเถียงกันในวัง เลมิดพระราชอาญา ให้ตีด้วยไม้หวาย ๕๐ ที ถ้าด่ากัน ให้ตีด้วยไม้หวาย ๑๐๐ ที แล้วจึ่งให้ถามความเชเลาะนั้น แลให้ไหมตามกระบิลเมืองท่าน…”

“อนึ่งวิวาทเถียงกันในพระราชวัง ให้จำใส่ขื่นไว้ 3 วัน ถ้าด่ากันในพระราชวัง ให้ตีด้วยไม้หวาย ๕๐ ที ถ้าชกตีกันให้ปอกเลบมือข้างผู้ตีนั้นเสีย ๕ นิ้ว ถ้าจับมีดพร้าอาวุธฟันแทงกันมีบาดเจบไซ้ ให้ปอกเลบมือเสียทั้ง ๑๐ นิ้วแล้วจึ่งว่าเนื้อความซึ่งวิวาทนั้น แลให้ไหมโดยความเมืองท่าน”

เนื้อความตามประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 ระบุปีที่ตรากฎหมายคือ “มหาศักราช 1369” (พ.ศ. 1992) ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาถูกยกเลิกหลังเปลี่ยนมาใช้ “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127” ในปี พ.ศ. 2451 ที่มีความทันสมัยกว่า ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือได้ว่า “ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1” หรือกฎหมายตราสามดวงนั้นเป็นประมวลกฎหมายโบราณที่ใช้กันมาอย่างยาวนานเกือบ 500 ปี

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน