เปิดที่มา ประวัติศาสตร์ ‘ยกทรง’ บนโลก เส้นทางผู้หญิงไทยเริ่มใส่ ‘เสื้อชั้นใน’ ตั้งแต่เมื่อไร? การรับอิทธิพลจากตะวันตก-การเรียกร้องสิทธิในร่างกายของผู้หญิง

วันนี้ (9 พ.ย. 66) หนึ่งในฉากที่เรียกความฮือฮาในโลกโซเชียล จากละครฟอร์มยักษ์ ‘พรหมลิขิต’ ภาคต่อจากละครฮิต บุพเพสันนิวาส นั่นก็คือฉากที่ ‘แม่นายการะเกด’ แนะนำให้ ‘พี่ผิน’ และ ‘พี่แย้ม’ รู้จักกับ ‘เสื้อยกทรง’ หรือ ‘บรา’ นั่นเอง

โดยในปัจจุบัน สังคมมีแนวคิดและค่านิยมที่เปิดกว้าง โอบรับทุกความหลากหลาย ทั้งยังตระหนักถึงความมั่นใจในรูปร่าง และสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง

ทั้งยังมีงานวิจัยออกมาว่า การไม่สวมชั้นในไม่ได้เป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็งเต้านม รวมไปถึงมี นวัตกรรมใหม่ ๆ ของ ‘ชุดชั้นใน’ ที่ไม่จำเป็นต้องใส่ ‘บรา’ ให้อึดอัดเหมือนแต่ก่อน อาทิ เทป, แผ่นแปะลักษณะต่าง ๆ ฯลฯ

ภาพประกอบจาก ละคร พรหมลิขิต

ภาพประกอบจาก ละคร พรหมลิขิต

จุดเริ่มต้นการใส่ “ยกทรง”

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ‘บรา’ ตัวแรกมีจุดกำเนิดขึ้นมาในสมัยกรีกโบราณ พบหลักฐานเสื้อผ้าคล้าย ‘ชุดชั้นใน’ ที่ปรากฏในงานอีเลียดของโฮเมอร์ ซึ่งเทพอโฟรไดท์กำลังถอดผ้าคาดเอวที่น่าสงสัยออกจากอกอยู่

รวมไปถึงบทละครของอริสโตฟาเนส อย่างเรื่อง ลีซิสตราตา ก็ปรากฏฉากที่พูดถึงผ้ารัดหน้าอก








Advertisement

อย่างไรก็ตาม ‘บรา’ ที่ตอนนั้นมีหน้าที่เพียงแค่รัดอกเอาไว้ ก็ไม่ได้ถือเป็นแฟชั่น เมื่อเทียบกับ “คอร์เซ็ต” สิ่งประดิษฐ์สุดฮอตที่สร้างขึ้นมาช่วง ค.ศ. 1500-1600 และได้รับความนิยมในหมู่สตรีอย่างยาวนาน

มีวัสดุสำคัญคือ เหล็ก หรือโลหะ ทำเป็นโครงตามตัวคล้ายอักษร S เพื่อปรับสัดส่วนให้สตรีมากหน้าหลายตามีทรวดทรงองค์เอว โดยในช่วงยุควิกตอเรียนเรียกว่าเป็นเทรนด์ของสาว ๆ ชนชั้นสูงและกลางเลยก็ว่าได้

ภาพ คอร์เซ็ต โดย Maison Léoty, French (1891) จาก The Met museum

ภาพ คอร์เซ็ต โดย Maison Léoty, French (1891) จาก The Met museum

กระทั่งในปี 1913 ‘บราเซีย’ ที่มีรูปร่างคล้ายคลึงปัจจุบันก็โผล่หน้าค่าตามาให้เห็นโดย “คาเรสส์ ครอสบี้” (Caresse Crosby) เนื่องจากเสื้อผ้าของเธอชำรุดจากคอร์เซ็ตที่สวมใส่ไว้ด้านใน จึงทำให้ครอสบี้ต้องเรียกผู้ติดตามให้หยิบผ้าเช็ดหน้าสองผืนในกระเป๋าและริบบิ้นสีชมพูมาให้

ก่อนจะรังสรรค์ให้กลายเป็น ‘บราเซีย’ ที่มีทรงคล้ายบิกินี่ โดยต้องผูกเชือกจากด้านหลัง

หลังจากทำเสร็จ เธอก็สวมใส่ออกงาน จนเกิดคำถามตามมาในหมู่แขกในงานว่า เธอสามารถเต้นรำได้อย่างพลิ้วไหวและอิสระเช่นนี้ได้อย่างไร เนื่องจากการใส่ ‘คอร์เซ็ต’ ทำให้ร่างกายขยับเขยื้อนลำบาก

ก่อนจะพบว่า เธอใส่ ‘บราเซีย’ แบบใหม่ที่ไม่ใช่โครงเหล็ก จนมีคนมอบเงินให้ครอสบี้เพื่อตัดเย็บชุดแบบนี้ให้มากมาย ท้ายที่สุดเธอก็ตัดสินใจสร้างธุรกิจ “บราเซียไร้หลัง” ขึ้น และจดสิทธิบัตรเจ้าชั้นในแบบฉบับของตนเองในปี 1914

Patent design for a “backless brassiere” by Mary Phelps Jacob (Caresse Crosby).

Patent design for a “backless brassiere” by Mary Phelps Jacob (Caresse Crosby).

ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายประเทศต้องรวบรวมกำลังพลและทรัพยากรจำนวนมากเพื่อทุ่มเทให้กับการสู้รบครั้งใหญ่หลวงนี้

อีกทั้งในปี 1917 คณะกรรมการอุตสาหกรรมสงครามแห่งสหรัฐฯ ก็ขอให้หญิงอเมริกันหยุดซื้อคอร์เซ็ต เพื่อให้มีเหล็กและโลหะสำหรับการสร้างยานพาหนะ ยุทโธปกรณ์ และยังให้เหตุผลอีกว่า การที่เหล่าสตรีไม่ใส่คอร์เซ็ตจะทำให้พวกหล่อนทำงานในโรงงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้หญิงจึงต้องหยุดใส่คอร์เซ็ตเพื่อรูปร่างอันสวยงาม ก่อนจะพบว่าการใส่บราเซียแบบใหม่นั้นสบายกว่าไหน ๆ ไม่ต้องทนเจ็บปวดกับความแข็งและรัดแน่นของเหล็ก

หลังจากสงครามจบลง วัฒนธรรมการใส่คอร์เซ็ตก็หายวับไปกับตา เหลือเพียงแค่บราเซียที่กำลังเข้ามาเป็นเครื่องแต่งกายกระแสหลัก

วันเวลาผ่านไป ‘บราเซีย’ ที่กำเนิดขึ้นมาจากผ้าเช็ดหน้าสองผืน ก็แปรเปลี่ยนเป็นรูปร่างมากยิ่งขึ้น ช่วงแรกยังคงมีขนาดเดียว เน้นทำจากวัสดุยืดหยุ่นได้เป็นหลัก

กระทั่งปลายทศวรรษ 1920 ถึงต้นทศวรรษ 1930 อีนิด บิสเซตต์ (Enid Bissett), William (วิลเลียม) และ Ida Rosenthal (ไอดา โรเซนธาล) ผู้ก่อตั้ง Maidenform แบรนด์ยกทรงที่มีชื่อเสียง ก็คิดระบบไซซ์บราขึ้นมาอย่างที่รู้จักในชื่อคัพ A-B-C-D (บางคนก็เชื่อว่า S.H. Camp and Company เป็นผู้ริเริ่ม)

ต่อมา ก็พัฒนาให้ ‘บรา’ มีสายและตะขอที่ปรับขนาดเองได้ รวมถึงเริ่มคิดค้นบราที่ช่วยเสริมสร้างทรวดทรงของหน้าอกให้เด่นชัดขึ้นเพื่อความสวยงาม

ภาพประกอบ Jane Russell ใน The Outlaw (1943)

ภาพประกอบ Jane Russell ใน The Outlaw (1943)

ความนิยมใน ‘บราเซีย’ พุ่งกระฉูดสูงขึ้นไปอีก เมื่อทศวรรษ 1940 ปรากฏภาพดาราฮอลลีวูดสาวอย่าง เจน รัสเซลล์ (Jane Russell) จากเรื่อง “The Outlaw” (1941) กำลังนอนอวดโฉมกับรูปร่างอันงดงามของตนเอง โดยเฉพาะทรวดทรงของหน้าอกที่สวยงาม โดดเด่นออกมาด้วยการใส่บรา

และต่อมาก็มีดาราฮอลลีวูดอีกมากมายสวมใส่ โดยเฉพาะ มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) ดาราสาวทรงเสน่ห์ ยิ่งทำให้เทรนด์ในการใส่ชุดชั้นในเพื่อดันทรงอก หรือตอนนั้นคือทรง Bullet Bra หรือ Torpedo Bra ภาษาไทยเรียกทรงหัวกระสุน ได้รับความนิยมเป็นพลุแตกครอบคลุมไปถึงช่วง 1950

ชุดชั้นในจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของเหล่าสตรีไปโดยปริยาย เพราะนอกจากเหล่าไอคอนิกทั้งหลายจะสวมใส่จนเป็นสินค้ามัสต์แฮฟ! ของเหล่าหญิงสาวที่ต้องตามเทรนด์ให้ทันแล้วนั้น ยังมีการระบุไว้เลยว่า ผู้หญิงต้องใส่บราเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของยูนิฟอร์มระหว่างทำงาน

จนในช่วงทศวรรษ 1960 มีการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงให้มีอิสระในเรือนร่างของตนเอง

ก่อนที่จะเกิดชุดชั้นในแบบใหม่ ๆ ตามมา เช่น แบบตะขอหน้า โดย เฟรเดอริก เมลลินเกอร์ (Frederick Mellinger) ผู้ก่อตั้ง Frederick’s of Hollywood เกิดยกทรงแบบสปอร์ตบรา ฯลฯ เพื่อรองรับความต้องการของผู้สวมใส่ที่หลากหลายขึ้นและเจาะตลาดกลุ่มใหม่ ๆ ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพประกอบจาก ละคร พรหมลิขิต

ภาพประกอบจาก ละคร พรหมลิขิต

สำหรับประเทศไทย ผู้หญิงเริ่มใส่ ‘บรา’ ตอนไหน?

จากการศึกษาพบว่า ในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สตรีไทยมีอิสระที่จะใส่หรือไม่ใส่เสื้อเพื่อปิดบังหน้าอกเวลาอยู่ในที่สาธารณะ โดยพบได้จากหลักฐาน เช่น ภาพวาดตามฝาผนัง งานจิตรกรรม หรือภาพถ่ายต่างๆ

แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะใส่หรือไม่ใส่เสื้อผ้าของสตรีก็ยังคำนึงถึงความเหมาะสมและกาลเทศะ เช่น การแต่งกายเมื่อเข้าวัดก็จำเป็นต้องสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด

สาเหตุที่ทำให้สตรีไทยในอดีตไม่สวมเสื้อผ้าอาจเป็นเพราะ ลักษณะสภาพอากาศของประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน การใส่เสื้อปกปิดร่างกายอาจจะทำให้รู้สึกร้อน อึดอัด หรือทำให้รู้สึกไม่สบายตัว

โดยผู้หญิงในบางประเทศที่อยู่ในเขตร้อนเหมือนกันก็มีการแต่งกายที่คล้ายกัน เช่น ผู้หญิงในสมัยก่อนที่อาศัยอยู่บนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ก็ไม่นิยมใส่เสื้อเช่นกัน

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สตรีไทยในอดีตไม่ได้มองว่าเต้านมของผู้หญิงเป็นสิ่งยั่วกามารมณ์ แต่เป็นเพียงแค่อวัยวะหนึ่งของร่างกาย

นอกจากนี้ หน้าอกของผู้หญิงก็เป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นสาวอีกด้วย การเปลือยอกในบริบทของช่วงเวลานั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่ผิดต่อค่านิยมของสังคม เเละในขณะเดียวกันยังเป็นเทรนด์ที่กระทำกันโดยทั่วไปอีกด้วย

การปกปิดเต้านมของผู้หญิงไทย เริ่มเกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ซึ่งเป็นยุคเดียวกันกับสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ การแต่งกายของผู้หญิงในสมัยวิคตอเรียนั้นจะต้องสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด และต้องปกปิดเต้านมหรืออาจเปิดได้แค่บริเวณเนินอกเท่านั้น

ภาพประกอบ

ภาพประกอบ จาก Museum Siam

แนวคิดเกี่ยวกับการแต่งกายแบบวิคตอเรียนเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ยุคที่อังกฤษกำลังล่าอาณานิคมแถบเอเชีย โดยเริ่มจากการให้ผู้หญิงในราชสำนักต้องหาผ้ามาปกปิดเต้านม และได้แพร่หลายไปทั่วสารทิศ จากราชวังสู่ชาวบ้าน จากเมืองหลวงสู่ชนบท

ทั้งเริ่มมีบทบาทชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของคนไทยอย่างแท้จริง ทรงเสด็จประพาสยุโรป ทรงนำการแต่งกายแบบยุโรปกลับมาใช้ในประเทศไทย บุคคลชั้นสูงแต่งนำแล้วจึงมีผู้แต่งตาม

“เสื้อทรงพริ้นเซส” (เสื้อรัดรูปมีตะเข็บเป็นทางตั้ง) เป็นที่นิยมมาก และได้ถูกดัดแปลงเป็นเสื้อชั้นในรุ่นแรกคือ ตัดโค้งให้กว้างและไม่มีแขน ตัดสั้นเหนือเอว เปิดตลอดด้านหน้ากลัดดุม มีกระเป๋าตรงใต้อก 1-2 ใบ เรียกว่า “เสื้อผ่าตะเข็บ” เสื้อชั้นในรุ่นต่อมาคือ “เสื้อคอกระเช้า” ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังมีคนใส่เช่นนั้นอยู่

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไทยในท้องถิ่นชนบท ก็ไม่ถนัดที่จะใส่เสื้อชั้นใน โดยเด็กผู้หญิงจะเกล้าจุก ใส่เสื้อคอกระเช้า แต่ข้างในจะไม่ใส่อะไร พอเริ่มแตกเนื้อสาวจึงใช้แถบผ้า คล้ายริบบิ้นสอดรอบคอเสื้อ และรูดให้เสื้อพองย่นออกด้านหน้า ป้องกันไม่ให้เห็นหน้าอกชัดเจน

ภาพประกอบ

ภาพประกอบ

จนกระทั่งถึง สมัยจอมพลเเปลก พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นยุคลอกเลียนตะวันตก หรือ ยุคของการเปลี่ยนเเปลงให้เป็นเเบบตะวันตก (Westernization) โดยได้มีการออกกฎหมายกำหนดเเละควบคุมรูปแบบการแต่งกายของหญิงชายให้มีความเป็นอารยชนหรือทัดเทียมชาติตะวันตก

โดยจะเห็นได้ชัดว่ารัฐเริ่มได้เข้ามาควบคุมเรือนร่างของประชาชนมากยิ่งขึ้น อันส่งผลถึงการก่อร่างสร้างตัวของวัฒนธรรมการเเต่งกายใหม่ โดยมีเนื้อความส่วนหนึ่งกล่าวว่า

“ให้แต่งกายให้สมกับเป็นอารยชน โดยกำหนด การแต่งกาย และทรงผมแบบใหม่ ขอให้สตรีทุกคน ไว้ผมยาว เลิกใช้ผ้าโจงกระเบน เปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงแทน เลิกการใช้ ผืนเดียวคาดอก หรือเปลือยกาย ท่อนบน ให้ใส่เสื้อแทน ส่วนชายนั้นขอให้เลิกนุ่งกางเกงแพรสีต่างๆ หรือผ้าม่วง เปลี่ยนมาเป็น นุ่งกางเกงขายาวแทน”

จะเห็นได้ว่าในวัฒนธรรมการเเต่งกายมิดชิดเพื่อปกปิดหน้าอกของสตรีภายใต้บริบทสังคมไทยนั้น เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้น เเละได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมตะวันตกเมื่อไม่นานมานี้ ไม่ว่าจะเป็นสตรีชนชั้นล่าง หรือสตรีชนชั้นสูงล้วนเเต่เคยเปลือยอกอย่างเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาเเล้วในอดีต

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม, Museum Siam

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน