ป้ามล-ทิชา นำทีมภาคีเครือข่ายเด็กและสตรีกว่า 100 องค์กร ร้อง ‘บิ๊กอุ้ม’ ใช้ยาแรง แก้คุกคามทางเพศ หลังศาลสั่งจำคุกตลอดชีวิต 6 จำเลย ย่ำยีนักเรียน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 ธ.ค.2566 ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว พร้อมด้วย น.ส.อังคะนา อินทะสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยตัวแทนภาคีเครือข่ายองค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัว กว่า 40 คน ยื่นหนังสือที่มีองค์กรด้านเด็ก สตรี ครอบครัวและภาคประชาสังคม กว่า 100 องค์กร ร่วมลงชื่อ ถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบรมว.ศธ. เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อศธ.

ป้ามล-ทิชา นำทีมภาคีเครือข่ายเด็กและสตรีกว่า 100 องค์กร ร้อง ‘บิ๊กอุ้ม’ ใช้ยาแรง แก้คุกคามทางเพศ

หลัง ศาลจังหวัดมุกดาหาร มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ให้จำคุกจำเลย 6 ราย แบ่งเป็นครู 4 คน รุ่นพี่ 2 คน ตลอดชีวิต และให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งรวมกว่า 3 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ฐานก่อเหตุข่มขืน รุมโทรม นักเรียน 3 คนต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2562-2563 โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ. ในฐานะโฆษกศธ. รับเรื่องแทน

นางทิชา กล่าวว่า การที่ศาลตัดสินถือเป็นความสำเร็จระดับปัจจัยเจก แต่หากต้องการให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอย่างแท้จริง ศธ. ต้องส่งสัญญาณเพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้เครือข่ายยุติความรุนแรงทางเพศในสถานศึกษา กว่า 100 องค์กร เห็นว่า เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยกับนักเรียนในความดูแลของศธ. และเกิดจากการกระทำของบุคลากรทางการศึกษาเอง สะท้อนถึงความรุนแรงทางเพศที่ฝังรากลึกในระบบการศึกษาไทย เครื่องข่ายจึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนที่เป็นการละเมิดกฎหมายให้ศธ. ทำหน้าที่เป็นเจ้าทุกข์ร่วมในการแจ้งความและฟ้องดำเนินคดีทางอาญา ประสานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็กผู้เสียหายและผู้ปกครอง ช่วยจัดการให้ถึงความคุ้มครองสวัสดิภาพและได้รับการเยียวยาทางจิตใจโดยด่วน

2.หากสอบสวนพบครูหรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นล่วงละเมิดทางเพศต่อนักเรียน ให้ศธ.ลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุด ถอดถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่ให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนโดยเด็ดขาด

3.รัฐมนตรีหรือผู้บริหารระดับสูงของศธ.รีบดำเนินการเอาผิด ป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงช่วยเหลือผู้กระทำผิด ต้องรีบลงพื้นที่สร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้เสียหาย ครอบครัว รวมถึงครู นักเรียนที่ไม่ได้กระทำผิด

4.เร่งจัดเวทีระดมสมองจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนานโยบายและมาตรการเชิงรุกในการป้องกัน แก้ไขปัญหาที่ปฏิบัติได้จริง สำหรับโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศ

5.ทบทวนการทำงานของศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ (ศคพ.) และพัฒนาให้มีความเป็นอิสระ เป็นมิตรต่อผู้เสียหาย มีองค์กรภายนอกที่เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศเข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง

6.ให้การศึกษาแก่ครูและผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศเกี่ยวกับหลักการและแนวปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็ก การเคารพความเสมอภาคมทางเพศ และมีแนวปฏิบัติเพื่อสร้างให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความรุนแรงทางเพศ

7.ขอให้ประชาชน ผู้ปกครอง ช่วยจับตา สอดส่องความผิดปกติของครู นักเรียน และโรงเรียนที่อาจนำไปสู่การคุกคามทางเพศ เพื่อให้เกิดการป้องปราม ตัดวงจรที่จะนำไปสู่ความเสียหาย

น.ส.อังคะนา กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ เคยมาที่นี่เมื่อหลายปีก่อน และพยายามจะให้การแก้ปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ซึ่งเกิดขึ้นจริง มีข้อมูลว่า ผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่จะเป็นบุคลากรทางการศึกษา ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ เราคาดหวังและมีความหวังให้ศธ.มีกลไกทำงานขับเคลื่อนทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยกับเด็กๆ อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข่าวความรุนแรงทางเพศ ปี2564 จากหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ พบข่าวความรุนแรงทางเพศรวม 98 ข่าว กว่าครึ่งหนึ่งกลุ่มผู้ถูกกระทำอายุระหว่าง 11-15 ปี ร้อยละ60 ผู้ถูกกระทำเป็นเด็ก วัยรุ่นและนักเรียน ร้อยละ 16 ของข่าวผู้กระทำเป็นบุคลากรทางการศึกษา และเมื่อลงรายละเอียดพบว่า เครื่องดื่มแอลอฮอล์ ยาเสพติดเป็นปัจจัยสำคัญในการก่อเหตุถึงร้อยละ38 และร้อยละ 19 ตามลำดับ

สอดคล้องกับกรณีมุกดาหาร ที่พบว่าหลังบ้านพักครูจะพบกองขวดเหล้าเบียร์จำนวนมาก จุดที่น่าสังเกตคือเหตุการณ์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว ทำไมคนในพื้นที่จึงไม่เห็นความผิดปกติ ดังนั้นการมีส่วนรวมของชุมชน คนในพื้นที่ นักเรียนรวมถึงครูที่ไม่ได้อยู่ในขบวนการจึงมีความสำคัญมาก

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า รมว.รศธ.ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ตามนโยบายเรียนดี มีความสุข และแน่นอนว่าความสุขในสถานศึกษา และความสุขของผู้เรียนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังมีการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน หรือมีการคุกคามทางเพศในสถานศึกษา

ทั้งนี้กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ส่วนตัวมองว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดที่สุดในกระบวนการศึกษา ตลอดเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการศธ. ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก ทุกวันจะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่ ศูนย์ความปลอดภัย หรือ MOE Safety Center ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลโดยเร็วที่สุด

โดยจะมีบางกรณีที่คล้ายกับมุกดาหาร แนวทางของศธ. มีความชัดเจนว่า เมื่อมีประจักษ์พยานชัด จะแยกผู้ล่วงละเมิดออกจากเหยื่อก่อน และสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยที่ยังไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า ศธ.ใช้ยาแรงเพื่อที่จะป้องปรามผู้ที่ก่อเหตุในลักษณะนี้ อย่างไรก็ดีเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ศธ. ยินดีที่จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน