ชลน่าน สั่ง อย. แก้กฎหมาย ‘เครื่องเป่าแอลกอฮอล์’ ออกจากเครื่องมือแพทย์ หวังผับบาร์ หันมาใช้คัดกรองลูกค้าก่อนกลับบ้าน

วันที่ 22 ธ.ค.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่ขยายเวลาการเปิดสถานบริการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทย นำร่องใน 4 จังหวัด ว่า นโยบายดังกล่าว เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยว แต่เราในมิติด้านสุขภาพก็มีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดอุบัติ ความสูญเสียกับประชาชนน้อยที่สุด ซึ่ง สธ. จะเก็บข้อมูลผลกระทบจากนโยบายนี้ต่อไป

อย่งไรก็ตาม ระหว่างนี้เราเน้นย้ำเรื่องการดื่มแล้วขับ จึงมีคำแนะนำให้สถานบริการจัดเตรียมอุปกรณ์ตรวจวัดระดับหรือปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อคัดกรองลูกค้าก่อนออกจากร้าน โดยปริมาณจะต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่เครื่องมือดังกล่าวอยู่ในกฎหมายที่เป็นเครื่องมือแพทย์

ดังนั้น ระหว่างที่จะแก้ไขกฎหมายให้เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้โดยบุคคลทั่วไปนั้น จะประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้าใจถึงเรื่องนี้ และอย่าเพิ่งจับกุมคนที่นำเครื่องเป่าแอลกอฮอล์มาใช้

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามที่ คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ มีคำแนะนำว่า การเปิดสถานบริการถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้นนั้น ทางสถานบริการควรจัดที่พัก คอยให้ผู้มาใช้บริการ จัดรถไปส่ง รวมถึงจัดอุปกรณ์ตรวจวัดระดับหรือปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ ซึ่งได้คุยกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้คำแนะนำดังกล่าวไปเน้นย้ำกับสถานบริการ

ทั้งนี้ เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์แบบเป่านั้น จะมีการแก้ไขกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ใช้เป็นอุปกรณ์ทั่วไป เหมือนเครื่องวัดความดันโลหิต แต่ในทางกฎหมาย ยังต้องใช้เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ชนิดที่เป็นทางการแพทย์อยู่

เมื่อถามว่าหากสถานบริการมีเครื่องเป่า แต่ผู้ใช้บริการไม่เป่า จะเอาผิดได้หรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่สามารถบังคับได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ แต่การที่สถานบริการมีมาตรการนี้ จะเป็นการยกระดับมาตรฐานของสถานบริการนั้นๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่า เมื่อเข้ามาที่ร้านแล้วจะได้รับความปลอดภัยด้วย

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 กำหนดให้เครื่องตรวจวัดระดับหรือปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องแสดงเอกสารที่แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยและต้องมีมาตรฐาน เนื่องจากต้องนำผลไปใช้ประกอบการสอบสวนทางคดีความ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายนำร่องเปิดสถานบริการจนถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เริ่มใน 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ทางคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มฯ มีคำแนะนำสถานบริการจะมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ให้กับผู้บริการก่อนออกจากร้าน แต่อุปกรณ์ดังกล่าว ยังเป็นเครื่องมือแพทย์ หากใช้โดยบุคคลทั่วไปนั้นก็จะมีความผิดได้

“ขณะนี้ นพ.ชลน่าน ได้ประสานขอความร่วมมือกับตำรวจว่า หากพบเห็นร้านใดที่ใช้เครื่องเป่าแอลกอฮอล์ อย่าเพิ่งไปจับกุม เพราะให้ยึดถือความปลอดภัยและประโยชน์ของประชาชนก่อน ขณะเดียวกัน อย.กำลังหาบทเฉพาะกาลในการแก้กฎหมายให้เครื่องวัดแอลกอฮอล์ชนิดเป่า เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้ได้ทั่วไป” นพ.ณรงค์กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีที่เครื่องเป่าแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องมือทั่วไปแล้วจะดูมาตรฐานความแม่นยำได้หรือไม่ นพ.ณรงค์กล่าวว่า กรณีนี้ จะต้องมาดูว่าการออกกฎหมาย อาจต้องเป็น 2 ลักษณะคือ 1.อุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ใช้อ้างอิงทางกฎหมายได้ และ 2.เครื่องมือทั่วไปที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้าจาก มอก. เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ตรวจวัดได้เองในเบื้องต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน