สัตวแทพย์กรมอุทยานฯ ผ่าตัดศัลยกรรม หางสิงโต พบภาวะผิดปกติกัดแทะหาง หลังฟื้นตัว ต้องเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง เหตุแก่และเป็นโรคหัวใจ

วันที่ 11 ม.ค.2567 นายอนันต์ ศรีผุดผ่อง หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี รายงานว่า ทีมสัตวแพทย์เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก และ ทีมสัตวแพทย์กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า

ผ่าตัดศัลยกรรมหาง สิงโต เพศเมีย ชื่อแม่อดทน อายุ 14 ปี (มีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจ) หลังพบว่าแม่สิงโตมีภาวะผิดปกติโดยมีกัดแทะหางของตนเองมาตลอดติดต่อกันเป็นระยะเวลารวม 5 วัน ทีมสัตวแพทย์จึงตัดสินใจรักษาโดยวิธีการศัลยกรรมผ่าตัดกระดูกหาง เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา

สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตวป่าบึงฉวาก และ สพ.ญ.ธชพรรณ ลีลาพตะ นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า พร้อมทีมสัตวแพทย์รักษาโดยเริ่มการยิงยาสลบ และให้ยาดมสลบจากเครื่องดมยาสลบ

เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาผ่าตัดค่อนข้างนาน ประกอบกับสัตว์มีอายุที่มาก ทีมสัตวแพทย์จึงตัดสินใจใช้เครื่องดมยาสลบตลอดระยะเวลาการผ่าตัด สภาวะการหายใจระหว่างการผ่าตัดปกติ ไม่พบการกลั้นหายใจ ชีพจรเต้นเบากว่าปกติเล็กน้อย ค่าออกซิเจนในกระแสเลือดปกติ

นายอนันนต์ กล่าวอีกว่า จากนั้นผ่าตัดกระดูกหาง ผ่าตัดเนื้อตายโดยรอบ ตลอดระยะเวลาการผ่าตัด ให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ โดยสัตวแพทย์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อแผล เย็บปิดแผล และฉีดยาฆ่าเชื้อแบบออกฤทธิ์ในกระแสเลือดได้ยาวนาน 7 วัน ฉีดยาลดปวด ลดอักเสบ ชนิดออกฤทธิ์กดอาการปวดได้ดีระดับการผ่าตัดกระดูก เจาะเก็บเลือด

เพื่อส่งตรวจสุขภาพทางห้องปฏิบัติการทางสัตวแพทย์ จากนั้นฉีดยาฟื้นสลบ และสัตว์ฟื้นสลบปกติ โดยทีมสัตวแพทย์ยังคงต้องเฝ้าระวัง ดูอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสิงโตตัวดังกล่าวนี้ มีอายุที่มากและมีประวัติเคยป่วยโรคหัวใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน