หมอหมู วีระศักดิ์ ชวน ทำความรู้จัก ‘เด็กพิเศษ’ กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ แนะ หากพบ เด็กออทิสติก มีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรรีบพาไปพบแพทย์

วันนี้ (29 ม.ค. 67) หมอหมู หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ทำความรู้จัก ‘เด็กพิเศษ’ กลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ

ภาพประกอบ จาก Facebook : หมอหมู วีระศักดิ์

โดยระบุว่า เด็กพิเศษ มาจากคำเต็มว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หมายถึง เด็กกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติมจากวิธีการตามปกติ ทั้งในด้าน การใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการเข้าสังคม

เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพของเขาเอง โดยออกแบบการดูแล ช่วยเหลือเด็ก ตามลักษณะความจำเป็น และความต้องการของเด็กแต่ละคน

เด็กพิเศษ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

1.เด็กที่มีความสามารถพิเศษ

2.เด็กที่มีความบกพร่อง: แบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ดังนี้

  • เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหว
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์ และพฤติกรรม
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities)
  • เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities)
  • เด็กออทิสติก (รวมถึงความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้านอื่นๆ – PDDs)
  • เด็กที่มีความพิการซ้อน

3.เด็กยากจนและด้อยโอกาส

อย่างไรก็ดี คำว่า “เด็กพิเศษ” ในปัจจุบันมักหมายถึง กลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องเท่านั้น ส่วนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ กับกลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาส มักไม่ค่อยเรียกว่าเป็นเด็กพิเศษ

ภาพประกอบ จาก Facebook : หมอหมู วีระศักดิ์

พร้อมกันนี้ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ยังแนะนำการสังเกตพฤติกรรมของ เด็กออทิสติก บางราย ที่อาจมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายผู้อื่นได้ สาเหตุหลักมาจากความบกพร่องในการสื่อสารและการเข้าสังคม

เด็กออทิสติก อาจมีปัญหาในการเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น จึงอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจ หรือทำลายข้าวของ เพื่อแสดงออกถึงความโกรธ ความหงุดหงิด หรือความคับข้องใจ

นอกจากนี้ เด็กออทิสติก อาจมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง จึงอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมาอย่างกะทันหัน โดยอาจไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน

เด็กออทิสติก บางรายอาจมีอาการหมกมุ่นหรือชอบทำซ้ำ ๆ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นได้ เช่น การทำร้ายตนเอง การทำร้ายผู้อื่น การทำลายข้าวของ หรือวิ่งเล่นอย่างไร้ทิศทาง

ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ เด็กออทิสติก ทำร้ายผู้อื่น ได้แก่

  1. ระดับความรุนแรงของความบกพร่องทางสติปัญญา
  2. ประวัติความรุนแรงในครอบครัว
  3. สภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น การถูกกลั่นแกล้ง หรือการถูกทอดทิ้ง

หากพบว่า เด็กออทิสติก มีพฤติกรรมก้าวร้าว ควรรีบพาไปพบแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินสาเหตุและหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม

ภาพประกอบ จาก Facebook : หมอหมู วีระศักดิ์

ที่มา : หมอหมู วีระศักดิ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน