อย่าหาทำ ไวรัลออนไลน์ พ่อค้า เทน้ำยาล้างจาน ลงในปลา อ้างเพิ่มอากาศ อ.เจษฎ์ ชี้ไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ถูกต้อง แนะใช้เครื่องปั๊มอากาศ ได้ประโยชน์กว่า

กลายเป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์ เมื่อมีผู้โพสต์คลิป พ่อค้าปลาเทน้ำยาล้างจานใส่ในกระบะขนส่งปลา โดยอ้างว่า ถ้าในน้ำมีฟองเยอะปลาจะมีอากาศไม่น็อกน้ำ แล้วน้ำยาล้างจานเป็นสูตรสกัดจากธรรมชาติ

ต่อมา ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ออกมาอธิบาย ในเรื่องดังกล่าว ระบุว่า “ไม่สนับสนุนให้เอาน้ำยาล้างจาน ไปผสมน้ำแช่ปลาครับ”

เช้านี้มีคนทักหลังไมค์มาหลายคนเลย ถึงกรณีที่มีคลิปวิดีโอเผยแพร่ไวรัลกัน เป็นการเอาน้ำยาล้างจานยี่ห้อหนึ่ง มาผสมในน้ำที่สำหรับแช่ปลาระหว่างขนส่ง

โดยอ้างว่า ฟองของน้ำยาจะช่วยให้น้ำมีอากาศเยอะ ปลาจะไม่ตายง่าย แต่ทำให้หลายคนสงสัยว่า จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคปลานั้นจริงหรือ? แม้จะอ้างว่าน้ำยานั้น เป็นสูตรสกัดจากธรรมชาติก็ตาม

น้ำยาล้างจาน แม้จะมีหลายสูตรผสม แต่เป็นสารเคมีที่ใช้ทำครัวเรือน โดยองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณสมบัติลดแรงตึงผิว ทำให้คราบไขมันคราบสกปรกหลุดออกจากจานชามได้ง่ายขึ้น และไม่ได้จัดว่าเป็นอาหารสำหรับการบริโภคแต่อย่างไร แม้จะเรียกว่าเป็นแบบ food grade ก็ตาม (ซึ่งหมายถึงใช้กับภาชนะใส่อาหารได้ แต่ไม่ได้แปลว่า ให้เอามากินโดยตรง)

การเผลอกินน้ำยาล้างจานเข้าไปโดยตรง ซึ่งมักจะมีข่าวเกิดกับเด็กเล็กๆ นั้นนับว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะสารเคมีในน้ำยาจะทำให้เกิดความระคายเคืองสูง ทั้งจากการที่มันเป็นสารซักล้างและความที่มันมีค่า pH เป็นด่าง ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง เกิดอาการปวดท้องคลื่นไส้อาเจียนได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารที่กินเข้าไป และความเข้มข้นของสูตรน้ำยาที่ใช้ด้วย

แม้ว่าบางคนจะอ้างเรื่องที่ในต่างประเทศมีคนใช้น้ำยาล้างจานกัน “แบบล้างแล้วไม่ล้างน้ำเปล่าออก” นำไปคว่ำตากแห้งเลยก็ตาม แต่ในด้านของบริษัทผู้ผลิตนั้น จะมีการระบุเตือนว่า จริงๆ แล้วควรล้างด้วยน้ำเปล่าออกให้หมด (อ้างอิง https://www.somatdishwashing.com.au/…/dish-liquid…) ไม่ควรทิ้งให้เป็นคราบไว้ ซึ่งอาจมีผลต่อร่างกายได้








Advertisement

ดังนั้น การนำเอาน้ำยาล้างจานไปผสมกับน้ำที่ใช้แช่ปลานั้น แม้จะมีไม่มาก (ขึ้นกับปริมาณและความเข้มข้นของน้ำยาที่ใส่ลงไป) ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ ไม่ใช่แนวปฏิบัติที่ถูกต้องในการใช้น้ำยา และน้ำยาเองก็ไม่ได้แค่เคลือบผิวของตัวปลา แต่จะสามารถเข้าปากปลาไปอยู่ในร่างกายของปลาได้ด้วย

ส่วนเรื่องที่บอกว่าทำให้เกิดฟองน้ำยาขึ้น แล้วจะกักอากาศไว้ได้นั้น ก็ไม่น่าจะได้มากอย่างที่คิดกัน น่าจะเป็นความเชื่อตามกันมากกว่า การใช้เครื่องปั๊มอากาศลงไปในน้ำ น่าจะได้ประโยชน์ตรงไปตรงมามากกว่าครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน