นักเขียนแชร์ประสบการณ์ โดนคนอ่านด่าว่าเขียนผิด แต่เจ้าตัวต่างหาก ที่ไม่รู้คำศัพท์ เป็นไวรัล ทำชาวเน็ตแห่แซว ทำไมไม่หาข้อมูลก่อน

ภาษา เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว มักเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและบริบทของสังคม จึงทำให้มีคำศัพท์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งสังคมสมัยนี้ เน้นอะไรที่รวดเร็ว ย่อยง่าย สื่อที่ได้รับความนิยมยังเป็นสื่อสั้น ๆ ขนาดนิยายยังกำเนิดนิยายประเภทแชทขึ้นมา ได้รับความนิยมกว่านิยายบรรยายแบบปกติ

แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือ นักเขียนหลายคนที่เขียนนิยายเนื้อหาแบบบรรยาย พรรณา ได้รับคอมเมนต์ตำหนิจากนักอ่าน ว่าเขียนผิด ทั้งที่ความจริง คือ นักอ่านต่างหากที่ไม่รู้จักคำศัพท์เหล่านั้น

เช่นเดียวกับสาวรายหนึ่งที่มาแชร์ คอมเมนต์ จากนักอ่านที่มาคอมเมนต์ในนิยายของเธอว่า “แก้คำผิดหน่อยนะคะ มันคือ “ประกอบ” ค่ะ ไม่ใช่ ‘กอปร’ คนละคำเลยนะคะ ไม่เคยเห็นคำนี้ด้วย ไม่รู้ว่าไม่ได้ตรวจสอบดูก่อนหรอ เห็นผิดหลายจุดมาก เนื้อเรื่องกำลังสนุก พอมีคำผิดนี่อ่านแล้วหงุดหงิดค่ะ”

โพสต์ของเธอมีคนชมใน X กว่า 5.6 ล้านครั้ง และถูกแชร์ไปยังโซเชียลอื่น ๆ มากมาย หลายคนไม่ได้แปลกใจที่นักอ่านไม่รู้คำศัพท์ แต่แปลกใจที่ไม่หาข้อมูลก่อนต่อว่าคนอื่นมากกว่า

คนหนึ่งเข้ามาแชร์ว่า ตัวเองก็ไม่รู้จักคำว่า กอปร เหมือนกัน แต่พออ่านเจอก็ไปหาข้อมูล หาความหมายจนได้รู้ว่าแปลว่าอะไร

บางคนที่เป็นนักเขียนเหมือนกัน ก็เข้ามาแชร์ประสบการณ์ที่เจอแบบคล้าย ๆ กัน บอกเลยว่าพีก ๆ ทั้งนั้น เช่น

  • “”ทว่า” คิดว่าสะกดผิดจาก “ว่า”
  • “แก้มตอบ” ไม่เข้าใจ แก้มมันจะพูดตอบได้ยังไง!
  • “กัน” คิดว่าพิมพ์ผิดมาจาก “ฉัน” ซึ่งจริงๆ “กัน” เป็นภาษาเก่าแปลว่าฉันนี่แหละ
  • “ถ้าจะไม่มีรอยย่นต้องเกิดเป็นงู” = ไล่ให้ไปเป็นงูจริงๆ
  • “เชค” เป็นชื่อประเทศ ไม่ได้ไล่ให้ไปเช็คข้อมูล”

อาจเรียกได้ว่า คลังคำศัพท์ ของคนไทยยุคปัจจุบัน เข้าข่ายขั้นวิกฤตแล้วจริง ๆ อย่างไรก็ตาม สมัยนี้ เรามีสิ่งที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ต ค้นหาความรู้ได้ง่ายดายแค่ปลายนิ้ว หากไม่รู้ก็เพียงแค่หาข้อมูลก่อนเท่านั้นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน