สาวปวดท้อง-ท้องเสียบ่อย กินยาไม่หาย หมอเตือนเสี่ยงเป็น “ลำไส้แปรปรวน” แนะอาหารที่ควรเลี่ยง-ควรทาน

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 67 เว็บไซต์ HK01 ได้รายงานกรณีของ “นางเฉิน” วัย 41 ปี จากไถหนาน ของไต้หวัน มักประสบปัญหาสุขภาพ มีอาการท้องเสียเรื้อรัง รวมถึงท้องอืดท้องเฟ้อและมีลมในท้องบ่อยครั้ง

โดย นายแพทย์เหลียว เจียนจาง จากแผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลไถหนาน เผยว่า คนไข้รายนี้มักกล่าวว่า ตนเองท้องเสียและรู้สึกไม่สบายท้องบ่อยครั้ง โดยมีอาการท้องเสียมาหลายสัปดาห์ ทานยาแล้วไม่ดีขึ้น ซึ่งอาการที่กล่าวมาข้างต้นเข้าข่าย “โรคลำไส้แปรปรวน”

โรคลำไส้แปรปรวนคืออะไร?

โรคลำไส้แปรปรวน หรือไอบีเอส (IBS) เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยที่ไม่พบความผิดปกติอะไรที่โครงสร้างของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารและไม่มีพยาธิสภาพอื่นใด ผู้ป่วยมักปวดท้องบ่อย (จะรู้สึกหายปวดและสบายขึ้นหลังจากได้ถ่ายอุจาระ) สัมพันธ์กับการขับถ่าย ท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด มีลมมากในท้อง เรอบ่อย และคลื่นไส้

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของภาวะลำไส้แปรปรวนได้แน่ชัด แต่พบว่ามีหลายปัจจัยร่วมที่เป็นตัวกระตุ้น อาทิ การรับรู้ของระบบทางเดินอาหารที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ, ปัญหาในการย่อยอาหาร, การติดเชื้อในทางเดินอาหาร, ปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ ความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้า, สิ่งแวดล้อม และกรรมพันธุ์ (หากสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จะมีแนวโน้มการเกิดโรคนี้ได้2–3 เท่า)

โรคลำไส้แปรปรวนรักษาด้วยยาได้หรือไม่?

นายแพทย์เหลียวอธิบายว่า เบื้องต้นจะใช้ยาแก้ท้องเสียหรือท้องผูก อย่างไรก็ตาม ไม่มียาตัวใดที่สามารถช่วยให้อาการต่าง ๆ ของโรคลำไส้แปรปรวนดีขึ้นได้แน่ชัด จำเป็นต้องให้ยาตามอาการของผู้ป่วย จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมการบริโภคและทานอาหารเสริมโพรไบโอติกในลำไส้

อาหารที่ควรเลี่ยง-อาหารที่ควรทาน

นายแพทย์เหลียวเผยว่า ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เนื่องจากย่อยยากและตกค้างอยู่ในกระเพาะและลำไส้นานกว่าอาหารชนิดอื่น ก่อให้เกิดการหมักหมม มีแก๊สคั่งค้าง ไขมันจะเป็นตัวกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต, เลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด ซึ่งจะก่อให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร, เลี่ยงการทานเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายในน้ำ (Insoluble Fiber) เช่น ถั่ว มันเทศ มันฝรั่ง แป้งโฮลวีท ขนมปังต่าง ๆ

ส่วนอาหารที่สามารถลดความเสี่ยงหรือลดอาการได้แก่ ผักโขม กีวี มะละกอ องุ่น ข้าวสวย ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ฟักทอง เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์และนักโภชนาการควบคู่กันไปด้วย

ดังนั้นจึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการท้องเสีย ท้องอืด และอาการอื่น ๆ เป็นเวลานาน ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับรักษาด้วยยา และควรให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การนอนหลับที่เพียงพอ การออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น

ขอบคุณที่มา sikarin, cu-gimotility

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน