หมอเผยทริคดูแลสัตว์เลี้ยง เตือนโรคประจำสายพันธุ์ ยกเคสหมา-แมว “ชัก” ต้องตั้งสติ “อย่าเอาอะไรยัดปาก” ชวนเที่ยวงาน Pet Healthcare

วันที่ 28 มี.ค. 2567 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังพันธมิตร จัดงาน Pet Healthcare 2024 มหกรรมสุขภาพสัตว์เลี้ยงครั้งแรกของไทย” ให้บริการตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงฟรี โดยคณะสัตวแพทย์ชั้นนำของไทย เวทีเสวนา เวิร์กชอป สินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง พบปะสัตว์เลี้ยงของคนดัง พร้อมแคมเปญสอยดาวเพื่อช่วยเหลือสัตว์เจ็บป่วย ตั้งแต่วันที่ 28 – 31 มี.ค. เวลา 10.00 – 20.00 น. ที่ MCC Hall ชั้น 3 เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ บางกะปิ กรุงเทพฯ

โดยมีประชาชนทยอยเดินทางมาชมงาน พร้อมพาสัตว์เลี้ยงสุดน่ารักมาเข้าใช้บริการตรวจสุขภาพสัตว์ฟรี และแวะเลือกซื้อสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยงอย่างหลากหลาย

ในเวลา 14.00 น. เริ่มเวทีเสวนา Pet Health Talk หัวข้อ “ดูแลน้องยังไงเมื่อป่วยโรคระบบประสาท” โดย ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ สุวรรณา จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้บูธของคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาจัดคลินิกพิเศษเกี่ยวกับระบบประสาทด้วย จะมีคุณหมอมาตรวจน้องหมาและน้องแมวที่มาเยี่ยมชมภายในงาน

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวว่า สุนัขกับแมวก็เหมือนกับคนที่สามารถป่วยเกี่ยวประสาทได้เหมือนกัน อาการจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุว่าจะเกิดจากอะไร สิ่งที่อาจจะสังเกตได้ชัด คือ อาการชัก หรือ พวกกลุ่มลมชัก ซึ่งเกี่ยวกับความผิดปกติของสมอง สารสื่อประสาทในสมอง หรือ อาจจะเกี่ยวกับโรคทางสมองก็ได้ ที่จะเหนี่ยวนำทำให้เกิดอาการชักตามมา

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวต่อว่า เวลาที่เห็นสุนัขหรือแมวลงไปนอนชัก ตะกุยอยู่กับพื้น ตัวเหยียด ฉี่ราด อึราด จะมีแพทเทิร์นการชักบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตว่าอันนี้คืออาการชักหรือเปล่า เช่น อาการกระตุกของใบหน้า พฤติกรรมเปลี่ยนแบบเฉียบพลัน วิ่งวนๆ โดยไม่มีสาเหตุ เดินล้มเซ

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวอีกว่า บางครั้งพ่อแม่อาจจะไม่แน่ใจว่าใช่อาการทางระบบประสาทหรือเปล่า บางทีแมวอาจจะมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เดินไม่ได้เลย หรือเดินลากขาหลัง อันนี้ก็สามารถเป็นอาการทางระบบประสาทได้

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวต่อว่า หนึ่งในอาการที่ทำให้เกิดอาการชัก คือ โรคในสมอง ทั้งน้องหมาและน้องแมวที่เราเจอกันบ่อย เช่น เนื้องอกในสมอง สมองที่พัฒนาการผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือโรคสมองอักเสบ รวมถึงโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคหนึ่งที่ติดเชื้อแล้วมันจะเข้าไปสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการชักได้

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวอีกว่า สิ่งแรกเราต้องตั้งสติก่อน เพราะโดยปกติทั่วไป สุนัขหรือแมวที่ชักจะมีอาการชักนานไม่เกิน 5 นาที ถ้าเพิ่งเคยชักครั้งแรก ยังไม่ต้องทำอะไร แต่ห้ามเอาอะไรไปยัดปากสัตว์เลี้ยง เพราะมีโอกาสที่วัสดุจะหลุดเข้าไปในหลอดลม ห้ามเอาอะไรไปยัดปากเด็ดขาด

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวต่อว่า ต่อให้ชักเต็มที่ สุนัขกับแมวอาจจะมีการกัดลิ้นบ้าง แต่มีโอกาสกัดลิ้นค่อนข้างน้อย ค่อยทำแผล และห้ามไปกอด ห้ามไปล็อกตัวเด็ดขาด มันจะเกิดการล็อกข้อต่อและกระดูก จนได้รับการบาดเจ็บ หรือกระดูกหัก

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวอีกว่า ถ้าเคยไปพบคุณหมอแล้ว หลังจากน้องชักครั้งที่ 2-3 ให้เอายาที่หมอให้มาใช้ ส่วนวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ปล่อยให้เขาชักเต็มที่แล้วเขาจะหยุดไปเอง แต่ถ้าชักนานเกิน 5 นาทีถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ให้พาไปโรงพยาบาลใกล้ที่สุดเท่าที่จะหาได้

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวต่อว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งสติก่อน ถ้ามีโอกาสถ่ายคลิปน้องขณะชักก่อนไปพบสัตวแพทย์จะดีมาก คลิปจะมีประโยชน์มาก หากมีอาการแปลกที่เราไม่เคยเห็น เพื่อประกอบการวินิจฉัยของหมอ

“หมอเขาอาจจะเห็นว่า ดูแล้วยังไม่น่าใช่การชักนะ อาจจะเป็นพฤติกรรมตื่นเต้น เพราะสุนัขบางตัวเวลาตื่นเต้นมากๆ เขาจะวิ่งวนเต็มที่เลย อาจจะอึ จะฉี่ได้ ถ้าเรามีคลิปหรือประวัติพวกนี้ก็จะช่วยคุณหมอได้ค่อนข้างดี และรักษาได้เร็วมากขึ้น วินิจฉัยได้ถูกทาง และถูกต้อง” ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์กล่าว

ส่วนวิธีการป้องกันและดูแล ไม่ให้สัตว์เลี้ยงเกิดภาวะโรคประสาท ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวว่า พิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อสำคัญในบ้านเรา ต้องพาน้องหมาน้องแมวไปฉีดวัคซีน ที่บริการได้หลายที่มาก ทั้งในงานนี้ เพราะโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าเป็นแล้วเสียชีวิตไวมากและค่อนข้างทรมาน มันขึ้นกับระบบประสาท รวมถึงสุนัขสามารถเกิดอัลไซเมอร์ได้เหมือนกัน โดยจะเกิดกับสัตว์เลี้ยงอายุ 8 ปีเป็นต้นไป บางตัวเกิดเร็ว 10 ขวบก็แสดงอาการแล้ว หรืออายุ 12 ปี แล้วแต่ตัวสัตว์เลี้ยง

“โรคเสื่อมทางสมองรักษาไม่ได้ แต่สามารถป้องกันได้ เช่น ทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ อาจจะใช้วิธีการป้องกัน เมื่อเขา 7-8 ขวบ อาจจะให้เขาทานอาหารเสริม ที่จะช่วยชะลอความเสียหายของระบบประสาทได้”

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวต่อว่า โรคลมบ้าหมูที่เจอบ่อย อาจจะเจอได้ อย่างบีเกิล โรคเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าทุกตัวต้องเป็น เช่น โรคหมอนรองกระดูก หากเห็นบีเกิล หรือเฟรนช์บูลด็อก เวลาที่เราเลี้ยงสายพันธุ์พวกนี้ต้องใช้วิธีการป้องกัน เช่น ถ้าเขากระโดดโลดเต้นมาก เราอาจจะเลี้ยงบนพื้นราบ เลี่ยงการกระโดดขึ้นบันได หรือการยืน 2 ขา เขามีความเสี่ยงสูงเกี่ยวกับกระดูก เราต้องคอยห้ามปราม

“เฟรนช์บูลด็อก มีอีกโรคที่กระดูกสันหลังผิดรูปตั้งแต่กำเนิด เราต้องคอยดูแบบประคบประหงมเป็นพิเศษ ส่วนชิวาวา ข้อควรระวัง คือ โรคพวกน้ำในสมอง อาจจะเจอตอนโต 2-3 ขวบ, หลอดลมตีบ, โรคหัวใจ ต้องระวัง รวมถึงกลุ่มโรคเกี่ยวกับหมอนรองกระดูก ส่วนใหญ่จะพบตรงคอ สังเกตหากอุ้มหรือจับตรงไหนก็เจ็บ เพราะเวลาปวดคอจะปวดแปล๊บไปทั้งตัว ควรพาไปพบสัตวแพทย์ ต้องป้องกันการลุกลาม ไม่ให้เกิดเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต”

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวอีกว่า บางแก้ว กับ ไทยหลังอาน มักจะกระดูกสันหลังเสื่อมตอนแก่แล้ว พวกกระดูกคอเสื่อม ส่วนลาบราดอร์จะปวดกระดูกและสะโพก เมื่อไปพบคุณหมอเป็นประจำ ทุกครั้งที่ไปฉีดวัคซีน แวะตรวจสุขภาพสักหน่อย เพราะยิ่งถ้าเจอเร็วก็จะมาสามารถรักษาได้ไวขึ้น

ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์ กล่าวต่อว่า น้องหมาน้องแมวก็เหมือนคน เหมือนลูกเรา เขามีชีวิต จิตใจความรู้สึก ปวดขาก็บอกเราไม่ได้ สิ่งที่สำคัญเจ้าของต้องสังเกตเขาเป็นพิเศษ และหาอาหารที่เหมาะกับช่วงวัย พาไปฉีดวัคซีน ตรวจพยาธิเป็นประจำ

“ปีนี้เป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นสำหรับสัตว์เลี้ยง ผมคิดว่าแปลกใหม่ และเป็นสิ่งที่ดีให้คนเลี้ยงสัตว์ได้เข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ และพาน้องมาตรวจสุขภาพกับคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผู้เชี่ยวชาญ” ผศ.น.สพ.ดร.นิรุตติ์กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน