มาแล้ว! “น้ำปลานอร์เวย์” ดึงจุดขายหลัก ทำจากแซลมอนที่แรกในโลก เกรดระดับพรีเมียม หวั่นเกิดการแข่งขันในตลาด กระทบการส่งออก ‘น้ำปลาไทย’

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผย บริษัทนอร์เวย์ Noumami ใช้จุดแข็งในอุตสาหกรรมปลาของนอร์เวย์ ก่อตั้ง และผลิตผลิตภัณฑ์น้ำปลาจากปลาแซลมอน หลังจากทำการค้นคว้า และวิจัยมากว่า 5 ปี

บริษัท Noumami ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของนอร์เวย์ ห่างจากกรุงออสโลประมาณ 7 ชั่วโมงโดยรถยนต์ ก่อตั้งในปี 2560 โดยชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในนอร์เวย์ และเริ่มการผลิตน้ำปลาในปี 2561 หลังจากพัฒนาและวิจัยร่วมกับทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้แก่ สถาบัน The Norwegian Institute of Food, Fisheries and Aquaculture Research (Nofima) บริษัท Pelagia AS และ สถาบันกองทุนวิจัยอาหารทะเลนอร์เวย์ FHF (Norwegian Seafood Research Fund)

ภาพประกอบ

ทั้งนี้ บริษัทฯ ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าน้ำปลาเพียงอย่างเดียว โดยสินค้าน้ำปลาของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

  • น้ำปลาจากปลาแซลมอน
  • น้ำปลาจากปลาคอด (Cod)
  • น้ำปลาจากปลาผิวน้ำ (pelagic) เช่น ปลาแฮร์ริ่ง (herring) และปลาไข่ (capelin)

“โดยนำวัตถุดิบปลาเหล่านี้หมักด้วยเกลือ Eurosalt Aquamarine เป็นเวลากว่า 8 – 14 เดือน จนได้ผลผลิตน้ำปลาออกมา โดยไม่ใส่สารปรุงแต่งใดๆ (No artificial preservatives)”

สินค้าน้ำปลาของบริษัทจัดจำหน่ายทั้งในนอร์เวย์ และยังส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยจำหน่ายในร้านค้าปลีกนอร์เวย์ ได้แก่ A Food Market, Asia Engros AS, Green Asian AS, Scanasia butikk avd Storgata และ Scanasia butikk avd Stovner








Advertisement

อีกทั้งยังส่งออกไปยังประเทศเดนมาร์ก (ร้านค้าปลีกสินค้าเอเชียออนไลน์ WakuWaku) เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สโลวาเกีย ฮังการี เชค และสหรัฐอเมริกา โดยมีบริษัท HERMAN KUIJPER B.V. เป็น distributor ในยุโรป และยังมีร้านอาหาร Fine Dining ระดับบนของนอร์เวย์ Bro Kystgastronomi ณ เมือง Ålesund ที่ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำปลาของบริษัทฯ ด้วย

ภาพประกอบ

บทวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย ข้อเสนอแนะ โอกาสและแนวทาง และความคิดเห็นของสคต. โคเปนเฮเกน :

ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 การค้าระหว่างประเทศไทย – นอร์เวย์มีมูลค่า 137 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกจากไทยไปยังตลาดนอร์เวย์ 28 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 11 และไทยนำเข้าสินค้าจากนอร์เวย์รวมมูลค่า 73 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46

โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรกของไทยในตลาดนอร์เวย์ ได้แก่

  • เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 500
  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 10
  • เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 76
  • เครื่องนุ่งห่ม 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 251

กลุ่มสินค้าอาหารของไทยที่ส่งออกไปยังตลาดนอร์เวย์มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 16
  • ข้าว 0.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12
  • อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 0.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 25
  • ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 0.67 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 59
  • สิ่งปรุงรสอาหาร 0.64 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 โดยเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำปลา 0.03 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 30

สินค้าน้ำปลาจากบริษัท Noumami อาจก่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์น้ำปลาที่มีคุณภาพสูงในนอร์เวย์ และกลุ่มประเทศนอร์ดิก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีแนวโน้มนี้มากนัก แต่ในอนาคตอาจกระทบต่อธุรกิจน้ำปลาจากประเทศไทย

ทางบริษัท Noumami เล็งเห็นถึงโอกาสการใช้จุดแข็งของอุตสาหกรรมประมงนอร์เวย์ โดยเฉพาะปลาแซลมอนนอร์เวย์มาเป็นจุดขาย ดัดแปลง และพัฒนาจนมาเป็นน้ำปลาจากปลาแซลมอน

รวมถึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่อาหารเอเชียในนอร์เวย์ กลุ่มประเทศนอร์ดิก และทั่วโลกมีความนิยมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการบริโภคอาหารที่ผู้บริโภคใส่ใจด้านการรักษาสุขภาพ โดยบริษัทฯ เลือกที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใส่สารปรุงแต่งใดๆ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจน้ำปลาจากประเทศไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำปลาที่มาจากธรรมชาติ ปลอดสารปรุงแต่ง หรือผงชูรสเพื่อตอบสนองสู่แนวโน้มความต้องการตลาดนี้ได้

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน