ตลอดระยะเวลา 70 ปีนับตั้งแต่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ ทรงพระราชนิพนธ์งานเขียนไว้มากมาย แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และ พระปรีชาสามารถด้านภาษาและวรรณกรรม

งานพระราชนิพนธ์ชิ้นแรกๆ ของพระองค์นั้น เป็นบันทึกเรื่องราวต่างๆ พระราชทานคือ “พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8” และพระราชนิพนธ์เรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์, พระมหาชนก, ทองแดง และทองแดงฉบับการ์ตูน

ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงเห็นว่าภาษาอังกฤษได้กลายมาเป็นภาษาสำคัญ ในเวลาว่างพระองค์จะทรงพระอักษรและทรงพระราชนิพนธ์แปลบทความจากวารสารภาษาต่างประเทศ จนใน พ.ศ.2537 ทรงแปล “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ” และในปีต่อมาทรงแปลเรื่อง “ติโต” นอกจากนี้ ยังมีบทความที่ทรงแปลและเรียบเรียง ลงในนิตยสารต่างประเทศอีกหลายชิ้น

สำหรับหนังสือพระราชนิพนธ์และทรงแปล ได้แก่

1.เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์, 2489

เป็นพระราชนิพนธ์เรื่องแรก และได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ รายเดือน วงวรรณคดี ฉบับประจำเดือนส.ค. 2490 เป็นตอนแรก
4
ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในช่วงเวลาเสด็จพระราชดำเนินเพื่อกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2489 หลังจากพระองค์ท่านเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 ในราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2489

พระองค์ได้ทรงบันทึกผ่านพระอักษรเป็นเรื่องราวการเดินทาง แสดงถึงความรู้สึกของพระองค์ ตลอดจนเหตุการณ์ที่ทรงได้ประสบ

ขออัญเชิญความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เล่มนี้

วันที่ 19 ส.ค. 2489 – วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว…พอถึงเวลาก็ลงจากรถพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่าง แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกตและพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก

ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้ชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงชนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมาได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาส่งไปว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้” แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว

2.นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ (แปล), 2537
9
ทรงแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “A Man Called Intrepid” บทประพันธ์ของ เซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายกว่า 2 ล้านเล่ม ทรงใช้ระยะเวลาในการแปลถึง 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมิ.ย.2520 และเสร็จเมื่อเดือนมี.ค.2523 มีจำนวนถึง 501 หน้า แสดงให้เห็นว่าทรงมีพระราชอุตสาหะในการแปลเป็นอย่างมาก และในเดือนธ.ค.2536 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

3.ติโต (แปล), 2537
3
ทรงแปลเรื่อง ติโต จากต้นฉบับเรื่อง TITO ของ Phyllis Auty เมื่อปี พ.ศ.2519 เพื่อใช้ในศึกษาและเรียนรู้บุคคลที่น่าสนใจของโลกคนหนึ่ง รวมถึงผู้สนใจในประวัติศาสตร์ได้รู้จัก ติโต อย่างกว้างขวาง มากขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งฯ จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายทั่วประเทศ ในปี พ.ศ.2537 โดยมอบรายได้จากการจัดจำหน่ายสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา

ติโต รู้จักกันในนามของจอมพลติโต ผู้ที่ฟันฝ่าอุปสรรคในทุกวิถีทางเพื่อสร้างความเป็นไทให้แก่ประเทศ ของเขา

ทรงใช้ภาษาที่สามัญชนเข้าใจง่าย รวมทั้งการใช้โวหารเปรียบเทียบที่คมคาย “ความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากการได้ผู้นำที่ดีและมีความยุติธรรม”

4.พระมหาชนก, 2539

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

KONICA MINOLTA DIGITAL CAMERA

พระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก มีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษอยู่ในเล่มเดียวกัน ทรงแปลพระมหาชนกชาดกเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ.2531 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์ ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล เมื่อปี พ.ศ.2539

พระราชนิพนธ์พระมหาชนกนี้ มีภาพวาดโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ที่สำคัญมีภาพฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาทิ ภาพวันที่เรือล่ม โดยมีแผนที่อากาศแสดงเส้นทาง พายุจริงๆ และภาพพระมหาชนกทรงว่ายน้ำ โดยมีนางมณีเมขลาเหาะอยู่เบื้องบน เป็นต้น
1
พระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก มีหลักคำสอนที่จะช่วยให้ทุกคนพิจารณาแนวดำเนินชีวิตที่เป็นมงคล

5.พระมหาชนก ฉบับการ์ตูน, 2542

ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ เมื่อปี พ.ศ.2542 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ พระมหาชนก เป็นฉบับการ์ตูนเพื่อสะดวกแก่การศึกษาทำความเข้าใจของเด็กและเยาวชน อีกทั้งยังมีการจัดพิมพ์เป็นฉบับอักษรเบรล เพื่อเผยแพร่แก่คนตาบอดอีกด้วย

6.เรื่องทองแดง, 2545
6
ทรงพระราชนิพนธ์ เรื่อง ทองแดง (The Story of Tongdaeng) เผยแพร่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน และเป็นหนังสือที่ติดอันดับขายดีที่สุดของประเทศในปี พ.ศ.2545

คุณทองแดง สุนัขธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะมีลักษณะพิเศษทั้งด้านกายภาพและอุปนิสัย แสนรู้ เฉลียวฉลาด เป็นสุนัขทรงโปรดของพระองค์ท่านที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ประทับใจของประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นสุนัขทรงเลี้ยงตัวที่ 17 ติดตามถวายงานรับใช้พระองค์ท่านทุกครั้ง ไม่ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปที่ใด

เนื้อหาเป็นเรื่องความกตัญญูรู้คุณของ คุณทองแดง รวมทั้งความจงรักภักดี ความมีมารยาท และการสั่งสอนลูกของคุณทองแดง ในพระราชนิพนธ์ได้ทรงยกย่องคุณทองแดงในเรื่องความกตัญญูรู้คุณที่มีต่อแม่มะลิ “ผิดกับคนอื่นที่เมื่อกลายมาเป็นคนสำคัญแล้วมักจะลืมตัว และดูหมิ่นผู้มีพระคุณซึ่งเป็นคนต่ำต้อย” อันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต

7.เรื่องทองแดง ฉบับการ์ตูน, 2547
5
พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2547 ในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนโดยใช้ชื่อ ทองแดงฉบับการ์ตูน

8.พระราชดำรัส เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ

พระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของทุกปี

พระองค์ทรงเริ่มแปลพระราชดำรัส เรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อมซึ่งมีพระราชดำรัสเมื่อ วันที่ 4 ธ.ค.2532 พระราชดำรัสในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสหประชาชาติ และมีความประสงค์จะได้รับฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งพระองค์ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณแปลพระราชดำรัสเอง และจากพระราชดำรัส ดังกล่าว ทำให้รัฐบาลมีมติประกาศให้วันที่ 4 ธ.ค. ของทุกปี เป็นวัน “สิ่งแวดล้อมไทย” หลังจากนั้นก็ทรงแปลพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษาเรื่อยมา

จากผลงานของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถ พระวิริยอุตสาหะอันแรงกล้าในการทรงงาน กล่าวได้ว่า ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาอย่างแท้จริง นอกจากนี้พระองค์ทรงไม่มองข้ามความเป็นไทย อาทิ ภาพประกอบ ในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนแบบไทย และกระดาษที่ใช้จัดพิมพ์ โปรดให้ใช้กระดาษที่ผลิตในประเทศ

พระองค์เป็นแบบอย่างของประชาชนชาวไทย เน้นความเป็นไทย มีความภูมิใจในความเป็นไทย และใช้ของไทย

อ้างอิง : วรนุช อุษณกร. ในหลวงผู้ทรงพระอัจฉริยภาพ พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2544, วิชาการดอทคอม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน