เป็นละครอิงประวัติศาสตร์ที่มีกระแสดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับ ‘บุพเพสันนิวาส’ ซึ่งล่าสุดดำเนินมาถึงตอนที่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ถูกลงอาญาเฆี่ยนเนื่องจากรับเงินห้าสิบชั่งจากไพร่ที่ไม่อยากถูกเกณฑ์ไปสร้างป้อมปราการประจำหัวเมืองต่างๆ ตามนโยบายของสมเด็จพระนารายณ์กับฟอลคอน จนเป็นเหตุให้เจ้าพระยาโกษาเหล็กเสียชีวิตในเวลาต่อมา

สำหรับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งรับบทโดย สุรศักดิ์ ชัยอรรถ ถือเป็นอีกตัวละครที่มีชีวิตจริงในประวัติศาสตร์ โดยเฟซบุ๊กชื่อ “Kai Sura” ได้โพสต์ประวัติของโกษาเหล็กลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์” เพื่อให้ทุกคนได้ทราบเกี่ยวกับชีวิตของโกษาเหล็กไว้ ว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นบุตรชายคนโตของเจ้าแม่วัดดุสิต (พระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) กับขุนนางเชื้อสายมอญ ท่านเกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีน้องชาย 1 คน คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และน้องสาว 1 คน ชื่อ แช่ม หรือ ฉ่ำ

ท่านและน้องชายต่างเป็นข้าหลวงคนสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวคือ เมื่อกลุ่มขุนนางอาวุโสซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้การช่วยเหลือให้สมเด็จพระนารายณ์ได้ขึ้นครองราชย์หมดอำนาจลง กลุ่มขุนนางหนุ่มซึ่งนำโดยท่านและน้องชายจึงขึ้นมามีอำนาจแทน ท่านได้เป็นแม่ทัพในราชการสงครามหลายครั้งในต้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2226

แม้จะมิใช่เป็นกษัตริย์ยอดนักรบ ทว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) นี้ ก็นับเป็นวีรบุรุษคนสำคัญอีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะก่อนหน้าที่สมเด็จพระนารายณ์จะเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น ท่านเป็นเสมียนยอดนักรบคู่ใจของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขุนเหล็ก” พ.ศ. 2224 ปีนั้น พม่าตามพวกมอญเข้ามาในเขตไทย ขุนเหล็กก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาโกษธิบดี (เหล็ก) ในตำแหน่งแม่ทัพใหญ่นำทัพออกไปรับมือกับพม่า ซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็สามารถนำทัพเข้าต่อสู้โรมรันกับพม่าจนแตกพ่ายไปได้ในที่สุด

พ.ศ. 2225 สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ไปรับมือกับศึกพระเจ้าอังวะที่เข้ามาล่วงล้ำรุกรานไทย ศึกครั้งนั้นเป็นครั้งใหญ่กำลังพลของแต่ละฝ่ายนับได้ร่วมแสนคน ซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) มิได้เป็นแม่ทัพใหญ่ที่เตรียมการรุกและรับอย่างเดียว แต่ท่านได้ศึกษาการรบตามหลักพิชัยสงครามอย่างละเอียดรอบคอบ จนทำให้เอาชัยชนะพม่าได้อีกคำรบหนึ่ง

การเอาชนะพม่าได้ในครั้งนี้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้แสดงปรีชาสามารถในเชิงจิตวิทยา ครั้งหนึ่งได้แต่งหนังสือเป็นเชิงท้าทายพม่าให้ออกมาสู้รบกันข้างนอกเมืองด้วยเพราะได้ล้อมพม่าไว้เป็นเวลานาน จนใกล้จะขาดแคลนเสบียงอาหารแล้ว ชั้นเชิงในการแต่งหนังสือนั้งทำให้พม่าเสียทีหลงกลไทยเป็นเหตุให้แพ้พ่ายแก่ไทยในที่สุด เมื่อชนะแล้วก็ยังได้ส่งหนังสือเข้าไปยังเมืออังวะอีก จนเป็นเหตุให้เมืองอังวะคิดว่าเป็นแลลวงอีกคำรบหนึ่ง จึงรู้สึกขยาดและครั่นคร้ามต่อกองทัพไทยเป็นยิ่งนัก หลังจากนั้นก็มิปรากฏว่าอังวะจะกล้ายกทัพออกจากเมืองมารุกรานไทยอีกเป็นเวลานานทีเดียว

เจ้าพระโกษาธิบดี (เหล็ก) ท่านเป็นแม่ทัพไทยที่มีความช่ำชองในการศึกษา และมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญสมกับเป็นแม่ทัพใหญ่ ในเชิงพิชัยยุทธ์นั้นท่านมีความเฉลียวฉลาดและลึกซึ้งเป็นยิ่งนัก จึงกล่าวได้ว่าท่านกรำศึกษาอย่างโชกโชน คู่ราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์

พ.ศ. 2226 เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้เกิดล้มป่วยลงเนื่องจากผ่านการรบทัพจับศึกมาอย่างตรากตรำลำบากเป็นเวลานาน ซึ่งในระหว่างที่ล้มป่วยนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้บรรดาแพทย์หลวงทั้งปวงมาทำการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด ด้วยเพราะทรงรักใคร่เป็นห่วงเป็นใยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เสมือนหนึ่งดั่งพี่น้องแท้ๆ ของพระองค์

แต่ทว่าในที่สุดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็ถึงแก่อสัญกรรมท่ามกลางความโศกเศร้าเสียพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งกล่าวกันว่าทรงหลั่งน้ำพระเนตรด้วยความอาลัยรักในขุนศึกซึ่งเปรียบเป็นเสมือนพระสหายสนิท และเป็นทั้งพี่น้องที่เห็นกันมาตั้งแต่ยังพระเยาว์ (ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวว่าท่านถึงแก่อสัญกรรม เนื่องจากเมื่อมีการสร้าง ป้อมปราการ จำเป็นต้องมีการเกณฑ์แรงงานในการก่อสร้าง แต่บางคนไม่อยากทำจึงนำเงินไปให้ท่าน และท่านได้กราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระนารายณ์ว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างป้อมปราการ ท่านจึงถูกสมเด็จพระนารายณ์สั่งลงทัณฑ์โดยการเฆี่ยนจนถึงอสัญกรรม)

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงทำการฌาปนกิจศพเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) อย่างยิ่งใหญ่สมเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และหลังจากนั้นก็ได้ทรงสนับสนุนให้นายปานผู้เป็นน้องชายคนเดียวของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่แทนพี่ชายสืบต่อไป

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : Kai Sura, campus-star

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน