วันที่ 4 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการเผยแพร่ภาพบ้านหรู ที่อ้างว่าเป็นบ้านของนายทหาร บริเวณดอยสุเทพไปไม่นาน และต่อมาพล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 แถลงว่าเป็นบ้านพักของนายทหาร ที่หมู่บ้านสวัสดิการทหารบก แม่ริมเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับโครงการหมู่บ้านตุลาการที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ และแจงว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง

อ่านข่าวเก่า : ‘แม่ทัพภาค3’ รับ สร้างนานแล้ว ‘บ้านพักทหารหรู’ ติด ‘หมู่บ้านตุลาการติดดอยฯ’

ข่าวสดออนไลน์จึงอยากจะอธิบายความหมายของ “ที่ราชพัสดุ” เพื่อให้สามารถเข้าใจได้มากขึ้น

ที่ดินราชพัสดุ อธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ ทรัพย์สิน หรือสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ โดยไม่รวมสิ่งที่พลเมืองใช้ร่วมกัน มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และดูแลทั้งหมด ส่วนหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์จะไปอยู่ในกฎกระทรวง โดยมีพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 เป็นกฎหมายหลัก

พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มอบอำนาจให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกกรรมสิทธิ์ทั้งหมด หากหน่วยราชการไหนจะขออนุญาต ก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงที่ระบุไว้ และต้องใช้ไปในแนวทางที่ขออนุญาตไว้อย่างเคร่งครัดด้วย

ตามความหมายของพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ระบุว่า
ที่ราชพัสดุ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด
**เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังต่อไปนี้
(๑) ที่ดินรกร่างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
(๒) อสังหาริมทรัพย์สําหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกันเป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาป

***ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล และขององค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ

อธิบายได้ว่าเป็น พื้นที่ที่ใช้ในส่วนราชการของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่สิ่งที่พลเมืองใช้ร่วมกัน
ส่วนในทรัพย์สินที่ได้เวนคืนมา ก็ต้องพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การเวนคืนที่ดินมาทำถนน ของกรมทางหลวง แต่พื้นที่ส่วนนี้เป็นพื้นที่พลเมืองใช้ร่วมกัน เพียงแต่กรมทางหลวงเข้าไปเวนคืนมา ซึ่งจะไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ

แต่หากกรมทางหลวงเวนคืนที่ดินมาใช้ตั้งอาคารสำนักงานกรมทางหลวง ก็จะถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ เพราะถูกใช้เพื่อราชการโดยเฉพาะ

ตัวอย่างที่ราชพัสดุที่เห็นอย่างชัดเจน อาทิเช่น ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ราชพัสดุส่วนใหญ่จะถูกใช้สร้างเป็นอาคารหรือสำนักงานของส่วนราชการ โดยไม่รวมอาคารหรือสำนักงานหรืออสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ส่วนการขอใช้ของทหาร ก็ไม่ทราบว่าดำเนินการขออนุญาตอย่างไร เพราะเรื่องการใช้ประโยชน์จะเป็นไปตามกฎหมายลำดับรอง หรือกฎกระทรวง ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นฝ่ายที่ต้องทราบและรับรู้ทั้งหมด ในประเด็นนี้ก็เช่นเดียวกัน จึงเป็นข้อเท็จจริงว่า ทหารได้ไปยื่นกับกระทรวงการคลังจริงหรือไม่ แล้วยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ด้วยเหตุผลอะไร

ส่วนประเด็นเรื่องการนำมาสร้างบ้านพักอาศัย ก็ต้องเข้าใจว่าพระราชบัญญัตินี้ถูกร่างมาในช่วงที่บ้านเมืองยังไม่เจริญเท่าที่ควร โดยมีหลายครั้งที่รัฐเข้าไปจับจองพื้นที่หรือที่ดินว่างเปล่า ส่วนนั้นก็จะถูกเปลี่ยนมาเป็นที่ราชวัสดุโดยพลัน หรือหากชาวบ้านมีที่ดินแล้วบริจาคให้ใช้สร้างสถานีอนามัย ที่ส่วนนั้นก็จะถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ

“กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ทั้งหมด จะอนุญาตให้ใครใช้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ หรือประชาชนทั่วไป โดยอาจจะทำการปล่อยเช่า ในกรณีที่เป็นที่ดินว่างเปล่า โดยหน่วยราชการยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งหากอยากทราบรายละเอียดถึงกรณีเรื่องบ้านพักที่สร้างบนที่ดินราชพัสดุ ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ ก็ต้องสอบถามไปที่ “กระทรวงการคลัง” ผู้มีอำนาจในส่วนนี้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน