จากกรณีที่ นิสิตจุฬาฯ 3 คน มาชูป้าย ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ) โดยขีดกากบาทที่คำว่าลุงตู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีได้มาเข้ามากันนักศึกษากลุ่มดังกล่าวและพยายามยื้อแย่งเพื่อเก็บกระดาษข้อความ สุดท้ายป้ายข้อความดังกล่าวขาด ซึ่งเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เห็นเหตุการณ์ ได้สะกดอารมณ์ พร้อมหันไปพูดกับกลุ่มนิสิต และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่า “ปล่อยเขาไปเถอะ อย่าทำร้ายเขาเลย หากเขาไม่เข้าใจก็ปล่อยไป” พร้อมกล่าวย้ำว่า “ปล่อยเขาเถอะ ปล่อยเขาไป ไปเถอะนะ คนเก่ง เยี่ยม เก่งมาก หากประเทศเสียหายก็ออกมาด้วยนะ” ก่อนเดินขึ้นรถกลับทำเนียบรัฐบาลทันที (อ่านข่าวได้ที่นี่)

ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์เปิดใจ วศินี พบูประภาพ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ นศ.ที่ชูป้าย โดยวศินี กล่าวว่า

ตนได้ทำในสิ่งที่อยากทำ นั่นคือแสดงจุดยืนของเรา อย่างน้อยก็เป็นเสียงที่คนไม่คาดคิดว่าจุฬาฯก็มีเสียงแบบนี้ด้วย”

วศินี กล่าวอีกว่า ตามจริงแล้วในกลุ่มที่ไปชูป้ายวันนี้มีทั้งหมด4คน มาจาก4คณะ แต่ในคลิปที่เห็นในข่าวเห็นแค่ 3 คนเท่านั้น ส่วนประเด็นที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามากระชากกระดาษจากมือของตนนั้น ตนคิดว่าอาจจะเป๋็นเพราะพวกตนเข้ามาทางด้านหลัง การ์ดเห็นชูป้าย จึงรีบกระชากลงจนขาดตามสัญชาติญาณ แต่ไม่มีการทำร้ายหรือถูกตัวแต่อย่างใด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกน้อยใจหรือไม่ที่มีนิสิตแสดงจุดยืนเพียงแค่4คน วศินีตอบว่า “ไม่ค่ะ ถ้าถามแบบนี้ เนติวิทย์ไม่น้อยใจหรอคะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่า แต่ละคนมีเงื่อนไขต่างกัน แค่เค้าเชื่อ แค่เค้าสนับสนุนเรา ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็ดีมากๆแล้ว ตอนนี้ก็มีแต่คนทักมา บอกว่าเอาใจช่วยนะ เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเค้ามีจุดยืนแบบเรา”

ทั้งนี้ วศินีกล่าวเสริมว่า ตนเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ควรจะตื่นตัวทางการเมืองมากกว่านี้ โดยอาจจะแสดงออกเป็นปัจเจกชนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และเชื่อว่านิสิตหลายคนอยากแสดงความคิดเห็นออกมา แต่ไม่มีโอกาสเท่านั้นเอง “หลายคนอยากมีโอกาสได้แสดงออก แต่ไม่มีโอกาส ในเมื่อโอกาสมาถึงเราแล้ว ก็เอาซะหน่อย” วศินีกล่าวปิดท้าย

ด้าน ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ ได้เปิดใจผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “การแสดงออกของพวกเราในวันนี้ ต้องการจะส่งสัญญาณว่าเราไม่เห็นด้วยที่ผู้บริหารของจุฬาฯ ตัดสินใจก้มหัวให้เผด็จการทหารเพียงเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เพื่อต้องการจะบอกกับสังคมว่าไม่ใช่ทุกคนในจุฬาฯ ที่เห็นด้วยกับการตัดสินใจดังกล่าวของผู้บริหารจุฬาฯ เราไม่เห็นด้วยที่ผู้บริหารของจุฬาฯ กำลังประทับตรารับรองความชอบธรรมให้กับรัฐบาลซึ่งมีที่มาอย่างไม่ถูกต้องในทุกมิติรัฐบาลที่กดขี่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนอยู่ตลอดเวลา รัฐบาลที่โดยเปรียบเทียบแล้วได้ช่วยเหลือคนที่ร่ำรวยที่สุดที่มีสัดส่วนเพียง 1% ในสังคม แต่ทอดทิ้งคนในสังคมอีก 99% ไว้ข้างหลัง จุฬาฯ ไม่อาจเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” ได้เลย หากจุฬาฯ ยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลที่กดขี่พลเมืองของประเทศนี้อย่างต่อเนื่องตลอด4ปีที่ผ่านมา








Advertisement

การแสดงออกในวันนี้ยังเป็นการแสดงออกว่าเราไม่พึงพอใจต่อการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อนิสิตบางกลุ่ม บางคน เห็นได้จากแทนที่มหาวิทยาลัยจะช่วยปกป้องสิทธิและเสรีภาพของนิสิตในรั้วมหาวิทยาลัย กลับส่งเสริมให้ตำรวจ ทหาร และผู้มีอำนาจ ใช้อำนาจของตนที่มีกดขี่สิทธิและเสรีภาพของนิสิตจุฬาฯ ถึงในรั้วมหาวิทยาลัย และเรายังต้องการแสดงออกว่าเราไม่พึงพอใจที่ผู้บริหารของจุฬาฯ ใช้คะแนนกิจกรรมหอพัก เอาความด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจของนิสิตหอพัก มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้เผด็จการในครั้งนี้อีกด้วย

“ชาวจุฬาฯ รักเผด็จการ” จึงเป็นข้อความที่ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม และเราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในใจผู้บริหารของจุฬาฯ บางท่านอยู่แล้ว เป็นการแสดงออกถึงท่าทีและจุดยืนขององค์กรให้ชัดเจน ไม่ต้องเหนียมอายทำมาเป็นจัดงานปาฐกถาที่เนื้อหาของประยุทธ์กลวงจนแทบจะจับหาสาระไม่ได้เช่นนี้ แล้วนำมาเชิดชูว่าเป็นปาฐกถาที่สุดยอด รัฐบาลชุดนี้มีนโยบายสนับสนุนนวัตกรรม ซึ่งตรงกับเป้าหมายของจุฬาฯ แต่เนื้อแท้ คือ การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องในการใช้องค์กรมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของพวกคุณ การบอกไปตรงๆ เลยว่าชาวจุฬาฯ รักเผด็จการ จึงเป็นคำที่ทั้งตรงและสื่อการกระทำของผู้บริหารของจุฬาฯ ในวันนี้ได้เป็นอย่างดี

ท้ายที่สุดนี้ เรายังคงหวังลึกๆ อยู่ในใจว่าผู้บริหารของจุฬาฯ จะยอมทบทวนบทบาทการเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” ของสถาบันนี้ และนำพามหาวิทยาลัยให้กลับมาเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นแหล่งส่งเสริมเสรีภาพทางความคิดและวิชาการ เป็นสถาบันทางการศึกษา มิใช่สถานที่แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือการทำธุรกิจค้าหากำไรใดๆ ทั้งสิ้น”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน