เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 เม.ย. ที่ห้องประชุมน.ส.พ.ข่าวสด บริษัท ข่าวสด จำกัด จัดงาน “บุพเพฯ เสวนา ปรากฏการณ์ออเจ้า กับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์” โดยมีนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการบริษัทมติชน น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการ สายการตลาดบริษัทมติชน นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวสด ร่วมต้อนรับวิทยากร ได้แก่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ศาสตราจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศงานเป็นไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนทั่วไปและนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินจากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมงานเสวนากว่า 250 คน โดยผู้จัดเตรียมผู้ดำเนินรายการภาษามือไว้สำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน และถ่ายทอดการเสวนาผ่านข่าวสดเฟซบุ๊กไลฟ์ มีผู้ติดตามล้นหลาม ประชาชนที่เข้าร่วมเสวนาบางส่วนแต่งชุดสวมใส่ผ้าไทยเข้าร่วมงานพร้อมถ่ายรูปมุมต่างๆ ที่จัดไว้ โดยมีน้องนุ่น กนกวรรณ วันจันทร์ ศิลปินจากสถาบันดนตรีคนตาบอด ผู้ขับร้องขับร้องเพลงจันทร์ ในละครบุพเพสันนิวาส มาขับกล่อมสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงาน

ภายในงานมีการจำหน่ายหนังสือเรียนรู้ประวัติศาสตร์ จากสำนักพิมพ์มติชน และสำนักพิมพ์พันธมิตรในราคาพิเศษ รวมถึงนวนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาส โดยรอมแพง ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานที่ต้องการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ สมุยกรุงศรีอยุธยา ภายหลังการรับชมละครฮอตฮิตบุพเพสันนิวาส นอกจากนี้ยังจำหน่ายเข็มกลัดเพื่อบริจาคเป็นทุนในการนำน้องๆ นักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ไปทัศนศึกษาเรียนรู้ยังโบราณสถานตามรอยละครบุพเพสันนิวาส ร่วมด้วยการลิ้มลองขนมไทย อาทิ ทองหยิบ ทองหยอด ซึ่งจัดไว้เป็นอาหารว่างแก่ผู้ร่วมงาน

เวลา 13.30 น. นายวิษณุ เครืองาม กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “สยามวิถีและความศิวิไลซ์ในสมัยพระนารายณ์” ว่า ตนเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รับสั่งว่าประเทศก็เหมือนคน เมื่อชีวิตหนึ่งหมดไปก็จะมีชีวิตหนึ่งมาแทนที่ ประเทศก็จะมีคนมาแทนที่สืบทอดไปอีกหลายชั่วอายุคน

นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มีพระราชเสาวนีย์ว่าประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องที่คนไทยควรเรียนรู้และเข้าใจ เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจจึงศึกษาประวัติศาสตร์ ตนถือว่าการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ในยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถูกเรียกขานว่าเป็นยุคทองพระนารายณ์ หรือยุคทองของอยุธยา

“ลักษณะเด่นยุคสมเด็จพระนารายณ์ คือ 1.เป็นยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการรัฐประหาร ปฏิวัติ 2.มีสงครามเกิดขึ้น 3.ยุคทองของศิลปะวัฒนธรรม 4.ยุคที่ชาวต่างประเทศมาคบค้าสมาคมกับอยุธยาอย่างเปิดกว้าง เนื่องจากหลังจากยุคพระนารายณ์แล้วก็เว้นช่วงระยะไปยาวนานมากกว่าฝรั่งจะสามารถเข้ามาในประเทศไทยเพื่อคบค้าสมาคมกันอย่างกว้างขว้างเหมือนเดิมได้ มีการกีดกันถึงขั้นมีกฎหมายห้ามคนไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติ สิ่งที่โดดเด่นคือพระนารายณ์ทรงมีความพยายามที่จะส่งคณะราชทูตไปฝรั่งเศสเพื่อเชื่อสัมพันธไมตรีถึงสามคณะ เรายื่นพระราชสาส์นต่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สำเร็จในคณะที่สาม เพราะคณะแรกที่ส่งไปหายสาบสูญ คาดกันว่าเกิดเรือล่ม จึงส่งคณะที่สองไปสืบข่าว และต่อมาก็ส่งคณะที่สามซึ่งเป็นคณะทูตของคุณพี่เดช หรือขุนศรีวิสารวาจา ในละครบุพเพสันนิวาส ไปยื่นพระราชสาส์นสำเร็จ ถือเป็นเรื่องที่ต่างชาติได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น เรื่องการเมืองภายในต่างๆ ในยุคนั้นไม่มีใครสนใจประเทศไทย แต่เรื่องยื่นพระราชสาสน์เป็นที่รู้กันทั่วทั้งประเทศฝรั่งเศสและยุโรป” นายวิษณุกล่าว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ก่อนสมเด็จพระนารายณ์จะได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงปฏิวัติรัฐประหารถึงสองครั้ง จากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย และสมเด็จอาของพระองค์เอง และตอนลงจากบัลลังก์ก็โดนปฏิวัติรัฐประหาร จึงถือว่าการปฏิวัติรัฐประหารเป็นสยามวิถีในขณะนั้น โดยกษัตริย์มักจะโดนปฏิวัติด้วยประโยคที่ว่าไม่ดำรงอยู่ในทศพิศราชธรรม แต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่ได้โดนปฏิวัติด้วยคำนี้แต่อย่างใด

นอกจากเรื่องรัฐประหาร เรื่องการติดต่อกับต่างชาติที่โดดเด่น เรื่องวรรณคดีก็ถือว่าโดดเด่นมาก เพราะมีทั้งหนังสือที่สมเด็จพระนารายณ์พระราชนิพนธ์ด้วยพระองค์เอง และเป็นยุคที่มีศรีปราชญ์ ซึ่งยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ เมื่อละครเรื่องนี้จบลงไม่อยากให้เปรากฏการณ์แต่งชุดไทยและการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยจบลงไปด้วย ต้องคิดกันต่อไปว่าจะทำอย่างไร เมื่อคนอยากรู้ประวัติศาสตร์ ได้เรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง จะนำไปสู่การพัฒนาต่อไป

ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวเสวนาในหัวข้อ “บุพเพสันนิวาสกับการขับเคลื่อนพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ว่า ก่อนหน้านี้เรามีงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ที่ทำให้คนอยากกลับมาแต่งชุดไทย ต่อมาก็มีละครบุพเพสันนิวาส คนก็กลับมามีความสุขที่ได้แต่งชุดไทย และต่อมาก็มีเทศกาลสงกรานต์ ทำให้คนกลับมาสนใจความเป็นไทยกันอย่างชัดเจน ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้ปรากฏการณ์คงอยู่นานกว่านี้ ที่เกาหลีคิดเรื่องเหล่านี้มาเป็นโครงสร้าง ไม่มีทางที่ละครจะอยู่ไปนานได้ เกาหลีจึงเรียนรู้ประเด็นนี้ ไทยเราเองเรียกร้องให้มีกระแสอย่างเช่นซีรี่ส์แดจังกึมมานานมากแล้ว เพียงแต่เราอาจจะยังลงทุนกับเรื่องเหล่านี้น้อยเกินไป ที่สำคัญต้องทำระยะยาว

“อยากให้ใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ ทำให้กระแสคงอยู่ต่อไป เช่นการท่องเที่ยว การอยากรู้ประวัติศาสตร์ ทำให้กระแสดำเนินต่อไปได้อีก หากแต่งไทยแต่ไม่อยากรู้ประวัติศาสตร์ไทยจะทำให้กระแสดำเนินต่อไปได้ไม่นาน มีการกระตุ้นให้คนไทยออกไปเที่ยวไทย เพื่อเข้าใจประเทศของตัวเองมากขึ้น หลังจากนั้นนอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วเรายังรู้จักและเข้าใจในประเทศตัวเองมากขึ้น เข้าใจประวัติศาสตร์พื้นถิ่นมากขึ้น การท่องที่ยวเป็นเครื่องมือที่ทำให้รู้จักประเทศเรามากขึ้น ได้เรียนรู้สังคม ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากที่เราอยู่ ผมมองว่าเป็นไปได้ที่จะส่งออกละครไทย วัฒนธรรมไทยไปสู่ต่างประเทศ เพราะก่อนหน้านี้เราส่งออกละครไทยอยู่แล้ว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และจีน สนใจละครไทยมากอยู่แล้ว” รมว.การท่องเที่ยวฯกล่าว

จากนั้นเวลา 15.15 น. มีการเสวนา “ปรากฎการณ์ออเจ้ากับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์” โดย ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ และ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

ศ.ดร.สุเนตร กล่าวว่า ละครบุพเพสันนิวาสฟื้นประวัติศาสตร์ชาติภายใต้กรอบประวัติศาสตร์ แต่ภาพที่คุ้นตาคือการรักษาชาติบ้านเมือง การเสียกรุงฯ ละครเรื่องอื่นมีการบอกเล่าเรื่องการทำสงครามรักษาเมืองซึ่งต่างชาติไม่เข้าใจเพราะยากเกินไป แต่ละครเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องต่างๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการรักษาเมืองด้วย จึงทำให้คนรู้สึกว่าใกล้เคียงปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าละครไม่มีเรื่องการเมือง แต่มีเรื่องการเมืองทั้งเรื่อง ทั้งการรักษาประเทศชาติ เรื่องศักดินาไพร่ มีการเมืองการรักษาประเทศชาติสอดแทรกอยู่ทั้งเรื่อง แต่ใส่ไว้อย่างแนบเนียนมากทำให้ละครไม่น่าเบื่อ

อีกทั้งการะเกดเป็นตัวละครที่แตกต่างจากที่เคยมีมา การะเกดเป็นตัวแทนคนยุคปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าคุณค่าความดีงามของแต่ละยุคต่างกัน การะเกดไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวตนเพื่ออดีต แต่แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันดีงามอย่างไร ทั้งเรื่องความเท่าเทียมกัน ถ่ายทอดในสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบันให้คนในยุคอดีตได้เห็น

“เรามักห่วงกันว่ากระแสนิยมไทยจะตก ต้องบอกว่าตกแน่ไม่ต้องห่วง เพราะกระแสเป็นเรื่องไม่ยั่งยืน อยู่ที่ว่าเราจะหากิจกรรมอะไรมาต่อลมหายใจไปได้อีกนานเท่าไหร่ เรื่องละครบุพเพฯเป็นอุบัติเหตุ เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้น ตั้งรับทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่ซีรี่ส์แดจังกึมเป็นเรื่องที่เกาหลีตั้งใจ วางรากฐานมานานก่อนเกิดเป็นละคร มีการรีเสิร์ช เชื่อมโยงทั้งการศึกษา วัฒนธรรม ภาควิชาการ เพราะเป้าหมายคือส่งออกวัฒนธรรม เชื่อว่าคุณรอมแพงต้องศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ต่างๆ ด้วยตัวเองเป็นปกติ แต่จะเป็นเรื่องดีหากมีการวางรากฐานไว้แล้ว เราแค่เข้าไปศึกษา ที่สำคัญคือการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่เกาหลีเองมีทุนสนับสนุนตั้งแต่เริ่มเขียนบท เราควรนำมิติประวัติศาสตร์ วัฒธรรมของไทยเรามาฉายแสง เทียบกับเกาหลีแล้ว การแต่งตัว อาหาร วัฒนธรรมต่างๆ เราเองก็มีไม่แพ้กัน แต่เป็นทุนซ่อนเร้นที่เรามีอยู่ ที่เรียกทุนซ่อนเร้นเพราะไม่เคยได้รับความสนใจ สิ่งที่ต้องทำคือวางรากฐากให้มั่นคง เพื่อเลือกส่งออกไป จัดระบบให้มั่นคงแน่นหนา โดยไม่ต้องกลัวว่ามันจะหมดกระแสไป เพราะเรามีพร้อมอยู่แล้ว เมื่อตรงนี้หมดก็หยิบตรงอื่นส่งออกไป” ศ.ดร.สุเนตรกล่าว

ด้าน ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า บุพเพสันนิวาสเป็นละครที่มีความเป็นมนุษย์อยู่สูง มีการเสนอเรื่องการมีระดูทำอย่างไร ผู้หญิงยุคนั้นจะอาบน้ำทำอย่างไร อาหารทำอย่างไร ละเมียดละไมขนาดไหน เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราก็อยากรู้ รวมถึงเรื่องการเป็นอยู่ของทาสของไพร่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นคำถามที่เรามีเมื่อดูละครประวัติศาสตร์แต่ไม่เคยได้รับคำตอบ กระทั่งละครเรื่องนี้นำออกมาบอกเล่าได้อย่างน่าสนใจ อีกทั้งสมัยนี้เรามีโซเซียลฯ ตอนพักโฆษณามีการโพสต์บอกเล่ากันทันที สมัยก่อนกว่าจะได้พูดคุยกับคนอื่น ส่งกระแสบอกต่อก็วันรุ่งขึ้นที่เจอคนอื่นๆ รวมทั้งจังหวะเวลาที่เกิดขึ้นซึ่งก่อนหน้านี้มีงานอุ่นไอรักฯ ที่ประชาชนสนุกกับการแต่งชุดไทยไปร่วมงาน เมื่อมีละครเรื่องนี้มาต่อกระแสจึงยิ่งดีขึ้นไปอีก

“เราอาจจะต้องเปลี่ยนการศึกษาไทย ยกเครื่องหลักสูตรประวัติศาสตร์ต่างๆ ในหนังสือเรียน วางพื้นฐานให้แน่น ต่อยอดได้ต่อไปอีก มีวิธีนำเสนอการเรียนที่ไม่น่าเบื่อต่างจากเดิม ให้เด็กอยากเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์เพื่อรู้จักตัวเอง ไม่ใช่เพื่อคะแนน” ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าว

นางสาลินี ชุ่มวรรณ ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ซึ่งเข้าร่วมงาน กล่าวว่า หากต้องศึกษาประวัติศาสตร์เองอาจต้องใช้เวลามากพอสมควร การมาฟังเสวนาในวันนี้เท่ากับย่นเวลาในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ดีมาก โดยเฉพาะการนำผู้บรรยายทั้ง 3 มาแลกเปลี่ยนเสวนาในงานเดียวกันได้ ถือว่าเป็นโอกาสที่หายากมาก ได้ความรู้ประวัติศาสตร์รวมถึงเรื่องราวในมุมอื่นๆ มากมาย มีเกร็ดความรู้ในมุมมองที่แตกต่างและลำดับเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ชัดเจน โดยเฉพาะวิธีการเล่าที่สนุก ชวนติดตาม ซื้อหนังสือที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในงานด้วย รู้สึกดีที่เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้

ด้านนายสมบัติ ชุ่มวรรณ อาชีพรับจ้าง กล่าวว่า “เป็นโอกาสดีที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บรรยายทั้ง 3 ที่มาแลกเปลี่ยนและเปิดมุมมองน่าสนใจ ละครบุพเพสันนิวาสทำให้คนไทยหันมาตระหนักมองย้อนไปในอดีตว่าปู่ย่าตายยายของเรามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และเราสืบต่อวัฒนธรรมกันมาอย่างไร เช่นคำว่า “ออเจ้า” ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเราเคยใช้อยู่ในประวัติศาสตร์ รวมถึงการเชื่อมต่อคนในอดีตกับความคิดของคนยุคปัจจุบันจนเกิดเป็นกระแสอนุรักษ์ขึ้นมากมาย ถือเป็นจุดเริ่มต้นการส่งออกทางวัฒนธรรมไปสู่สากลให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและขยายไปสู่ด้านอื่นๆ ได้ เช่นการท่องเที่ยว หากมีงานเสวนาที่มีประโยชน์แบบนี้อีกอยากจะเข้าร่วม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน